วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
04/01/2009
ที่มา: 
ประเพณีไทยดอทคอม http://www.prapayneethai.com

เมืองโบราณจันเสน

ภาค     ภาคเหนือ
จังหวัด  นครสวรรค์

  • สถานที่ตั้ง หมู่ที่ ๒ ตำบลจันเสน อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์
  • ประวัติความเป็นมา

เป็นเมืองที่อยู่ในสมัยทวาราวดี จากโบราณวัตถุที่พบ เช่น การพบพระพิมพ์ดินเผา ลูกปัด ซึ่งมีลักษณะเหมือนกับที่เมืองคูบัว จังหวัดราชบุรี จึงสันนิษฐานว่าอยู่ในสมัยทวาราวดี

  • ลักษณะทั่วไป

บริเวณเมืองโบราณจันเสนเป็นรูปสี่เหลี่ยม แต่มีมุมทั้งสี่เป็นรูปมนจนเกือบเป็นรูปกลมล้อมรอบด้วยคูเมือง ซึ่งกว้างประมาณ ๒๐ เมตร ปัจจุบันมีสภาพเป็นที่ลุ่มมีน้ำขัง แต่ยังมีร่องรอยคูเมืองเห็นได้อย่างชัดเจนมีความยาวประมาณ ๘๐๐ เมตร ความกว้างประมาณ ๗๐๐ เมตร คิดเป็นเนื้อที่ประมาณ ๓๐๐ ไร่เศษ และเนื่องจากบริเวณภายในคูเมืองมีลักษณะเป็นเนินสูงกว่าพื้นที่รอบนอกคู เมือง จึงเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า โคกจันเสน

  • หลักฐานที่พบ

พบโบราณวัตถุหลายอย่าง ได้แก่
ประเภทที่ทำด้วยดินเผา เช่น พระพิมพ์ ดวงตรา ตุ๊กตา ดินเผาเป็นรูปต่าง ๆ
ประเภทที่ทำด้วยหิน เช่น ฐานบัว ธรรมจักร ขวานหินขัด
ประเภทที่ทำด้วยโลหะ เช่น ตุ้มหูทำด้วยตะกั่วหรือดีบุก ใบหอกเหล็ก
ประเภทที่ทำด้วยสำริด เช่น พระโพธิสัตว์สำริดยืน

  • เส้นทางเข้าสู่แหล่งโบราณคดีจันเสน

ห่างจากตัวจังหวัดนครสวรรค์ไปทางทิศใต้ ประมาณ ๙๕ กิโลเมตร ห่างจากอำเภอตาคลี ๙ กิโลเมตรโดยทางรถยนต์ตามถนนหมายเลข ๓๑๙๖ สายลพบุรี-ตาคลี ซึ่งสามารถไปเชื่อมต่อกับถนนหมายเลข ๑๑สายอินทร์บุรี-วังทองและถนนหมายเลข ๓๒ สายเอเชียได้ และมีรถไฟผ่านสถานีจันเสนอีกทางหนึ่ง