วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
05/01/2009
ที่มา: 
ประเพณีไทยดอทคอม http://www.prapayneethai.com

เมืองเขลางค์นคร

ภาค     ภาคเหนือ
จังหวัด  ลำปาง

  • สถานที่ตั้ง เมืองเขลางค์นครรุ่น ๑ และรุ่น ๒ ตั้งอยู่ตำบลเวียงเหนือ เมืองเขลางค์รุ่น ๓ ตั้งอยู่ในเขตตำบลหัวเวียง อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง ทั้ง ๓ เมือง ปัจจุบันอยู่ในเขตเทศบาลนครลำปาง
  • ประวัติความเป็นมา

เมืองเขลางค์นครรุ่น ๑ สร้างประมาณ พ.ศ. ๑๒๒๓ โดยสุพรหมฤาษีและพรานเขลางค์ เพื่อเป็นราชธานีของเจ้าอนันยศโอรสของพระนางจามเทวี แห่งหริภุญชัย

เมืองเขลางค์นครรุ่น ๒ สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๑๘๔๔ โดยขุนไชยเสนา ซึ่งเป็นเจ้าผู้ครองลำปางที่ได้รับแต่งตั้งจากกษัตริย์มังรายแห่งเชียงใหม่ ภายหลังที่กองทัพเชียงใหม่ยกทัพมาตี พระยายี่บากษัตริย์แห่งหริภุญชัย ซึ่งได้หนีมาประทับที่เมืองเขลางค์รุ่นที่ ๑ เมื่อตีได้แล้วได้แต่งตั้งให้ขุนไชยเสนา ปกครองเมืองเขลางค์ ขุนไชยเสนาได้ทิ้งเมืองเขลางค์เก่ารุ่น ๑ และได้สร้างเมืองเขลางค์ใหม่ขึ้นทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองเขลางค์เก่า เมืองนี้มีพื้นที่ประมาณ ๒๐๐ ไร่

เมืองเขลางค์รุ่น ๓ สร้างขึ้นประมาณ พ.ศ. ๒๓๓๐ - ๒๓๓๗ ในสมัยเจ้าคำโสม เจ้าผู้ครองนครองค์ที่ ๒ ต่อจากพระเจ้ากาวิละ เหตุผลของการสร้างเมืองขึ้นใหม่บนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำวัง สืบเนื่องมาจากในสมัยของเจ้ากาวิละ เจ้าผู้ครององค์ที่ ๑ ได้ทำศึกสงครามใหญ่ป้องกันเมืองจากการที่พม่ายกกำลังมารุกรานถึง ๒ ครั้ง ต่อเนื่องกัน ทำให้กำแพงเมือง ป้อมประการ ประตูเมือง ของเมืองรุ่น ๑ และรุ่น ๒ เสียหายเป็นอย่างมาก ประกอบกับเจ้ากาวิละได้มีการรวบรวมไพร่พลจากเมืองอื่น ๆ มาไว้ที่เมืองเขลางค์เป็นจำนวนมากเพื่อเป็นกำลังหลักในการสงครามกับพม่า จึงมีความจำเป็นที่จะต้องขยายเมืองออกไปทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำวังขึ้นอีก แห่งหนึ่ง เป็นเมืองเขลางค์นครรุ่นที่ ๓ มีพื้นที่ประมาณ ๓๓๐ ไร่

  • ลักษณะทั่วไป

เมืองเขลางค์รุ่นที่ ๑ สร้างบนที่เนินบนฝั่งตะวันตกของคุ้งแม่น้ำวัง รูปทรงของเมืองเป็นรูปหอยสังข์ มีพื้นที่ของเมืองแบ่งออกเป็น ๔ ส่วน คือ
๑. พื้นที่ส่วนหัวของเมือง เป็นพื้นที่ที่ใช้ประโยชน์ด้านกิจกรรมทางศาสนา โดยมีวัดพระแก้วดอนเต้าเป็นศูนย์กลาง และยังเป็นพื้นที่ที่ใช้เตรียมพร้อมด้านการทหารด้วย โดยมีประตูม้าเป็นประตูชัยของเมือง
๒. พื้นที่ตอนกลางของเมือง อยู่ถัดจากส่วนบนลงมา พื้นที่ตอนกลางฝั่งตะวันออกเป็นย่านที่อยู่อาศัยของเจ้าผู้ครองนครและเครือ ญาติอยู่ทางด้านใต้ของวัดพระแก้วลงมา พื้นที่ตอนกลางฝั่งตะวันตกเป็นพื้นที่ว่างเรียกว่า ข่วงเมือง หรือสนามหลวงของเมือง เป็นที่ชุมนุมกองคาราวานสินค้าต่าง ๆ เป็นลานประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ของเมือง เป็นที่ฌาปนกิจสำหรับเจ้าเมือง พระเถระชั้นผู้ใหญ่ เป็นที่รวมพลของทหารก่อนออกศึก เป็นลานพักผ่อนสำหรับชาวเมือง มีวัดหัวข่วงเป็นอารามอยู่กับข่วงเมือง
๓. พื้นที่ตอนล่างของเมือง อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ เป็นพื้นที่ย่านพักอาศัยและประกอบการค้าขายทางเรือ
เมืองเขลางค์นครรุ่น ๒ ตั้งอยู่บนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำวัง และอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองเขลางค์นครรุ่น ๑ วางชัยภูมิของเมืองโดยเอาหน้าเมืองอยู่ทางทิศใต้ มีแม่น้ำวังเป็นคูเมือง ลักษณะของเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมเหมือนเมืองเชียงใหม่
เมืองเขลางค์นครรุ่น ๓ ตั้งอยู่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำวัง อาศัยแม่น้ำวังเป็นแนวปราการของเมืองด้านตะวันตก วางแกนของเมืองขนานกับแม่น้ำด้านทิศตะวันออก-ตะวันตก วางจุดศูนย์กลางของเมืองไว้ในแนวตรงข้ามกับรอยต่อของเมืองเขลางค์รุ่น ๑ และรุ่น ๒ บริเวณศูนย์กลางของเมืองรุ่น ๓ นี้อยู่ที่บริเวณวัดคะตึกเชียงมั่น วัดบุญยวาทย์ วัดบุญยืน วัดป่าดัวะ และคุ้มหลวงของเจ้าคำโสม (คือบริเวณศาลากลางจังหวัดหลังเก่า และศาลจังหวัด)

  • หลักฐานที่พบ

กำแพงเมืองโบราณ จากภาพถ่ายทางอากาศที่ได้มีการศึกษาสำรวจไว้จะเห็นแนวกำแพงเมืองของเมืองเข ลางค์รุ่น ๑ เป็นรูปหอยสังข์ มีความยาวประมาณ ๕.๕ กิโลเมตร ความกว้างของฐานกำแพงประมาณ ๘ เมตร สูงโดยเฉลี่ยประมาณ ๑๕ เมตร ฐานกำแพงก่อด้วยดินและทับก่อด้านบนด้วยอิฐก้อนขนาดใหญ่กว้างยาวประมาณ ๑๒ x ๒๒ เซนติเมตร
กำแพงเมืองรุ่น ๒ สร้างด้วยอิฐ มีขนาดเล็กกว่ากำแพงเมืองรุ่น ๑ มีกำแพงอยู่ ๓ ด้าน คือ ด้านทิศเหนือ ทิศตะวันออกและทิศตะวันตก

กำแพงเมืองรุ่น ๓ ก่อด้วยอิฐ มีแนวกำแพงเริ่มจากแม่น้ำวังอ้อมมาจากด้านตะวันออกมาตามถนนศรีเกิด ขนานกับตัวเมืองมาตามถนนรอบเวียง ผ่านบริเวณห้าแยกเชียงราย บรรจบแม่น้ำวังบริเวณสำนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หลักฐานเหลืออยู่ในแนวกำแพงนี้ คือ ป้อมปืนที่เรียกว่า หออะม๊อก

กำแพงเมืองที่เหลือหลักฐานให้เห็นอยู่ค่อนข้างสมบูรณ์ คือ กำแพงของเมืองรุ่น ๑ แต่สมบูรณ์เพียงบางช่วงสั้น ๆ ส่วนรุ่น ๒ เกือบจะไม่เห็นเป็นรูปกำแพง กำแพงเมืองของเมืองรุ่นที่ ๓ นั้น ถูกทำลายไปโดยหมดสิ้น

คูเมืองของเมืองเขลางค์รุ่น ๑ ถูกขุดขึ้นเพื่อเป็นแนวป้องกันเมืองชั้นที่ ๑ อยู่บริเวณส่วนนอกของกำแพงเมือง ยาวประมาณ ๕.๕ กิโลเมตร กว้างประมาณ ๘ เมตร ลึกประมาณ ๕ เมตร การขุดคูเมืองได้ขุดล้อมรอบเมืองตลอดแนวกำแพงเมือง ขณะนี้คูเมืองของเมืองนี้ถูกบุกรุกเข้าไปใช้ประโยชน์ ถูกถม จนบางแห่งไม่เหลือให้เห็นเป็นคูเมืองแล้ว

ส่วนคูเมืองของเมืองรุ่นที่ ๒ ตามร่องรอยที่เหลืออยู่เป็นร่องลึกด้านทิศเหนือของวัดปงสนุก ส่วนอื่น ๆ ถูกชาวบ้านบุกรุกเข้าไปทำประโยชน์ในลักษณะต่าง ๆ

คูเมืองของเมืองรุ่นที่ ๓ เหลือให้เห็นร่องรอยบางช่วง เฉพาะบริเวณใกล้ ๆ หออะม๊อก เท่านั้น นอกนั้นถูกเทศบาลถมเป็นถนนเกือบตลอดแนวนับตั้งแต่บริเวณห้าแยกประตูชัยไปจน ถึงสวนสาธารณะห้าแยกหอนาฬิกา

  • เส้นทางเข้าสู่เมืองเขลางค์นคร

เมืองเขลางค์นครตั้งอยู่ในเขตเทศบาล จึงมีเส้นทาง (ถนน) เข้าสู่ตัวเมืองทุกด้าน เช่น ถนนสายหลักจากด้านทิศเหนือ คือ อำเภอแจ้ห่ม ได้ตัดผ่าเข้าสู่กลางเมืองเขลางค์ ด้านทิศตะวันตกมีถนนจามเทวีที่มาจากอำเภอห้างฉัตร ส่วนเมืองเขลางค์รุ่น ๓ มีถนนพหลโยธินผ่านเข้าในย่านที่อยู่อาศัย ธุรกิจร้านค้า โดยสรุปจึงกล่าวได้ว่าถนน ตรอก ซอย ต่าง ๆ เกือบทุกสายในเขตเทศบาลนครลำปางอยู่ในเขตเมืองเก่า ทั้งสิ้น