แหล่งโบราณคดีภาคเหนือ - แหล่งโบราณคดีบ้านเตาไห (บ้านตาปะขาวหาย)

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
05/01/2009
ที่มา: 
ประเพณีไทยดอทคอม http://www.prapayneethai.com

แหล่งโบราณคดีบ้านเตาไห (บ้านตาปะขาวหาย)

ภาค     ภาคเหนือ
จังหวัด  พิษณุโลก

  • สถานที่ตั้ง ตำบลหัวรอ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก

  • ประวัติความเป็นมา

หลักฐานจากเอกสารกล่าวว่า พื้นที่บ้านเตาไห เป็นแหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผาประเภทไห จึงเรียกว่าบ้านเตาไห แต่ตำนานพื้นบ้านกล่าวว่า พระอินทร์จำแลงกายเป็นชีปะขาวลงมาสร้างพระพุทธชินราช เมื่อเสร็จแล้วเดินขึ้นไปทางเหนือแล้วหายตัวไปในบริเวณบ้านเตาไห หรือบ้านตาปะขาวหาย

  • ลักษณะทั่วไป

เป็นชุมชนโบราณตั้งอยู่สองฟากฝั่งแม่น้ำน่าน แต่เดิมมีวัดโบราณหลายแห่ง แต่ถูกทำลายจนหมดสิ้นเพราะเป็นเมืองที่ตั้งอยู่ใกล้ตัวเมืองพิษณุโลก

  • หลักฐานที่พบ

 

ได้สำรวจพบหลักฐานทางโบราณคดีที่บ้านเตาไห ดังนี้
๑. วัดโบราณ มีชื่อว่า วัดตาปะขาวหาย เดิมชื่อวัดเตาไห พบหลักฐานที่หลงเหลืออยู่ คือ
๑.๑ วิหาร ตั้งอยู่ด้านทิศเหนือของวัด ใช้เป็นที่เก็บโบราณวัตถุและมีพระสงฆ์จำวัดอยู่ ทั้งวิหารและพระพุทธรูปองค์ประธาน เป็นสถาปัตยกรรมสมัยอยุธยา
๑.๒ หอสวดมนต์ ตั้งอยู่ด้านทิศตะวันตกเป็นอาคารไม้สักหลังคามุงกระเบื้อง มีสภาพชำรุด ทรุดโทรมเป็นศิลปะสมัยอยุธยาตอนปลาย หรือ รัตนโกสินทร์ตอนต้น
๑.๓ มณฑป ตั้งอยู่ตรงประตูด้านหน้าทางเข้าวัดเดิมเป็นมณฑปไม้ เป็นศิลปะสมัยอยุธยาตอนปลายสภาพชำรุดแตกหัก มีการปฏิสังขรณ์หลายครั้ง ปัจจุบันยอดมณฑปหักตกลงมาทางวัดได้ย้ายรอยพระพุทธบาทในมณฑปออกไปประดิษฐานใน อาคารชั่วคราว
๒. เตาเผาโบราณ บริเวณริมฝั่งแม่น้ำน่านพบเตาเผาโบราณอยู่ใต้ดินประมาณ ๑๐๐ เตา และในปีพ.ศ. ๒๕๒๗ มีการขุดค้นทางโบราณคดีและได้ทำการขุดแต่งเตาเผาโบราณ ๑ เตา โดยหน่วยศิลปากรที่ ๓ได้จัดทำหลังคากันแดดและฝนไว้

  • เส้นทางเข้าสู่แหล่งโบราณคดีบ้านเตาไห

อยู่เหนือวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดพิษณุโลก ไปทางทิศเหนือประมาณ ๓ กิโลเมตรตามเส้นทางหลวงสายพิษณุโลก-ตำบลหัวรอ ถึงทางสามแยกเลี้ยวซ้ายถึงพื้นที่แหล่งโบราณคดีบ้านเตาไห