ศาสนามอญ - รามัญนิกาย (พระสงฆ์มอญ)

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
01/03/2009
ที่มา: 
http://www.monstudies.com

รามัญนิกาย (พระสงฆ์มอญ)

คณะสงฆ์รามัญนิกาย

พระมหาจรูญ ญาณจารี

  • กำเนิดรามัญนิกาย

พระเจ้าธรรมเจดีย์กษัตริย์แห่งรามัญประเทศ
พระองค์ทรงใฝ่พระทัยในการศาสนาเป็นอย่างยิ่ง
ด้วยเหตุที่พระองค์ทรงเลื่อมใสในพระรัตนตรัยอย่างมั่นคงและเคยผนวชเป็นพระ
ภิกษุ ตามที่ปรากฏหลักฐานในพงศาวดารมอญเรื่องราชาธิราช ซึ่งมีพระนามว่า
"พระปิฎกธร"  เมื่อพระองค์ขึ้นเสวยราชย์ในเมืองหงสาวดีแล้ว
คณะสงฆ์ในเมืองหงสาวดีเกิดแตกแยกกัน ต่างรังเกียจไม่ยอมทำสังฆกรรมร่วมกัน
และถือพิธีปฏิบัติผิดแผกกันออกไปตามคติความเห็นของแต่ละฝ่าย
พระองค์ทรงวิตกว่า ในกาลภายหน้า
การถือปฏิบัติของพระสงฆ์จะเป็นเหตุให้พระพุทธศาสนาเสื่อมถอยลง
และจะเสื่อมสูญไปในที่สุด
พระองค์ทรงประสงค์เพื่อที่จะชำระพระพุทธศาสนาให้บริสุทธิ์และให้พระสงฆ์ถือ
วัตรปฏิบัติเป็นอย่างเดียวกัน จึงทรงรับสั่งให้คณาจารย์ของแต่ละฝ่ายให้ไป
รับการอุปสมบทจากพระสงฆ์ในลังกาทวีป
เพื่อให้มีพระสงฆ์รามัญที่บริสุทธิ์เกิดขึ้นมาก่อน
แล้วกลับมาให้การอุปสมบทแก่ลูกศิษย์ต่อไปเพื่อให้พระสงฆ์ในรามัญประเทศเป็น
วงศ์เดียวกัน เหล่าพระคณาจารย์จึงเห็นชอบให้พระเถระ ๒๒ รูป และพระอนุจรอีก
๒๒ รูปไปรับการอุปสมบทในลังกา
เมื่อพระสงฆ์รามัญบวชแปลงเป็นวงศ์ของลังกาเสร็จ
แล้วเดินทางกลับมายังรามัญประเทศแล้วพระเจ้าธรรมเจดีย์ก็ทรงรับสั่งให้เริ่ม
บวชแปลงภิกษุรามัญตามอย่างลังกา ซึ่งสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ
ทรงเล่าไว้ในหนังสือเที่ยวเมืองพม่าว่า
"เมื่อมีพระสงฆ์ซึ่งได้บวชแปลงเป็นลังกาอย่างบริสุทธิ์แล้ว
พระเจ้าธรรมเจดีย์จึงทรงเลือกหาสถานที่สร้างพระอุโบสถ
ได้ที่ควรเป็นวิสุงคามถูกต้องตามพระวินัยที่ชายเมืองหงสาวดีทางด้านตะวันตก
ของพระธาตุมุเตา แล้วจึงทรงรับสั่งให้สร้างพระอุโบสถขึ้น ณ ที่นั้น
ให้พระสงฆ์ที่ไปบวชแปลงมาจากลังกาทำพิธีผูกพัทธสีมา
สำหรับเป็นที่ทำสังฆกรรมของเหล่าพระสงฆ์ เรียกว่า "กัลยาณีสีมา"
ด้วยเหตุที่พระสงฆ์ที่ตั้งขึ้นใหม่นั้น
ได้รับการอุปสมบทมาจากอุทกสีมาในแม่น้ำกัลยาณีลังกาทวีป
เมื่อผูกพัทธสีมาแล้วก็ทรงโปรดให้กุลบุตรชาวเมืองหงสาวดีบวชเป็นลังกาวงศ์ใน
สีมากัลยาณี แต่ขัดข้องด้วยเหตุที่พระสงฆ์ที่ไปบวชแปลงมาจากลังกานั้น
ก่อนบวชต้องสึกเป็นคฤหัสถ์เสียก่อน
เมื่อบวชใหม่แล้วพรรษายังน้อยเป็นอุปัชฌาย์ไม่ได้
จึงตรัสสั่งให้เที่ยวหาภิกษุที่บวชแปลงมาจากลังกา
ก็ได้พระสุวรรณโสภณซึ่งได้ไปบวชมาจากคณะมหาวิหาร ณ
อุทกสีมาในแม่น้ำกัลยาณีเช่นเดียวกัน ซึ่งมีพรรษาได้ ๒๖ พรรษาแล้ว
พระเจ้าธรรมเจดีย์จึงโปรดให้นิมนต์พระสุวรรณโสภณมาเป็นอุปัชฌาย์องค์แรก
ให้การอุปสมบทแก่กุลบุตรชาวเมืองหงสาวดีในสีมากัลยาณีเป็นต้นมาโดยลำดับ”

  • รามัญนิกายสมัยกรุงสุโขทัย

จากหลักฐานในพงศาวดารและตำนานต่าง ๆ ของไทย เช่น ชินกาลมาลีปกรณ์
ตำนานมูลศาสนา ศาสนวงศ์ เป็นต้น
แสดงให้เห็นว่าไทยได้รับพุทธศาสนามาจากลังกาโดยผ่านมอญที่เรียกว่า
"รามัญนิกาย" เข้ามาเผยแพร่ตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย
บางครั้งพระภิกษุชาวไทยได้เดินทางไปยังรามัญประเทศ
บวชแปลงใหม่ตามลัทธิวิธีของรามัญ แล้วอยู่เรียนพระธรรมวินัยในประเทศนั้น
จนมีความรู้ความสามารถแล้วจึงกลับมาเผยแพร่พระพุทธศาสนาตามอย่างลัทธิรามัญ
ในประเทศไทย บางครั้งพระมหากษัตริย์ไทยก็ส่งราชทูตออกไปยังรามัญประเทศ
แล้วขอบวชอีกครั้งหนึ่งในสำนักของพระอุทุมพรมหาสามีและได้อยู่ศึกษาเล่า
เรียนพระธรรมวินัยที่นั่น
ต่อมาพระมหาสามีอุทุมพรได้ส่งพระสุมนเถระให้แก่พระเจ้าธรรมราชาแห่งกรุง
สุโขทัยตามที่พระองค์ทรงขอเพื่อไปทำสังฆกรรมทุกอย่างในกรุงสุโขทัย
เมื่อมาถึงสุโขทัยแล้วได้ทำการผูกพัทธสีมาและให้การอุปสมบทแก่พระสงฆ์ที่
สุโขทัยตามแบบรามัญนิกาย

  • รามัญนิกายสมัยกรุงศรีอยุธยา

ตามตำนานมูลศาสนา
ปรากฏว่าพุทธศาสนาแบบรามัญนิกายได้เข้ามาประดิษฐาน
ในกรุงศรีอยุธยาเป็นครั้งแรกในรัชสมัยของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (อู่ทอง
พ.ศ. ๑๘๙๓-๑๙๑๒) กล่าวคือ
หลังจากที่พระสุมนเถระเข้ามาอยู่สุโขทัยได้ระยะหนึ่งแล้วได้กลับไปยังรามัญ
ประเทศอีก และได้นำพระภิกษุชาวสุโขทัยจำนวน ๘
รูปไปบวชใหม่และอยู่เรียนพระพุทธศาสนาที่รามัญประเทศ
เมื่อกลับมาถึงกรุงสุโขทัยแล้ว พระสงฆ์ทั้ง ๘
รูปได้แยกย้ายการเผยแผ่พุทธศาสนาแบบรามัญนิกาย หนึ่งในจำนวนนั้น คือ
พระปิยทัสสีเถระ
ก็ได้นำเอาพระพุทธศาสนาแบบรามัญนิกายมาประดิษฐานในกรุงศรีอยุธยานี้
นับว่าเป็นครั้งแรกที่พระพุทธศาสนาแบบรามัญนิกายมาสู่กรุงศรีอยุธยา

ต่อมาในรัชสมัยของสมเด็จพระมหาธรรมราชา (พ.ศ.๒๑๒๒-๒๑๓๓)
ปรากฏว่ามีพระเถระชาวมอญเข้ามาสู่กรุงศรีอยุธยา
และได้รับแต่งตั้งไว้ในตำแหน่งสำคัญอีกครั้งหนึ่ง กล่าวคือ
พระมหาเถรคันฉ่อง ซึ่งเป็นผู้แจ้งข่าวให้พระนเรศวรทรงทราบว่า
พระเจ้าหงสาวดีคิดประทุษร้ายต่อพระองค์ สมเด็จพระนเรศวรทรงทราบความแล้ว
จึงตรัสแก่พระมหาเถรคันฉ่องว่า
ซึ่งพระผู้เป็นเจ้าเมตตาบอกเหตุการณ์แก่ข้าพเจ้าทั้งนี้พระคุณนั้นหาที่สิ้น
สุดมิได้ อันพระผู้เป็นเจ้าจะอยู่ในเมืองมอญนี้ พระเจ้าหงสาวดีแจ้ง
อันตรายก็จะมีเป็นมั่นคง ข้าพเจ้าจะนำพระผู้เป็นเจ้า กับพระยาเกียรติ์
พระยาราม และญาติโยมทั้งปวงลงไปอยู่ ณ กรุงเทพมหานครศรีอยุธยา
จะได้กระทำปฏิการสนองคุณพระผู้เป็นเจ้า และปลูกเลี้ยงพระยาเกียรติ์
พระยารามด้วย
พระมหาเถรคันฉ่องกับพระยาทั้งสองก็ยินยอมพร้อมด้วยพระราชบริพารจึงเสด็จพยุห
ยาตราทัพออกจากเมืองแครง
พระมหาเถรคันฉ่องกับพระยาทั้งสองและญาติโยมก็มาโดยเสด็จ....
แล้วจึงโปรดให้พระมหาเถรคันฉ่องอยู่วัดมหาธาตุ
เป็นสมเด็จพระอริยวงศญาณปริยัติวราสังฆราชาธิบดี
ศรีสมณุตมาปริณายกติปิฏกธราจารย์ สฤษติขัติยสารสุนทร
มหาคณฤศรอุดรวามคณสังฆารามคามวาสี สถิตอยู่ ณ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ
วรวิหาร ฝ่ายพระยาเกียรติ์ พระยาราม ก็พระราชทานเจียดทอง เต้าน้ำทอง
กระบี่บั้งทอง เงินตรา เสื้อผ้าพรรณนุ่งห่ม
และเครื่องอุปโภคบริโภคเป็นอันมาก และครอบครัวมอญซึ่งพามานั้น
ก็พระราชทานให้พระยาเกียรติ์ พระยาราม ควบคุมว่ากล่าวด้วย
และพระยาทั้งสองให้อยู่ตำบลบ้านขมิ้น วัดขุนแสน
ส่วนญาติโยมของพระมหาเถระคันฉ่องนั้น ให้อยู่ตำบลบ้านหลังวัดนก

ในพระสมณศาสนภาษาบาลีของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ซึ่งทรงมีไปถึงคณะสงฆ์ในลังกาทวีปครั้งยังทรงผนวชอยู่ ฉบับที่ ๖ ข้อที่ ๒๐
ว่า "ครั้งนั้นพระนเรศวรมหาราชทรงพาเอาหมู่ภิกษุและครัวรามัญเป็นอันมาก
เสด็จกลับมาเมืองไทย โปรดเกล้า ฯ
พระราชทานพื้นที่สำหรับปลูกบ้านเรือนแก่พวกครัวรามัญและพื้นที่สำหรับสร้าง
วัดถวายภิกษุรามัญวงศ์ด้วย รามัญวงศ์มาประดิษฐานในเมืองไทยด้วยประการฉะนี้
ตั้งแต่นั้นมาถึงทุกวันนี้ เป็นเวลา ๓๒๐ ปีกว่ามาแล้ว"
ตามความในพระราชนิพนธ์นี้ แสดงว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงถือว่า พระสงฆ์รามัญคณะพระมหาเถรคันฉ่องซึ่งเข้ามาประเทศไทยครั้งนี้
เป็นการนำเอาพระพุทธศาสนาแบบรามัญนิกายเข้ามาประดิษฐานในประเทศไทยด้วย

จากการที่พระมหาเถรคันฉ่องตามเสด็จสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเข้ามาอยู่ในกรุง
ศรีอยุธยาครั้งนั้น คงมิได้มาแต่เพียงท่านรูปเดียว
คงจะมีพระภิกษุสามเณรรามัญที่เป็นศิษย์ของท่านติดตามเข้ามาด้วยเป็นจำนวนมาก
จนถึงกับสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
ทรงตั้งให้พระมหาเถรคันฉ่องเป็นเจ้าคณะสงฆ์รามัญ
เพื่อปกครองว่ากล่าวกันเอง
พระสงฆ์รามัญเหล่านี้คงได้เผยแผ่ลัทธิวิธีพระพุทธศาสนาแบบรามัญแก่ชาวกรุง
ศรีอยุธยาทั่วไปตามสามารถ และต่อมาก็ได้เผยแผ่ไปยังหัวเมืองใกล้เคียงต่าง
ๆ อีกหลายเมือง เพราะในบัญชีรายชื่อเจ้าคณะเมืองในหัวเมืองปักษ์ใต้
ที่ขึ้นคณะคามวาสีฝ่ายขวาครั้งกรุงเก่า
มีรายชื่อพระครูเจ้าคณะเมืองฝ่ายรามัญปรากฏอยู่หลายชื่อ คือ
พระครูรามัญญาธิบดี พระครูอินทมุนี ประจำเมืองกาญจนบุรี พระครูอินทเขมา
ประจำเมืองราชบุรี เป็นต้น

ในบัญชีรายชื่อพระราชาคณะในกรุงนอกกรุง
ครั้งกรุงเก่ามีรายชื่อพระราชาคณะฝ่ายรามัญบางชื่อปรากฏอยู่ คือ
พระไตรสรณธัช วัดจอมปุ ขึ้นคณะซ้าย องค์หนึ่ง พระอริยธัช วัดจงกรม
ขึ้นคณะขวา องค์หนึ่ง  ทำให้สันนิษฐานได้ว่า คณะสงฆ์รามัญนั้น
คงจะได้มีเจ้าคณะใหญ่ปกครองกันมาตั้งแต่ครั้งกรุงเก่าแล้ว
จึงได้มีพระราชาคณะชั้นรอง ๆ ลงมาสำหรับช่วยการคณะอีกหลายรูปด้วยกัน

ตอนปลายกรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยของพระเจ้าบรมโกศ (ระหว่าง
พ.ศ.๒๒๗๕-๒๓๑๐)
ได้มีชาวรามัญและพระสงฆ์อพยพเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารอีกครั้งหนึ่ง
พงศาวดารมอญพม่ากล่าวว่า พระเจ้าอลองพญา กล่าวหาพระสงฆ์รามัญว่า
ทำมงคลประเจียด ตะกรุด ลงเลขยันต์กันอาวุธให้ชาวมอญ
ทำให้ชาวมอญพากันมีกำลังใจกล้าหาญในการทำสงครามกับพระองค์
จึงสั่งให้ทำการกวาดล้างพระสงฆ์มอญและให้จับประหารเสีย
ครั้งนั้นพระสงฆ์มอญจึงได้พากันอพยพไปในที่ ๆ ปลอดภัย เช่น กรุงศรีอยุธยา
เชียงใหม่ และเมืองทวาย เป็นต้น 
นับแต่นั้นมาพระพุทธศาสนาแบบรามัญนิกายก็ประดิษฐานอย่างมั่นคงในประเทศไทย
ได้มีผู้สืบลัทธินิกายต่อ ๆ มา
ซึ่งมีทั้งบุตรหลานของพวกที่อพยพเข้ามาอยู่ก่อนและทำการบวชเรียนในประเทศไทย
และพระสงฆ์มอญที่อพยพเข้ามาอยู่ใหม่ตามลำดับ

  • รามัญนิกายสมัยกรุงรัตนโกสินทร์

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ ๑ แห่งกรุง 
รัตนโกสินทร์
สภาพการณ์ของคณะสงฆ์ตกอยู่ในความวิปริตเสื่อมโทรมและระส่ำระสาย
สืบเนื่องมาจากการเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่าใน พ.ศ.๒๓๑๐
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงถือเป็นเรื่องรีบด่วนในการที่จะแก้ไข
ฟื้นฟูพระพุทธศาสนาและคณะสงฆ์ขึ้นใหม่
ในปีแรกแห่งรัชกาลนั่นเองก็ได้ทรงแต่งตั้งพระเถรานุเถระฝ่ายไทยให้ดำรง
สมณศักดิ์ต่าง ๆ
ตามสมควรแก่คุณธรรมเพื่อเป็นศรีแก่ศาสนาและบ้านเมืองสืบไปแล้ว
ก็ได้ทรงแสวงหาพระเถระฝ่ายรามัญ
เพื่อทรงแต่งตั้งไว้ในฐานานุศักดิ์อันสมควรต่อไป ก็ปรากฏว่า
ทรงได้พระเถระรามัญผู้ทรงพระธรรมวินัยมาตั้งเป็นพระราชาคณะ ๓ รูป
ดังปรากฏในพระราชพงศาวดารว่า "อนึ่ง พระราชาคณะฝ่ายรามัญนั้นยังหาตัวมิได้
จึงทรงพระกรุณาให้จัดหาพระมหาเถระฝ่ายรามัญ ซึ่งรู้พระวินัยปริยัติได้ ๓
รูป ทรงตั้งเป็น พระมหาสุเมธาจารย์องค์หนึ่ง พระไตรสรณธัชองค์หนึ่ง
และพระสุเมธน้อยองค์หนึ่ง ครั้นเมื่อสมเด็จพระอนุชาธิราชทรงสร้างวัดตองปุ
(วัดชนะสงคราม) ขึ้นใหม่  โปรด ฯ ให้พระสงฆ์รามัญมาอยู่วัดตองปุ
และให้พระมหาสุเมธาจารย์เป็น    เจ้าอาวาส  พระไตรสรณธัชนั้น
มีพระราชโองการให้ไปอยู่วัดบางหลวง เป็น  เจ้าคณะรามัญ
ในแขวงเมืองนนทบุรีและสามโคก
ส่วนพระสุเมธน้อยโปรดให้ไปครองวัดบางยี่เรือใน

การปกครองคณะสงฆ์รามัญในรัชกาลนี้ก็ใช้การปกครองแบบเดียวกับที่ใช้ในสมัย
กรุงศรีอยุธยาเช่นกัน คือมีเจ้าคณะใหญ่ปกครองว่ากล่าวกันเอง
ซึ่งปรากฏนามว่า "พระมหาสุเมธาจารย์" ต่อมาในภายหลังได้เปลี่ยนเป็น
"พระ    สุเมธาจารย์" และมีพระราชาคณะชั้นรอง ๆ ลงมา ช่วยการคณะอีกหลายรูป
ทำหน้าที่ปกครองว่ากล่าวพระสงฆ์รามัญที่อยู่ในส่วนหัวเมืองต่าง ๆ

เจ้าคณะใหญ่ฝ่ายรามัญที่ได้รับแต่งตั้งในราชทินนามนี้
ตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ ถึงรัชกาลที่ ๕ มีจำนวน ๕ รูป
มีประวัติเท่าที่สามารถค้นหาหลักฐานได้ ดังนี้
รูปที่ ๑ คือ พระมหาสุเมธาจารย์
องค์ที่ปรากฏในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑
ซึ่งโปรดให้แต่งตั้งเมื่อแรกเสวยพระราชสมบัติ
แล้วโปรดให้มาครองวัดชนะสงคราม ซึ่งในประวัติวัดชนะสงครามกล่าวว่า
เป็นเจ้าอาวาสองค์แรกของวัดชนะสงคราม

รูปที่ ๒ คือ ที่ปรากฏในบัญชีพระเถรานุเถระนั่งหัตบาส
คราวสมเด็จกรมพระราชวังหลังทรงผนวช เมื่อปี พ.ศ.๒๓๔๕ จำนวน ๓๐ รูปว่า
"พระสุเมธใหญ่ วัดชนะสงคราม พระสุเมธน้อย วัดราชคฤห์ ” นั้น
ยังหาหลักฐานประวัติความเป็นมาไม่พบ

รูปที่ ๓ คือ
ที่ปรากฏชื่อในหนังสือเรื่องแต่งตั้งพระราชาคณะผู้ใหญ่ในกรุงรัตนโกสินทร์
ว่า "พระสุเมธ มีในพระราชปุจฉารัชกาลที่ ๓ (พ.ศ.๒๓๖๙)" นั้นเข้าใจว่า
ได้แก่ พระสุเมธาจารย์ (เกิด) ซึ่งมีชื่ออยู่ในจดหมายเหตุ
เรื่องไต่สวนนายกุหลาบว่า "ข้อนี้พึงฟังได้ว่า สมเด็จพระสังฆราช (สา
ปุสฺสเทว) ได้อุปสมบทในเวลาที่ใช้อุปัชฌาย์รามัญ มีพระสุเมธาจารย์ (เกิด)
เป็นอุปัชฌาย์ด้วยรูปหนึ่ง และเวลานั้นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงเป็นกรรมวาจาจารย์อยู่"

รูปที่ ๔ คือ พระสุเมธมุนี (ซาย พุทฺธวํโส) เจ้าอาวาสวัดบวรมงคล
องค์ที่ ๒ (ระหว่าง พ.ศ.๒๓๖๕-๒๓๘๐) เป็นชาวมอญ เกิดในรามัญประเทศ
และบวชเป็นภิกษุมาแต่ในรามัญประเทศ
เข้ามาอยู่เมืองไทยครั้งมอญอพยพในสมัย    รัชกาลที่ ๒
ซึ่งโปรดให้ไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่เมืองปทุมธานีและปากเกร็ด
พระสุเมธมุนีองค์นี้เองที่เป็นผู้ถวายวิสัชนาเกี่ยวกับสมณวงศ์และวินัย
ปฏิบัติต่าง ๆ แด่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งยังทรงผนวชอยู่
จนเป็นที่พอพระทัยและทรงเลื่อมใส รับมาเป็นแบบปฏิบัติ
กระทั่งเกิดเป็นคณะธรรมยุติกนิกายขึ้นในกาลต่อมา
ในบั้นปลายชีวิตของพระสุเมธมุนีองค์นี้ บางท่านก็ว่า
ท่านเกิดขัดแย้งกับหม่อมไกรสร (กรมหลวงรักษรณเรศ) อย่างรุนแรง
จากนั้นก็หายสาบสูญไป บางท่านก็ว่า
หม่อมไกรสรขอพระบรมราชานุญาตถอดเสียจากสมณศักดิ์แล้วให้ประหารชีวิตในที่
สุด  สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพตรัสว่า
"ถูกหม่อมไกรสรพยายามทำร้ายหนักขึ้น
จนถึงหาเหตุให้สึกพระสุเมธมุนีที่เป็นพระอุปัชฌาย์ของพระบาทสมเด็จพระ
จอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

รูปที่ ๕ คือ พระสุเมธาจารย์ (ศรี) เจ้าอาวาสวัดชนะสงคราม องค์ที่
๒ (ระหว่าง พ.ศ.๒๔๑๐-๒๔๕๕) เป็นชาวบางพูด จังหวัดนนทบุรี เกิดเมื่อ
พ.ศ.๒๓๗๘ ในรัชกาลที่ ๓ บวชเป็นสามเณรที่วัดปรมัยยิกาวาส
แล้วย้ายมาอยู่วัดชนะสงคราม เป็นเปรียญ ๔ ประโยครามัญ
เคยเป็นพระครูราชปริต ตอนปลายรัชกาลที่ ๔
ไปรั้งตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบวรมงคลอยู่คราวหนึ่ง ใน พ.ศ.๒๔๑๐
ได้เป็นพระราชาคณะที่ “พระอุดมญาณ” แล้วมาครองวัดชนะสงคราม ถึงรัชกาลที่ ๕
เลื่อนขึ้นเป็นที่ "พระสุเมธาจารย์ บริหารธรรมขันธ์ รามัญสงฆคณาธิบดี
ตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่พระสงฆ์รามัญ"

สำหรับเจ้าคณะรองฝ่ายรามัญนั้น มีหนึ่งตำแหน่ง คือ "พระคุณวงศ์"
เดิมเป็นพระราชาคณะสามัญ ต่อมาในรัชกาลที่ ๕ ยกขึ้นเป็นเสมอชั้นเทพ และมี
๒ รูป คือ พระคุณวงศ์ (สน) พระคุณวงศ์ (จู) เจ้าอาวาสวัดปรมัยยิกาวาส
รูปที่ ๑ และที่ ๒ ตามลำดับ  พระราชาคณะรามัญ ๒ ตำแหน่งนี้
ต้องเป็นเปรียญทั้งสองตำแหน่ง และการทรงตั้งนั้น
จะทรงตั้งต่อเมื่อทรงเห็นว่ามีผู้ทรงคุณสมบัติสมควร

ในอธิบายคณะสงฆ์และสมณศักดิ์ ของพระยาพฤฒาธิบดี (อ่อน) ได้แสดงรายนามพระราชาคณะฝ่ายรามัญไว้ ๘ ชื่อ คือ
๑. พระคุณวงศ์ เดิมเป็น พระกูลวงษ์
๒. พระไตรสรณธัช
๓. พระอริยธัช
๔. พระธรรมวิสารท
๕. พระอุดมญาณ
๖. พระสุเมธน้อย (ในรัชกาลที่ ๑) เปลี่ยนเป็นพระสุเมธมุนี ในรัชกาลที่ ๕
๗. พระรามัญมุนี (ในรัชกาลที่ ๔)
๘. พระรามัญมหาเถร (ในรัชกาลที่ ๔)

 ต่อมาในรัชกาลที่ ๓
ปรากฏหลักฐานตามพระอธิบายของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสว่า 
"คณะรามัญนั้น รวมวัดที่พระสงฆ์เป็นรามัญเข้าไว้ด้วยกัน
มีพระสุเมธาจารย์เป็นเจ้าคณะเช่นเดิม”
และมีคำกล่าวว่าคณะสงฆ์รามัญได้ไปขึ้นกับคณะกลาง
ทั้งนี้คงเป็นเพราะวัดชนะสงครามซึ่งเป็นวัดเจ้าคณะไปขึ้นกับคณะกลางนั่นเอง
แต่ความจริงแล้วมีแต่วัดชนะสงครามกับวัดในนครเขื่อนขันธ์เท่านั้นที่ขึ้นคณะ
กลาง ส่วนวัดรามัญในเขตเมืองใดก็ขึ้นคณะเมืองนั้น

     ในสมัยรัชกาลที่ ๔
การปกครองคณะสงฆ์ฝ่ายรามัญยังคงใช้แบบที่เคยปฏิบัติมาในรัชกาลก่อน
และมีการตั้งราชทินนามพระราชาคณะฝ่ายรามัญเพิ่มอีก ๒ ตำแหน่ง คือ
พระรามัญมุนี และพระรามัญมหาเถร

       ครั้นถึงสมัยรัชกาลที่ ๕ การปกครองคณะสงฆ์ไทยยังคงแยกเป็น ๔
คณะเช่นเดิม แต่ได้มีการเปลี่ยนแปลงบางประการขึ้น คือ
ได้เพิ่มคณะสงฆ์ธรรมยุตขึ้นมาคณะหนึ่งแทนคณะอรัญวาสี
และให้คณะอรัญวาสียุบไปรวมกับคณะธรรมยุต
ส่วนคณะสงฆ์รามัญนิกายก็ยังคงแยกย้ายไปขึ้นกับคณะทั้ง ๔
ในครั้งนั้นเจ้าพระยาภาสกรวงษ์เสนาบดีกระทรวงธรรมการเห็นควรที่จะรวมคณะสงฆ์
รามัญนิกายทั้งในกรุงและหัวเมืองที่ขึ้นกับคณะต่าง ๆ เข้าด้วยกัน
แล้วยกไปขึ้นคณะธรรมยุต เพราะมีวิธีการคณะแบบเดียวกัน
และจะขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ตั้งพระสุเมธาจารย์ขึ้นเป็นเจ้าคณะใหญ่
คณะรามัญตามเดิม และให้พระคุณวงศ์เป็นเจ้าคณะรอง
ด้วยเห็นว่าพระสุเมธาจารย์มีพรรษากาลอายุมากและหมั่นในการศึกษา
ประกอบกับตำแหน่งพระสุเมธาจารย์นี้เป็นตำแหน่งใหญ่ฝ่ายรามัญมีฐานานุศักดิ์
ตั้งฐานานุกรมได้ ๕ รูป ทั้งพระสุเมธาจารย์เองก็มีความประพฤติเรียบร้อย 
หลังจากที่ได้รับพระบรมราชานุญาตให้กลับมาดำรงตำแหน่งเจ้าคณะตามเดิมแล้ว
พระสุเมธาจารย์ได้มีหมายไปยังพระคุณวงศ์ให้ส่งบัญชีจำนวนวัดรามัญ
เจ้าอาวาส เจ้าอธิการ
ตลอดจนพระสงฆ์สามเณรที่ขึ้นกับพระคุณวงศ์ไปยังพระสุเมธาจารย์เพื่อจะได้รวบ
รวมส่งให้กับกรมสังฆการี กระทรวงธรรมการ
แล้วจึงยกไปรวมกับธรรมยุตอีกทีหนึ่ง
ฝ่ายพระคุณวงศ์ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งดังกล่าว
จึงไม่ยอมปฏิบัติตามและไม่ยอมขึ้นกับพระสุเมธาจารย์
กรมสังฆการีจึงต้องทำการไกล่เกลี่ยและรับเป็นผู้บังคับบัญชาพระคุณวงศ์
โดยเป็นผู้เรียกเก็บบัญชีวัดมอญที่เคยขึ้นกับพระคุณวงศ์ทั้งหมด
สำหรับพระสุเมธาจารย์นั้นก็ให้เป็นผู้จัดการคณะรามัญอื่น ๆ 
ส่วนการยกคณะสงฆ์รามัญไปรวมกับคณะธรรมยุตก็มีอุปสรรคไม่สามารถจัดการให้
ลุล่วงไปได้ เนื่องจากสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส
เจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุตไม่เต็มพระทัยที่จะรับเพราะเป็นภาระหนัก
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส
จึงทรงมอบคณะรามัญให้พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอรุณนิภาคุณากร
เจ้าคณะรองปกครอง พระองค์เจ้าอรุณนิภาคุณากรก็ไม่เต็มพระทัยเช่นกัน
ด้วยทรงอ้างว่า
คณะรามัญกับวัดชนะสงครามนั้นมีขอบเขตและปริมาณงานมากเกินกว่าที่จะดูแลรักษา
ได้ จึงทรงสมควรให้คณะสงฆ์รามัญไปขึ้นอยู่ในคณะมหานิกายไปตามเดิม
ในที่สุดกรมสังฆการีจึงต้องรับหน้าที่ในการปกครองคณะรามัญทั้งหมดที่ถอนมา
จากคณะเหนือ คณะกลางและคณะใต้ และการสั่งราชการในคณะรามัญนั้น กรม
สังฆการีต้องสั่งไปทั้ง ๒ ผ่ายคือ ฝ่ายพระสุเมธาจารย์และฝ่ายพระคุณวงศ์

ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๔๕ (ร.ศ.๑๒๑)
ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติ
ลักษณะปกครองคณะสงฆ์ แบ่งการปกครองออกเป็น ๔ คณะ คือ คณะเหนือ คณะใต้
คณะธรรมยุต และคณะกลาง ตามพระราชบัญญัตินั้นได้กำหนดให้มี 
เจ้าคณะปกครองลดหลั่นกันลงมาตามลำดับ คือ มีเจ้าคณะใหญ่ เจ้าคณะมณฑล
เจ้าคณะเมือง เจ้าคณะแขวง เจ้าคณะหมวด และเจ้าอาวาส
ส่วนคณะสงฆ์รามัญนิกายไม่ได้รับยกย่องเป็นคณะเอกเทศทำให้สิ้นสภาพไปโดย
พฤตินัย เพราะวัดรามัญอยู่ในเขตเมืองใด คณะใด ก็ขึ้นเมืองนั้น คณะนั้น
คณะรามัญเป็นอันมีแต่ชื่อ
ดังนั้นตามพระราชบัญญัติฉบับนี้จึงทำให้ตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่ฝ่ายรามัญสิ้น
สภาพไปด้วย พระเถระรามัญที่ได้ดำรงตำแหน่ง "พระสุเมธาจารย์
บริหารธรรมขันธ์ รามัญสงฆคณาธิบดี
ตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่ฝ่ายรามัญเป็นองค์สุดท้ายนั้น คือพระสุเมธาจารย์ (ศรี)
เจ้าอาวาสวัดชนะสงครามรูปที่ ๒ ซึ่งได้ดำรงตำแหน่งนี้มาแต่ต้นรัชกาลที่ ๕
จนถึงมรณภาพเมื่อ พ.ศ.๒๔๕๕ อันเป็นปีที่ ๒ ในรัชกาลที่ ๖ ต่อแต่นั้นมา
ไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีพระเถระรามัญรูปใดได้รับแต่งตั้งในตำแหน่งนี้อีก
หรือหากว่าจะมีผู้ได้รับแต่งตั้งเป็นพระสุเมธาจารย์ก็คงจะไม่ได้เป็น
"รามัญสงฆคณาธิบดี ฯลฯ ตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่ฝ่ายรามัญ”ดังแต่ก่อน  

    สมัยรัชกาลที่ ๖ ในยุคนี้ พระสงฆ์รามัญได้ลดจำนวนลงไปมาก
วัดรามัญส่วนมากมักจะมีพระสงฆ์ไทยเข้าไปอยู่เป็นจำนวนมากขึ้นตามลำดับ
ความจริงข้อนี้จะพึงเห็นได้จากความบางตอนในลายพระหัตถ์ของสมเด็จพระมหาสม
ณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสว่า "ในเวลานี้ (พ.ศ. ๒๔๕๘)
วัดรามัญมีพระสงฆ์น้อยลง วัดมีมากกว่า ๑๐ รูปมีน้อย
ไม่มีวัดใดวัดหนึ่งมีถึง ๒๐ รูป" 
ภาวการณ์เช่นนี้เข้าใจว่าเริ่มเป็นมาตั้งแต่ต้นรัชกาลที่ ๔ แล้ว
จะเห็นได้จากความเป็นไปของวัดชนะสงครามซึ่งเป็นวัดรามัญที่เป็นพระอารามหลวง
และเป็นที่สถิตของเจ้าคณะใหญ่ฝ่ายรามัญมาหลายรูปเป็นตัวอย่าง
ซึ่งก็ได้กลายเป็นวัดพระสงฆ์ไทยไป เพราะมีพระสงฆ์ไทยมากกว่าพระสงฆ์รามัญ

  • การศึกษาของพระสงฆ์รามัญ

พระสงฆ์รามัญก็มีการเรียนการสอบพระปริยัติธรรมเช่นเดียวกับพระสงฆ์ไทย
แต่ใช้หลักสูตรอีกแบบหนึ่งต่างหากจากของไทย
และยังไม่มีหลักฐานแน่นอนว่าหลักสูตรเปรียญรามัญนี้
กำหนดขึ้นโดยอนุโลมตามหลักสูตรที่เคยใช้อยู่ในรามัญประเทศแต่โบราณหรือมา
กำหนดขึ้นใหม่ในประเทศไทย
หนังสือที่ใช้เป็นแบบเรียนและใช้สอบก็ใช้แต่คัมภีร์พระวินัยปิฎก
เพราะการศึกษาของพระสงฆ์รามัญถือพระวินัยเป็นหลักสำคัญ
กำหนดขั้นของการสอบเปรียญรามัญแต่เดิมมี ๓ ประโยค ภายหลังเพิ่มประโยค ๔
ขึ้นอีกประโยคหนึ่งรวมเป็น ๔ ประโยคคือ

ประโยค ๑ สอบคัมภีร์อาทิกรรม หรือ ปาจิตตีย์
แล้วแต่นักเรียนจะเลือก เข้าใจว่าแต่เดิมถ้าแปลได้ประโยค ๑
ก็ได้เป็นเปรียญ ครั้นตั้งประโยค ๔ ขึ้นจึงกำหนดว่า ต้องสอบประโยค ๒
ได้ด้วย จึงนับว่าเป็นเปรียญ
ประโยค ๒ สอบคัมภีร์มหาวรรค หรือ จุลวรรค แล้วแต่นักเรียนจะเลือก สอบได้นับว่าเป็นเปรียญจัตวา เหมือนเปรียญไทย ๓ ประโยค
ประโยค ๓ สอบคัมภีร์บาลีมุตตกวินัยวินิจฉัยสังคหะ เรียกกันโดยย่อว่าบาลีมุต สอบได้เป็นเปรียญตรี เสมอเปรียญไทย ๔ ประโยค
ประโยค ๔ สอบคัมภีร์ปฐมสมันตปาสาทิกา สอบได้เป็นเปรียญโทเสมอเปรียญไทย ๕ ประโยค
สันนิษฐานได้ว่าการศึกษาและการสอบพระปริยัติธรรมของพระสงฆ์รามัญคงจะมีมา
ตั้งแต่สมัยอยุธยาแล้ว
เพราะคณะสงฆ์รามัญได้มาตั้งเป็นหลักฐานมั่นคงในประเทศไทย
และมีเจ้าคณะใหญ่ปกครองมาตั้งแต่สมัยอยุธยา และที่แน่นอนคือ
มีการสอบเปรียญรามัญในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ดังปรากฏว่า
พระรามัญมุนี (ยิ้ม) เจ้าอาวาสวัดบวรมงคล รูปที่ ๓ ได้เป็นเปรียญรามัญ ๔
ประโยค ในสมัยรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

ในการสอบพระปริยัติธรรมของพระสงฆ์รามัญนั้น
จะมีพระเถระของทั้งสองฝ่าย คือ ฝ่ายรามัญและฝ่ายไทยร่วมประชุมเป็นกรรมการ
ฟังการแปลของพระผู้สอบ
พระผู้สอบจะแปลประโยคในคัมภีร์ตามที่ตนจับสลากได้เป็นภาษารามัญ
เมื่อมีศัพท์อะไรที่แปลก
กรรมการฝ่ายไทยจึงจะทักและให้กรรมการฝ่ายรามัญเป็นล่ามแปลความหมายของคำที่
พระผู้สอบตอบนั้นให้กรรมการฝ่ายไทยฟังว่าถูกต้องหรือไม่
เมื่อแปลเป็นภาษารามัญไปจนจบประโยคแล้ว
พระผู้สอบก็ต้องบอกสัมพันธ์มคธให้กรรมการฝ่ายไทยฟังอีกรอบหนึ่ง
เพื่อจะได้ทราบว่าที่พระผู้สอบแปลเป็นภาษารามัญไปนั้นถูกต้องตามความเกี่ยว
เนื่องของศัพท์ต่าง ๆ ในประโยคที่แปลนั้นหรือไม่
เมื่อถูกต้องก็เป็นอันตัดสินว่าสอบได้ประโยคนั้น

วิธีการสอบดังกล่าวได้ใช้มานานจนตลอดสมัยรัชกาลที่ ๕
จึงเลิกไปด้วยเหตุที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
ผู้ดำรงตำแหน่งสกลมหาสังฆปรินายกได้ทรงมีพระราชปรารภว่า
การเล่าเรียนของภิกษุสามเณรรามัญเสื่อมลง
พระราชาคณะเปรียญรามัญก็มีน้อยรูปและไม่มีความรู้ความสามารถพอที่จะสอบความ
รู้ของพวกรามัญได้ เพียงแต่ใช้เป็นล่ามแปลเท่านั้น
การอนุญาตให้แปลเป็นภาษารามัญก็ไม่ได้เป็นการเพิ่มพูนความรู้แก่พวกรามัญเลย
และยังเป็นเหตุให้พวกรามัญไม่เอาใจใส่ภาษาประจำชาติคือภาษาไทย
นอกจากนี้พวกรามัญเองก็ไม่สามารถบำรุงความรู้ปริยัติธรรมของตนให้เจริญ
ครั้นฝ่ายไทยจะช่วยบำรุงก็มีอุปสรรคที่ไม่รู้ภาษารามัญ 
ดังนั้นสมเด็จพระมหา สมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
จึงทรงให้ยกเลิกการสอบพระปริยัติธรรมแบบรามัญใน พ.ศ.๒๔๕๔
และให้พระภิกษุสามเณรรามัญหันมาศึกษาเล่าเรียนตามแบบไทยโดยใช้หลักสูตรเดียว
กับพระสงฆ์ไทย

ราชทินนามพระราชาคณะและพระครูฝ่ายรามัญซึ่งมีมาแต่โบราณ
๑. พระสุเมธาจารย์(เดิมเป็น พระมหาสุเมธาจารย์) เจ้าคณะใหญ่ฝ่ายรามัญ
๒. พระคุณวงศ์ (เดิมเป็น พระกูลวงษ์) เจ้าคณะรองฝ่ายรามัญ
๓. พระไตรสรณธัช
๔. พระอริยธัช
๕. พระธรรมวิสารท
๖. พระอุดมญาณ
๗. พระสุเมธมุนี (เดิมเป็น พระสุเมธน้อย)
๘. พระรามัญมุนี
๙. พระรามัญมหาเถร
๑๐. พระอุดมวิจารณ์
๑๑. พระครูอินทมุนี
๑๒. พระครูวิสุทธิวงศ์
๑๓. พระครูอินทเขมา
๑๔. พระครูรามัญสมณคุต
๑๕. พระครูสาครคุณาธาร
๑๖. พระครูรามาธิบดี
๑๗. พระครูรามัญญาธิบดี
๑๘. พระครูโวทานสมณคุต
๑๙. พระครูราชสังวร
๒๐. พระครูสุนทรวิลาส
๒๑. พระครูราชปริต
๒๒. พระครูสิทธิเตชะ
๒๓. พระครูวิสุทธิศีล
๒๔. พระครูธรรมลิขิต
๒๕. พระครูอุดมวงศ์
๒๖. พระครูวิเชียรมุนี
๒๗. พระครูนิโรธมุนี
๒๘. พระครูธรรมวิจารณ์
๒๙. พระครูอมราธิบดี
๓๐. พระครูปัญญารัตน์
๓๑. พระครูปิฎกธร
๓๒. พระครูอุตโมรุวงศ์ หรือ พระครูอุตโมรุวงศ์ธาดา
๓๓. พระครูนันทมุนี
๓๔. พระครูวินัยธรรม

แหล่งข้อมูล  หนังสืองานพระราชทานเพลิงศพ พระครูสิทธิเตชะ  วัดชนะสงคราม