ปูจาต้าวตั้งสี่ ประเพณีการนับถือเทพยดา

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
06/02/2009
ที่มา: 
เว็บไซต์วิถีชาวบ้านของ ครูศรีจันทรัตน์ กันทะวัง http://school.obec.go.th/phifo/index.html

ปูจาต้าวตั้งสี่ ประเพณีการนับถือเทพยดา
ศรีจันทรัตน์  กันทะวัง - ผู้เขียน


สะตวงสำหรับบูชาต้าวตั้งสี่

เสียงพ่อหนานเมืองแก้ว ปู่อาจารย์แห่งบ้านหนองเมา กำลังร่ายคาถาจากปั๊บหนังสา(สมุดข่อย) เพื่อขอ เทพยดาอารักษ์ที่ตนนับถือ อำนวยอวยพรสิ่งดี ๆ ให้เจ้าบ้านผู้ที่กำลังนั่งพนมมือ ให้อยู่เย็นเป็นสุข และ บอกกล่าวให้รับทราบถึงสิ่งที่จะกระทำในงานปอยน้อยของตนในวันนี้ การปูจาต้าวตั้งสี่ เป็นพิธีกรรม ที่ชาวชนบทล้านนาจะกระทำเป็นอันดับแรกก่อนที่จะมีพิธีกรรมอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นการปลูกบ้านเรือน การทำบุญต่าง ๆ หรืองานปอย

งานปอย เป็นการฉลองทำบุญสมโภชงานทางพระพุทธศาสนาของชาวล้านนา ได้แก่ ปอยหลวง เป็นงานบุญของส่วนรวมทุกคนในหมู่บ้านช่วยกันจัดเตรียม เป็นมหกรรมทำบุญอุทิศถวายทาน มีการ ฉลองมหรสพ เป็นทั้งงานที่ได้อิ่มบุญและอิ่มใจได้บันเทิง
     ปอยพระสังข์ เพื่อทำบุญอุทิศให้ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว
     ปอยน้อย คือ การบวชลูกแก้ว หรืองานบวชพระ งานบุญใหญ่ในการตอบแทนบุญคุณพ่อแม่

การปูจาต้าวตั้งสี่ ปู่อาจารย์ผู้ทำพิธีจะนำกระทงเครื่องปูจา(บูชา) วางบนแท่นปูจา โดยทำเป็น หอประสาทมีเสาเดียวสำหรับตั้งเครื่องบูชา เพื่อปูจา พญาอินต๋า(พระอินทร์) ท้าวตะละโถ(ท้าวธตรฐ) ท้าววิโลหะโก๋(ท้าววิรุฬหก) ท้าววิธูปักโข(ท้าววิรูปัก) ท้าวกุเวโร(ท้าวกุเวร) และพระแม่ธรณี จากนั้น
จุดธูป 20 ดอก ปักที่ตีนเสา

ปู่อาจารย์จะทำพิธีบอกกล่าวแม่ธรณีว่า "แม่ธรณีเอ๋ย เจ้าอยู่ รู้หรือยัง"
      "อยู่ รู้แล้ว" เสียงปู่อาจารย์ตอบเอง
      จากนั้นจะกล่าว สาวะคะตั๋ง โลก๋าวิทู นะมามิ 3 ครั้ง เป่าเสกลงบนมือแล้วตบไปที่เสาสามครั้ง ต่อด้วยการร่ายคาถาชุมนุมเทวดา , คำปูจาต้าวตั้งสี่ และคำปูจาพญาอินทร์

การตั้งเสาบูชา จะใช้เสาไม้ความสูงพอให้สะดวกสำหรับการวางเครื่องบูชา ใช้ไม้ทำเป็น รูปกากบาทบนหัวเสา จะได้ปลายไม้ที่ชี้ไปทั้งสี่ทิศ ถ้าเป็นงานวัดที่มีการเฉลิมฉลองทุกปีการทำเสาก็จะทำถาวร แต่หากเป็นที่บ้านซึ่งนาน ๆ มีงานครั้งก็อาจใช้ต้นกล้วยแทนเสาไม้ได้
     
สะตวง เป็นกระทงทำจากกาบกล้วยพับมุมให้เป็นรูปสี่เหลี่ยม ด้านล่างทำเป็นฐานรองด้วยใบตองกล้วย  สะตวงใช้สำหรับใส่เครื่องบูชา อันได้แก่ ดอกไม้ ธูปเทียน หมาก เมี่ยง บุหรี่ ขนม ตุงจ้อ (ธงสามชาย ทำด้วยกระดาษสีต่าง ๆ ) ใช้ปักในและขอบสะตวง จะวางไว้บนปลายไม้ทั้งสี่ทิศ และสะตวงใหญ่ที่วางไว้ตรง กลางเสาด้านบนเป็นสะตวงใหญ่สำหรับพระอินทร์ ผู้เป็นหัวหน้าหรือประธานของเหล่าเทวดาทั้งหลาย สะตวงอันสุดท้ายใช้วางไว้บนดินโคนเสาสำหรับบูชาแม่ธรณี สะตวงที่ใช้ในพิธีมีทั้งหมด 6 สะตวงด้วยกัน



ปู่อาจารย์กำลังทำพิธี

ชาวชนบทล้านนามีความเชื่อว่า ต้าวตั้งสี่ หรือ ท้าวจตุโลกบาล เป็นท้าวมหาราชสี่องค์ผู้ประจำ อยู่บน สรวงสวรรค์ชั้นต้นมีหน้าที่ดูแลทิศทั้งสี่ ดังนั้นก่อนจะทำการใด ๆ จะต้องมีการบอกกล่าว ให้ท้าวจตุโลกบาล ได้รับรู้รับทราบและสร้างความพึงพอใจให้ท่าน เพื่อให้ความคุ้มครองรักษาให้แคล้วคลาดจากภยันตราย สิ่งชั่วร้ายนานาประการ และอวยพรให้เจ้าของงานเกิดสิริมงคล มีความสุขความเจริญ ประสบความสำเร็จ ในงานตามที่ตั้งไว้

การปู่จาต้าวตั้งสี่ จะเลือกประกอบพิธีทางทิศตะวันออก เพราะชาวล้านนานิยมนอนหันหัวไปทางทิศตะวันออก ซึ่งถือเป็นทิศที่แสดงถึงความรุ่งโรจน์เป็นมงคล ช่วงเวลาในการทำพิธี นิยมจัดพิธีกรรม ในช่วงเช้าของวันข้างขึ้น และในวันที่มีงานบุญต่าง ๆ

หลังเสร็จสิ้นการบอกกล่าวเทวดาให้ได้รับรู้จากพ่อหนานเมืองแก้วแล้ว ชาวบ้านต่างร่วมแรงแข็งขัน ช่วยงานปอยลูกแก้ว งานบุญที่ทุกคนต่างรอคอยเพราะเชื่อว่าตนจะได้อาศัยเกาะชายผ้าเหลืองขึ้นสู่ สรวงสวรรค์ ดินแดนทิพย์ที่ปรารถนา ยามล่วงลับจากโลกนี้ไป เสียงผู้ชายขุดมะพร้าว ผู้หญิงฉีกใบตองและนวดแป้ง เพื่อรอทำขนม บางส่วนเตรียมอาหารสำหรับมื้อกลางวัน มีเสียงขับซอหยอกล้อสาวจากลุงบุญยืนจ้างซอเก่า เรียกรอยยิ้มและเสียงหัวเราะของผู้คนได้เป็นระยะ ๆ เด็ก ๆ วิ่งเล่นส่งเสียงใส ผู้เฒ่าผู้แก่นั่งดูลูกหลาน และนั่งเป็นประธานคอยให้คำชี้แนะยามลูกหลานต้องการ

น้ำใจ ไมตรี ไม่เคยห่างหายไปจากใจชาวชนบท การเคารพนับถือบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์มีให้เห็นเสมอ ในวิถีชีวิตประจำวัน ทุกขั้นตอนของชีวิตเมื่อจะปฏิบัติสิ่งใดต้องมีการบอกกล่าวขอพร ให้เป็นมิ่งขวัญ นำไปสู่ความเจริญในชีวิต เทพยดาอารักษ์สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย เป็นสายใยเชื่อมโยงความเชื่อ ความศรัทธา ผูกรัดให้ผู้คนอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างสอดคล้อง ก่อเกิดสันติสุขในชีวิตและสังคมต่อไป