นานาสาระผ้าจกไท-ยวน (4) ผ้าจกไท-ยวน แม่แจ่ม เชียงใหม่

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
13/08/2008
ที่มา: 
พิพิธภัณฑ์ผ้า มหาวิทยาลัยนเรศวร http://www.thaitextilemuseum.com

ผ้าจกไท-ยวน แม่แจ่ม เชียงใหม่

การแต่งกายของชาวไท-ยวน ในอดีตที่ผู้ชายนิยมสับหมึกหรือสักยันต์ นุ่งผ้าต้อย จนกระทั่งได้มีการเปลี่ยนแปลงมาเป็นการนุ่งกางเกงแบบเตี๋ยวสะดอ  สวมเสื้อผ่าอก ติดกระดุม และได้ปรับเปลี่ยนตามยุคสมัยจนถึงปัจจุบัน

ขณะที่การแต่งกายของผู้หญิงไท-ยวน ที่นิยมนุ่งซิ่นลายขวาง เปลือยอก หรือห่มสไบ เวลาออกไปนอกบ้าน การนุ่งผ้าซิ่นตีนจกเวลามีงานสำคัญต่างๆ จากที่กล่าวมาแล้วนั้น การแต่งกายของชาวแม่แจ่มยังคงหลงเหลืออยู่ให้เห็น ภาพของผู้หญิงนุ่ง ซิ่นตีนจก เกล้ามวยสูง  เสียบดอกไม้บูชาหัว หรือภาพผู้ชายมีลายสักตั้งแต่สะโพกจนจรดหัวเข่า ยังสามารถพบเห็นได้ในชีวิตประจำวันของชาวแม่แจ่มในปัจจุบันนี้

ลวดลายจกในซิ่นตีนจก แม่แจ่ม

ลวดลายผ้าซิ่นตีนจกของแม่แจ่มจะมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวและมีความหมายในตัวเอง ซึ่งแบ่งได้เป็น 2 ลักษณะใหญ่ๆคือ                       

 1. ซิ่นตีนจกแบบลายโคม 

 
มีส่วนสำคัญอยู่ใน“โคม” (รูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนที่อยู่ตรงกลางของลวดลาย) และ “ขัน” (รูปสามเหลี่ยมบนและล่างระหว่างโคมแต่ละอัน) มี“ห้องนก” ซึ่งจะเป็นลายตัวนกน้ำต้นและขอไล่หรือตัวนาคเรียงรายเป็นแถวประกอบอยู่ด้านบนและล่างของโคมและขัน ต่อด้วยหางสะเปาที่อยู่ด้านล่างสุด ต่อกับผ้าพื้นแดง ซึ่งเป็นเชิงของซิ่นตีนจก

นักวิชาการต่างๆ ได้วิเคาระห์ลวดลายเหล่านี้ว่าเป็นสัญลักษณ์สำคัญที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อในพุทธศาสนา และระบบจักรวาล กล่าวคือ ลวดลายโคม ถูกตีความว่าเป็นเขาพระสุเมรุ มีหงส์ซึ่งเป็นสัตว์บนสวรรค์เกาะอยู่ยนยอด ภาพนาคนก และสัตว์ต่างๆ ที่เป็นส่วนประกอบภายนอกโคมนั้นคือสัตว์ที่อาศัยอยู่ในทะเลสีทันดรล้อมรอบเขาพระสุเมรุ

            หางสะเปา (สำเภา) ซึ่งเป็นขีดยาวด้านล่างของตีนซิ่นมาจากความเชื่อพื้นฐานของชาวเอเชียที่ว่าหากทำบุญมาก เมื่อตายแล้วด้วงวิญญาณจะได้นั่งสำเภาลอยขี้นสวรรค์

            สีแดง ซึ่งเป็นสีของตีนจก คือช่วงขณะแห่งรอยต่อระหว่างกลางวันกับกลางคืนระหว่างโลกหนึ่งกับอีกโลกหนึ่งเป็นการสะท้อนแสงสียามอาทิตย์ลับฟ้าซึ่งเปล่งประกายเป็นลำแสงสีแดงแกมม่วง

2. ซิ่นตีนจกแบบลายกุม

เป็นลักษณะพิเศษของซิ่นตีนจกแม่แจ่มที่แตกต่างจากที่อื่น คือไม่มีองค์ประกอบของโคมและขัน รวมทั้งห้องนก แต่จะมีลวดลายหลักลายเดียวเรียงหรือชิดติดกันเป็นกลุ่มเป็นหมู่ เรียกว่า “กุม” ตลอดผืนจกแล้วต่อด้วยหางสะเปาบนเชิงซิ่นสีแดงด้านล่างสุด ลวดลายที่ใช้เป็นลายกุม ได้แก่ ลายนาคกุม ลายนกกุมเป็นต้น

(ยังเหลือผ้าจกไท-ยวน เสาไห้สระบุรี งามๆอีก คลิกเลย)

ต้นฉบับ : http://www.thaitextilemuseum.com/HOME/jok/jok1/jok2/jok3/jok3.html