วินัยชาวพุทธ- พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต)

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
16/03/2008
ที่มา: 
http://www.dhammajak.net/book/dhamma5
วินัยชาวพุทธ

คำนำ

            ปัจจุบันนี้ คนที่เรียกตัวว่าเป็นชาวพุทธโดยมาก เหมือนเป็นคนไม่มีหลัก ดังจะมีลัทธิว่า ชาวพุทธเป็นคนอิสระเสรี จะเชื่อถือหรือประพฤติตัวอย่างไรก็ได้

            แท้จริงนั้น การที่จะเป็นอะไรหรือเรียกชื่อว่าอย่างไร ก็ต้องมีหลักเกณฑ์ สำหรับเป็นเครื่องกำหนด หรือเป็นมาตรฐาน ดังในหมู่พุทธบริษัทเอง พระภิกษุสงฆ์ก็มีพระธรรมวินัยเป็นมาตรฐาน เริ่มแต่มีศีลเป็นเครื่องกำกับความเป็นอยู่ภายนอก

            ส่วนในฝ่ายคฤหัสถ์ อุบาสกอุบาสิกาก็มีคุณสมบัติและข้อปฏิบัติที่เป็นเครื่องกำหนดเช่นเดียวกัน แต่คงจะเป็นเพราะความเปลี่ยนแปลงในสังคม ทำให้วิถีชีวิตของชาวพุทธผันแปรไป ห่างเหินจากหลักพระศาสนา จนเหมือนว่าไม่รู้จักตัวเอง

            โดยปรารภสภาพเสื่อมโทรมเช่นนั้น จึงได้รวบรวมข้อธรรมที่เป็นหลักในการดำเนินชีวิต สำหรับพุทธศาสนิกชนทั่วไปขึ้นมา เรียกว่า "คู่มือดำเนินชีวิต" ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนเป็นชื่อปัจจุบันว่า ธรรมนูญชีวิต

            อย่างไรก็ตาม หลักธรรมในธรรมนูญชีวิตนั้น ยังมากหลากหลาย ต่อมาจึงได้ยกเฉพาะส่วนที่เป็นแบบแผนของชีวิต คือ "คิหิวินัย" ออกมาย้ำเน้น โดยเริ่มฝากแก่นวกภิกษุในคราวลาสิกขา เพื่อให้ช่วยกันนำไปปฏิบัติเป็นหลัก และเผยแพร่แนะนำผู้อื่น ตั้งแต่ครอบครัวเป็นต้นไป ในการที่จะสร้างสรรค์สังคมชาวพุทธไทย ให้เจริญงอกงามมีสันติสุขสืบไป

            จากนั้นก็ได้เรียบเรียงหลัก "คิหิวินัย" นี้ พิมพ์รวมไว้เป็นส่วนต้นของ ธรรมนูญชีวิต ตั้งชื่อว่า มาตรฐานชีวิตของชาวพุทธ

            "คิหิวินัย" คือ วินัยของคฤหัสถ์ หรือ วินัยชาวบ้าน นี้ เป็นชุดคำสอนเดิม ที่พระพุทธเจ้าตรัสแสดงไว้ใน สิงคาลหสูตร และพระอรรคกถาจารย์ได้สรุปไว้ท้ายคำอธิบายว่า "พระสูตรนี้ ชื่อว่าคิหิวินัย" บ่งชัดถึงความสำคัญของพระสูตรนี้ พร้อมกับเป็นหลักฐานบ่งชี้ว่า ชาวพุทธฝ่ายคฤหัสถ์ก็มีข้อปฏิบัติที่เป็นแบบแผนแห่งชีวิตและสังคมของตน

            เวลานี้ สังคมยิ่งเสื่อมถอย ก้าวลึกลงไปในปลักหล่มแห่งอบายมากยิ่งขึ้น ถ้าจะให้สังคมมีอนาคตที่ควรหวัง ก็ถึงเวลาที่จะต้องลุกขึ้นมาเร่งรื้อฟื้นหลัก "คิหิวินัย" ขึ้นมา ให้เป็นแบบแผนแห่งชีวิตและสังคมชาวพุทธ ถ้าคนไทยตั้งตนอยู่ในคิหิวินัย ก็มั่นใจได้ว่าสังคมไทยจะไม่เพียงฟื้นตัวขึ้นจากวิกฤตเท่านั้น แต่จะก้าวหน้าไปในวิวัฒน์ได้อย่างแน่นอน

            บัดนี้ มองเห็นว่า คิหิวินัย ที่จัดไว้เป็นส่วนต้นของ ธรรมนูญชีวิต ในชื่อว่า "มาตรฐานชีวิตของชาวพุทธ" นั้น รวมอยู่ในหนังสือใหญ่ ยังไม่เด่นเป็นจุดเน้นเท่าที่ควร และเผยแพร่ให้ทั่วถึงได้ยาก จึงนำมาปรับสำนวนให้ง่ายลงอีก แยกพิมพ์เป็นเล่มเล็กต่างหาก และตั้งชื่อใหม่ว่า "วินัยชาวพุทธ"

            หวังว่า การพิมพ์ วินัยชาวพุทธ กล่าวคือคิหิวินัย เล่มนี้ จะสัมฤทธิ์วัตถุประสงค์ที่สัมพันธ์กับธรรมนูญชีวิต กล่าวคือหวังจะให้พุทธศาสนิกชนใช้ "วินัยชาวพุทธ" เป็นเกณฑ์มาตรฐานสำหรับกำกับและตรวจสอบการดำเนินชีวิตของตน แล้วก้าวสู่คุณสมบัติและข้อปฏิบัติใน "ธรรมนูญชีวิต" เพื่อดำเนินให้ดีงาม ประสบความสำเร็จ และเป็นประโยชน์ยิ่งขึ้นจนถึงความสมบูรณ์ ให้ชีวิตและสังคมบรรลุจุดหมาย ที่เปี่ยมพร้อมทั้งด้วยอามิสไพบูลย์ และธรรมไพบูลย์ อย่างยั่งยืนนาน

พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต)
๗ กันยายน ๒๕๔๓

 

หมวดหนึ่ง
วางฐานชีวิตให้มั่น

            ชาวพุทธจะต้องดำเนินชีวิตที่ดีงาม และร่วมสร้างสรรค์สังคมให้เจริญมั่นคง ตามหลัก วินัยของคฤหัสถ์ (คิหิวินัย) ดังนี้

กฎ ๑ : เว้นชั่ว ๑๔ ประการ
ก. เว้นกรรมกิเลส (บาปกรรมที่ทำให้ชีวิตมัวหมอง) ๔ คือ
            ๑. ไม่ทำร้ายร่างกายทำลายชีวิต (เว้นปาณาติบาติ)
            ๒. ไม่ลักทรัพย์ละเมิดกรรมสิทธิ์ (เว้นอทินนาทาน)
            ๓. ไม่ประพฤติผิดทางเพศ (เว้นกาเมสุมิจฉาจาร)
            ๔. ไม่พูดเท็จโกหกหลอกลวง (เว้นมุสาวาท)

ข. เว้นอคติ (ความลำเอียง/ประพฤติคลาดธรรม) ๔ คือ
            ๑. ไม่ลำเอียงเพราะชอบ (เว้นฉันทาคติ)
            ๒. ไม่ลำเอียงเพราะชัง (เว้นโทสาคติ)
            ๓. ไม่ลำเอียงเพราะขลาด (เว้นภยาคติ)
            ๔. ไม่ลำเอียงเพราะเขลา (เว้นโมหาคติ)

ค. เว้นอบายมุข (ช่องทางเสื่อมทรัพย์อับชีวิต) ๖ คือ
            ๑. ไม่เสพติดสุรายาเมา
            ๒. ไม่เอาแต่เที่ยวไม่รู้เวลา
            ๓. ไม่จ้องหาแต่รายการบันเทิง
            ๔. ไม่เหลิงไปหาการพนัน
            ๕. ไม่พัวพันมั่วสุมมิตรชั่ว
            ๖. ไม่มัวจมอยู่ในความเกียจคร้าน

กฎ ๒ : เตรียมทุนชีวิต ๒ ด้าน
ก. เลือกสรรคนที่จะเสวนา คบคนที่จะนำชีวิตไปในทางแห่งความเจริญและสร้างสรรค์ โดยหลีกเว้นมิตรเทียม คบหาแต่มิตรแท้ คือ

๑. รู้ทันมิตรเทียม คือ ศัตรูผู้มาในร่างมิตร (มิตรปฏิรูปก์) ๔ ประเภท
             ๑) คนปอกลอก มีแต่ขนเอาของเพื่อนไป มีลักษณะ ๔
                        (๑) คิดเอาแต่ได้ฝ่ายเดียว
                        (๒) ยอมเสียน้อย โดยหวังจะเอาให้มาก
                        (๓) ตัวมีภัย จึงมาช่วยทำกิจของเพื่อน
                        (๔) คบเพื่อน เพราะเห็นแก่ผลประโยชน์

            ๒) คนดีแต่พูด มีลักษณะ ๔
                        (๑) ดีแต่ยกของหมดแล้วมาปราศรัย
                        (๒) ดีแต่อ้างของยังไม่มีมาปราศรัย
                        (๓) สงเคราะห์ด้วยสิ่งที่หาประโยชน์มิได้
                        (๔) เมื่อเพื่อนมีกิจ อ้างแต่เหตุขัดข้อง

            ๓) คนหัวประจบ มีลักษณะ ๔
                        (๑) จะทำชั่วก็เออออ
                        (๒) จะทำดีก็เออออ
                        (๓) ต่อหน้าสรรเสริญ
                        (๔) ลักหลังนินทา

            ๔) คนชวนฉิบหาย มีลักษณะ ๔
                        (๑) คอยเป็นเพื่อนดื่มน้ำเมา
                        (๒) คอยเป็นเพื่อนเที่ยวกลางคืน
                        (๓) คอยเป็นเพื่อนเที่ยวดูการเล่น
                        (๔) คอยเป็นเพื่อนไปเล่นการพนัน

๒. รู้ถึงมิตรแท้ หรือ มิตรด้วยใจจริง (สุหทมิตร) ๔ ประเภท
             ๑) มิตรอุปการะ มีลักษณะ ๔
                        (๑) เพื่อนประมาท ช่วยรักษาเพื่อน
                        (๒) เพื่อนประมาท ช่วยรักษาทรัพย์สินของเพื่อน
                        (๓) เมื่อมีภัย เป็นที่พึ่งพำนักได้
                        (๔) มีกิจจำเป็น ช่วยออกทรัพย์ให้เกินกว่าที่ออกปาก

            ๒) มิตรร่วมสุขร่วมทุกข์ มีลักษณะ ๔
                        (๑) บอกความลับแก่เพื่อน
                        (๒) รักษาความลับของเพื่อน
                        (๓) มีภัยอันตราย ไม่ละทิ้ง
                        (๔) แม้ชีวิตก็สละให้ได้

            ๓) มิตรแนะนำประโยชน์ มีลักษณะ ๔
                        (๑) จะทำชั่วเสียหาย คอยห้ามปรามไว้
                        (๒) แนะนำสนับสนุนให้ตั้งอยู่ในความดี
                        (๓) ให้ได้ฟังได้รู้สิ่งที่ไม่เคยได้รู้ได้ฟัง
                        (๔) บอกทางสุขทางสวรรค์ให้

            ๔) มิตรมีใจรัก มีลักษณะ ๔
                        (๑) เพื่อนมีทุกข์ พลอยไม่สบายใจ (ทุกข์ ทุกข์ด้วย)
                        (๒) เพื่อนมีสุข พลอยแช่มชื่นยินดี (สุข สุขด้วย)
                        (๓) เขาติเตียนเพื่อน ช่วยยับยั้งแก้ให้
                        (๔) เขาสรรเสริญเพื่อน ช่วยพูดเสริมสนับสนุน

ข. จัดสรรทรัพย์ที่หามาได้ ด้วยสัมมาชีพ ดังนี้
            ขั้นที่ ๑ ขยันหมั่นทำงานเก็บออมทรัพย์ ดังผึ้งเก็บรวมน้ำหวานและเกสร
            ขั้นที่ ๒ เมื่อทรัพย์เก็บก่อขึ้นดังจอมปลวก พึงวางแผนใช้จ่าย
                        - ๑ ส่วน เลี้ยงตัว เลี้ยงครอบครัว ดูแลคนเกี่ยวข้อง ทำความดี
                        - ๒ ส่วน ใช้ทำหน้าที่การงานประกอบกิจการอาชีพ
                        - ๑ ส่วน เก็บไว้เป็นหลักประกันชีวิตและกิจการคราวจำเป็น


กฎ ๓ : รักษาความสัมพันธ์ ๖ ทิศ
ก. ทำทุกทิศให้เกษมสันต์ ปฏิบัติหน้าที่ต่อบุคคลที่สัมพันธ์กับตนให้ถูกต้องตามฐานะทั้ง ๖ คือ ทิศที่ ๑ ในฐานะที่เป็นบุตรธิดา พึงเคารพบิดามารดา ผู้เปรียบเสมือนทิศเบื้องหน้า ดังนี้
            ๑. ท่านเลี้ยงเรามาแล้ว เลี้ยงท่านตอบ
            ๒. ช่วยทำกิจธุระการงานของท่าน
            ๓. ดำรงวงศ์สกุล
            ๔. ประพฤติตนให้เหมาะสมกับความเป็นทายาท
            ๕. เมื่อท่านล่วงลับไปแล้ว ทำบุญอุทิศให้ท่าน

บิดามารดาอนุเคราะห์บุตรธิดา ตามหลักปฏิบัติดังนี้
            ๑. ห้ามปรามป้องกันจากความชั่ว
            ๒. ดูแลฝึกอบรมให้ตั้งอยู่ในความดี
            ๓. ให้ศึกษาศิลปวิทยา
            ๔. เป็นธุระเมื่อถึงคราวจะมีคู่ครองที่สมควร
            ๕. มอบทรัพย์สมบัติให้เมื่อถึงโอกาส

ทิศที่ ๒ ในฐานะที่เป็นศิษย์ พึงแสดงความเคารพนับถือครูอาจารย์ ผู้เปรียบเสมือน ทิศเบื้องขวา ดังนี้
            ๑. ลุกต้อนรับ แสดงความเคารพ
            ๒. เข้าไปหา เพื่อบำรุง รับใช้ ปรึกษา ซักถาม รับคำแนะนำ เป็นต้น
            ๓. ฟังด้วยดี ฟังเป็น รู้จักฟังให้เกิดปัญญา
            ๔. ปรนนิบัติ ช่วยบริการ
            ๕. เรียนศิลปวิทยาโดยเคารพ เอาจริงเอาจังถือเป็นกิจสำคัญ

อาจารย์อนุเคราะห์ศิษย์ ตามหลักปฏิบัติดังนี้
            ๑. แนะนำฝึกอบรมให้เป็นคนดี
            ๒. สอนให้เข้าใจแจ่มแจ้ง
            ๓. สอนศิลปวิทยาให้สิ้นเชิง
            ๔. ส่งเสริมยกย่องความดีงามความสามารถให้ปรากฏ
            ๕. สร้างเครื่องคุ้มภัยในสารทิศ คือ สอนฝึกศิษย์ให้ใช้วิชชาเลี้ยงชีพได้จริง และรู้จักดำรงตนด้วยดี ที่จะเป็นประกันให้ดำเนินชีวิตดีงามโดยสวัสดี มีความสุขความเจริญ

ทิศที่ ๓ ในฐานะที่เป็นสามี พึงให้เกียรติบำรุงภรรยา ผู้เปรียบเสมือนทิศเบื้องหลัง ดังนี้
            ๑. ยกย่องให้เกียรติสมฐานะที่เป็นภรรยา
            ๒. ไม่ดูหมิ่น
            ๓. ไม่นอกใจ
            ๔. มอบความเป็นใหญ่ในงานบ้าน
            ๕. หาเครื่องแต่งตัวมาให้เป็นของขวัญตามโอกาส

ภรรยาอนุเคราะห์สามี ตามหลักปฏิบัติดังนี้
            ๑. จัดงานบ้านให้เรียบร้อย
            ๒. สงเคราะห์ญาติมิตรทั้งสองฝ่ายด้วยดี
            ๓. ไม่นอกใจ
            ๔. รักษาทรัพย์สมบัติที่หามาได้
            ๕. ขยัน ช่างจัดช่างทำ เอางานทุกอย่าง

ทิศที่ ๔ ในฐานะที่เป็นมิตรสหาย พึงปฏิบัติต่อมิตรสหาย ผู้เปรียบเสมือน ทิศเบื้องซ้าย ดังนี้
            ๑. เผื่อแผ่แบ่งปัน
            ๒. พูดจามีน้ำใจ
            ๓. ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน
            ๔. มีตนเสมอ ร่วมสุขร่วมทุกข์ด้วย
            ๕. ซื่อสัตย์จริงใจ

มิตรสหายอนุเคราะห์ตอบ ตามหลักปฏิบัติดังนี้
            ๑. เมื่อเพื่อนประมาท ช่วยรักษาป้องกัน
            ๒. เมื่อเพื่อนประมาท ช่วยรักษาทรัพย์สมบัติของเพื่อน
            ๓. ในคราวมีภัย เป็นที่พึ่งได้
            ๔. ไม่ละทิ้งในยามทุกข์ยาก
            ๕. นับถือตลอดถึงวงศ์ญาติของมิตร

ทิศที่ ๕ ในฐานที่เป็นนายจ้าง พึงบำรุงคนรับใช้ และคนงานผู้เปรียบเสมือน ทิศเบื้องล่าง ดังนี้
            ๑. จัดงานให้ทำตามความเหมาะสมกับกำลัง เพศ วัย ความสามารถ
            ๒. ให้ค่าจ้างรางวัลสมควรแก่งานและความเป็นอยู่
            ๓. จัดสวัสดีการดี มีช่วยรักษาพยาบาลในยามเจ็บไข้ เป็นต้น
            ๔. มีอะไรได้พิเศษมา ก็แบ่งปันให้
            ๕. ให้มีวันหยุด และพักผ่อนหย่อนใจ ตามโอกาสอันควร

คนรับใช้และคนงาน แสดงน้ำใจต่อนายงาน ดังนี้
            ๑. เริ่มทำงานก่อน
            ๒. เลิกงานทีหลัง
            ๓. เอาแต่ของที่นายให้
            ๔. ทำการงานให้เรียบร้อยและดียิ่งขึ้น
            ๕. นำความดีของนายงานและกิจการไปเผยแพร่

ทิศที่ ๖ ในฐานะที่เป็นพุทธศาสนิกชน พึงแสดงความเคารพนับถือต่อพระสงฆ์ ผู้เปรียบเสมือน ทิศเบื้องบน ดังนี้
            ๑. จะทำสิ่งใด ก็ทำด้วยเมตตา
            ๒. จะพูดสิ่งใด ก็พูดด้วยเมตตา
            ๓. จะคิดสิ่งใด ก็คิดด้วยเมตตา
            ๔. ต้อนรับด้วยความเต็มใจ
            ๕. อุปถัมภ์ด้วยปัจจัย ๔

พระสงฆ์อนุเคราะห์คฤหัสถ์ ตามหลักปฏิบัติดังนี้
            ๑. ห้ามปรามสอนให้เว้นจากความชั่ว
            ๒. แนะนำสั่งสอนให้ตั้งอยู่ในความดี
            ๓. อนุเคราะห์ด้วยความปรารถนาดี
            ๔. ให้ได้ฟังได้รู้สิ่งที่ยังไม่เคยรู้ไม่เคยฟัง
            ๕. ชี้แจงอธิบายทำสิ่งที่เคยฟังแล้วให้เข้าใจแจ่มแจ้ง
            ๖. บอกทางสวรรค์ สอนวิธีดำเนินชีวิตให้มีความสุขความเจริญ

ข. เกื้อกูลกันประสานสังคม ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ร่วมสร้างสรรค์สังคมให้สงบสุขมั่นคงสามัคคีมีเอกภาพ ด้วยสังคหวัตถุ ๔ คือ
            ๑. ทาน เผื่อแผ่แบ่งปัน (ช่วยด้วยเงินด้วยของ)
            ๒. ปิยวาจา พูดอย่างรักกัน (ช่วยด้วยถ้อยคำ)
            ๓. อัตถจริยา ทำประโยชน์แก่เขา (ช่วยด้วยกำลังแรงงาน)
            ๔. สมานัตตตา เอาตัวเข้าสมาน (ช่วยด้วยร่วมสร้างสรรค์และแก้ปัญหา เสมอกันโดยธรรม และร่วมสุขร่วมทุกข์กัน)

 

หมวดสอง
นำชีวิตให้ถึงจุดหมาย

ก. จุดหมาย ๓ ชั้น ดำเนินชีวิตให้บรรลุจุดหมาย (อัตถะ) ๓ ขั้น คือ
ขั้นที่ ๑ ทิฏฐธัมมิกัตถะ จุดหมายขั้นตาเห็น หรือ ประโยชน์ปัจจุบัน
           ก) มีสุขภาพดี ร่างกายแข็งแรง ไร้โรค อายุยืน
           ข) มีเงินมีงาน มีอาชีพสุจริต พึ่งตนเองได้ทางเศรษฐกิจ
           ค) มีสถานภาพดี เป็นที่ยอมรับนับถือในสังคม
           ง) มีครอบครัวผาสุก ทำวงศ์ตระกูลให้เป็นที่นับถือ
           ทั้ง ๔ นี้ พึงให้เกิดมีโดยธรรม และใช้ให้เป็นประโยชน์ ทั้งแก่ตนและผู้อื่น

ขั้นที่ ๒ สัมปรายิกัตถะ จุดหมายขั้นเลยตาเห็น หรือ ประโยชน์เบื้องหน้า
           ก) มีความอบอุ่นซาบซึ้งสุขใจ ไม่อ้างว้างเลื่อนลอย มีหลักยึดเหนี่ยวใจให้เข้มแข็ง ด้วยศรัทธา
           ข) มีความภูมิใจ ในชีวิตสะอาด ที่ได้ประพฤติแต่การอันดีงามด้วยความสุจริต
           ค) มีความอิ่มใจ ในชีวิตมีคุณค่า ที่ได้ทำประโยชน์ตลอดมาด้วยน้ำใจเสียสละ
           ง) มีความแกล้วกล้ามั่นใจ ที่จะแก้ไขปัญหา นำชีวิตและภารกิจไปได้ ด้วยปัญญา
           จ) มีความโล่งจิตมั่นใจ มีทุนประกันภพใหม่ ด้วยได้ทำไว้แต่กรรมที่ดี

ขั้นที่ ๓ ปรมัตถะ จุดหมายสูงสุด หรือ ประโยชน์อย่างยิ่ง
           ก) ถึงถูกโลกธรรมกระทบ ถึงจะพบความผันผวนปรวนแปรก็ไม่หวั่นไหว มีใจเกษมศานต์มั่นคง
           ข) ไม่ถูกความยึดติดถือมั่นบีบคั้นจิต ให้ผิดหวังโศกเศร้า มีจิตโล่งโปร่งเบาเป็นอิสระ
           ค) สดชื่อ เบิกบานใจ ไม่ขุ่นมัวเศร้าหมอง ผ่องใส ไร้ทุกข์ มีความสุขที่แท้
           ง) รู้เท่าทันและทำการตรงตามเหตุปัจจัย ชีวิตหมดจดสดใสเป็นอยู่ด้วยปัญญา
           ถ้าบรรลุจุดหมายชีวิตถึงขั้นที่ ๒ ขึ้นไป เรียกว่าเป็น “บัณฑิต”

ข. จุดหมาย ๓ ด้าน จุดหมาย ๓ ขั้นนี้ พึงปฏิบัติให้สำเร็จครบ ๓ ด้าน คือ
           ด้านที่ ๑ อัตตัตถะ จุดหมายเพื่อตน หรือ ประโยชน์เพื่อตน คือ ประโยชน์ ๓ ขั้นข้างต้น ซึ่งพึงทำให้เกิดขึ้นแก่ตนเองหรือพัฒนาชีวิตของตนขึ้นไปให้ได้ให้ถึง
           ด้านที่ ๒ ปรัตถะ จุดหมายเพื่อผู้อื่น หรือ ประโยชน์ผู้อื่น คือ ประโยชน์ ๓ ขั้นข้างต้น ซึ่งพึงช่วยเหลือผู้อื่นให้ได้ให้ถึงด้วยการชักนำสนับสนุนให้เขาพัฒนาชีวิตของตนขึ้นไปตามลำดับ
           ด้านที่ ๓ อุภยัตถะ จุดหมายร่วมกัน หรือ ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย คือ ประโยชน์สุขและความดีงามร่วมกันของชุมชนหรือสังคม รวมทั้งสภาพแวดล้อมและปัจจัยต่าง ๆ ซึ่งพึงช่วยกันสร้างสรรค์ บำรุงรักษา เพื่อเกื้อหนุนให้ทั้งตนและผู้อื่นก้าวไปสู่จุดหมาย ๓ ขั้นข้างต้น

ชาวพุทธชั้นนำ

            ชาวพุทธที่เรียกว่า อุบาสก อุบาสิกา นับว่าเป็นชาวพุทธชั้นนำจะต้องมีความเข้มแข็งที่จะตั้งมั่นอยู่ในหลัก ให้เป็นตัวอย่างแก่ชาวพุทธทั่วไป นอกจากรักษา วินัยชาวพุทธ แล้ว ต้องมี อุบาสกธรรม ๕ ดังนี้

            ๑. มีศรัทธา เชื่อประกอบด้วยปัญญา ไม่งมงาย มั่นในพระรัตนตรัย ไม่หวั่นไหว ไม่แกว่งไกว ถือธรรมเป็นใหญ่และสูงสุด

            ๒. มีศีล นอกจากตั้งอยู่ในศีล ๕ และสัมมาชีพแล้ว ควรถือศีลอุโบสถตามกาล เพื่อพัฒนาตนให้ชีวิตและความสุขพึ่งพาวัตถุน้อยลง ลดการเบียดเบียน และเกื้อกูลแก่ผู้อื่นได้มากขึ้น

            ๓. ไม่ถือมงคลตื่นข่าว เชื่อกรรม มุ่งหวังผลจากการกระทำด้วยเรี่ยวแรงความเพียรพยายามตามเหตุผล ไม่ตื่นข่าวเล่าลือโชคลางเรื่องขลังมงคล ไม่หวังผลจากการขออำนาจดลบันดาล

            ๔. ไม่แสวงหาพาหิรทักขิไณย์ ไม่ไขว่คว้าเขตบุญขุนขลังผู้วิเศษศักดิ์สิทธิ์ นอกหลักพระพุทธศาสนา

            ๕. ขวนขวายในการทะนุบำรุงพระพุทธศาสนา ใส่ใจริเริ่มและสนับสนุนกิจกรรมการกุศล ตามหลักคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

หมายเหตุ :
- วินัยชาวพุทธ นี้ ปรับให้ง่ายขึ้น ณ ๑๐ ส.ค. ๒๕๔๓ จาก “ภาค ๑ : มาตรฐานชีวิตของชาวพุทธ” ในหนังสือ ธรรมนูญชีวิต ฉบับปรับปรุง พ.ศ. ๒๕๔๐ เมื่อเสร็จแล้ว ได้ขอให้ดร.สมศีล ฌานวังศะ ปรับปรุงคำแปลภาษาอังกฤษฉบับเดิม ให้ตรงตามฉบับปรับปรุงนี้
- วินัยของคฤหัสถ์ คือ คิหิวินัย ได้แก่พระพุทธโอวาทในสิงคาลกสูตร พระไตรปิฎก เล่ม ๑๑ (ที.ปา๑๑/๑๗๒–๒๐๖/๑๙๔–๒๐๗)
- “อุบาสกธรรม ๕“ มาในพระไตรปิฎก เล่ม ๒๒ (องฺ ปญฺจก. ๒๒/๑

 

คำอาราธนา-คำถวายทาน

คำอาราธนาศีล ๕

            มะหัง ภันเต, วิสุง วิสุง รักขะณัตถายะ, ติสะระเณนะ สะหะ, ปัญจะ สีลานิ ยาจามะ.
ทุติยัมปิ ... (เหมือนข้างบน)
ตะติยัมปิ ... (เหมือนข้างบน)

(ถ้าคนเดียว เปลี่ยน มะยัง เป็น อะหัง และ ยาจามะ เป็น ยาจามิ)

คำสมาทานศีล ๕
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะฯ (๓ จบ)
พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ
ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ
สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ

ทุติยัมปิ พุทธัง ... ทุติยัมปิ ธัมมัง ... ทุติยัมปิ สังฆัง ...
ตะติยัมปิ พุทธัง ... ตะติยัมปิ ธัมมัง ... ตะติยัมปิ สังฆัง ...

๑. ปาณาติปาตา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ.
๒. อะทินนาทานา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ.
๓. กาเมสุมิจฉาจารา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ.
๔. มุสาวาทา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ.
๕. สุราเมระยะมัชชะปะมาทัฏฐานา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ.

..............................

คำสมาทานศีล ๘

(คำอาราธนาศีล ๘ เหมือน ศีล ๕ เปลี่ยนเฉพาะ ปัญจะ เป็น อัฏฐะ)
ตั้ง นะโม และรับ สรณคมน์ เหมือนคำสมาทานศีล ๕

๑. ปาณาติปาตา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ.
๒. อะทินนาทานา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ.
๓. อะพรัหมะจะริยา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ.
๔. มุสาวาทา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ.
๕. สุราเมระยะมัชชะปะมาทัฏฐานา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ.
๖. วิภาละโภชะนา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ.
๗. นัจจะคีตะวาทิตะวิสูกะทัสสะนะมาลาคันธะวิเลปะนะธาระณะมัณฑะนะวิภูสะนัฏฐานา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ.
๘. อุจจาสะยะนะมะหาสะยะนา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ.

อิมานิ อัฏฐะ สิกขาปะทานิ สะมาทิยามิ.

คำอาราธนาอุโบสถศีล

            มะยัง ภันเต, ติสะระเณนะ สะหะ, อัฏฐังคะสะมัน นาคะตัง, อุโปสะถัง ยาจามะ.
ทุติยัมปิ ... (เหมือนข้างบน)
ตะติยัมปิ ... (เหมือนข้างบน)

คำสมาทานอุโบสถศีล

กล่าวเหมือนคำสมาทานศีล ๘ ต่างเฉพาะคำสรุป ดังนี้
อิมัง อัฏฐังคะสะมันนาคะตัง, พุทธะปัญญัตตัง อุโปสะถัง, อิมัญจะ รัตติง อิมัญจะ ทิวะสัง, สัมมะเทวะ อะภิรักขิตุง สะมาทิยามิฯ

.......................

คำอาราธนาพระปริตร

                วิปัตติปะฏิพาหายะ         สัพพะสัมปัตติสิทธิยา
                สัพพะทุกขะวินาสายะ     ปะริตตัง พฺรูถะ มังคะลัง
                วิปัตติปะฏิพาหายะ         สัพพะสัมปัตติสิทธิยา
                สัพพะภะยะวินาสายะ     ปะริตตัง พฺรูถะ มังคะลัง
                วิปัตติปะฏิพาหายะ         สัพพะสัมปัตติสิทธิยา
                สัพพะโรคะวินาสายะ     ปะริตตัง พฺรูถะ มังคะลัง.

คำอาราธนาธรรม

พฺรัหฺมา จะ โลกาธิปะตี สะหัมปะติ
กัตอัญชะลี อันธิวะรัง อะยาจะถะ
สันตีธะ สัตตาปปะระชักขะชาติกา
เทเสตุ ธัมมัง อะนุกัมปิมัง ปะชัง.

คำถวายสังฆทาน

           อิมานิ มะยัง ภันเต, ภันตานิ, สะปะริวารานิ, ภิกขุสังฆัสสะ, โอโณชะยามะ, สาธุ โน ภันเต, ภิกขุสังโฆ, อิมานิ, ภัตตานิ, สะปะริวารานิ, ปะฏิคคัณหาตุ, พุทธะสาสะนัสสะ, จิรัฏฐิติยา, เจวะ, อัมหากัญจะ, ทีฆะรัตตัง, หิตายะ, สุขายะ.

คำแปล

           ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมภวายภัตตาหาร กับทั้งบริวารเหล่านี้ แก่พระภิกษุสงฆ์ ขอพระภิกษุสงฆ์ จงรับภัตตาหาร กับทั้งบริวารเหล่านี้ ของข้าพเจ้าทั้งหลาย เพื่อความดำรงยั่งยืนนาน แห่งพระบวรพุทธศาสนา พร้อมทั้งเพื่อประโยชน์และความสุข แก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย สิ้นกาลนาน เทอญ.

คำถวายสังฆทานอุทิศผู้ตาย

           อิมานิ มะยัง ภันเต, มะตะกะภัตตานิ, สะปะริวารานิ, ภิกขุ สังฆัสสะ, โอโณชะยามะ, สาธุ โน ภันเต, ภิกขุสังโฆ, อิมานิ, มะตะกะ ภัตตานิ, สะปะริวารานิ, ปะฏิคคัณหาตุ, อัมหากัญเจวะ, มาตาปิตุ อาทีนัญจะ, ญาตะกานัง กาละกะตานัง, ทีฆะรัตตัง, หิตายะ, สุขายะ.

คำแปล

           ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวายภัตตาหารเพื่อผู้ล่วงลับไปแล้ว กับทั้งบริวารเหล่านี้ แก่พระภิกษุสงฆ์ ขอพระภิกษุสงฆ์จงรับภัตตาหารเพื่อผู้ล่วงลับไปแล้ว กับทั้งบริวารเหล่านี้ ของข้าพเจ้าทั้งหลาย เพื่อประโยชน์และความสุข แก่ข้าพเจ้าทั้งหลายด้วย แก่ญาติของข้าพเจ้าทั้งหลาย มีมารดาบิดาเป็นต้นผู้ล่วงลับไปแล้วด้วย สิ้นกาลนาน เทอญ.

คำถวายผ้าป่า

           อิมานิ มะยัง ภันเต, ปังสุกูลจีวะรานิ, สะปะริวารานิ, ภิกขุสังฆัสสะ, โอโณชะยามะ, สาธุ โน ภันเต, ภิกขุสังโฆ, อิมานิ, ปังสุกูละจีวะรานิ, สะปะริวารานิ, ปะฏิคคัณหาตุ, อัมหากัง, ทีฆะรัตตัง, หิตายะ, สุขายะ.

คำแปล

           ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลายขอน้อมถวายผ้าบังสุกุลจีวร กับทั้งบริวารเหล่านี้ แก่พระภิกษุสงฆ์ ขอพระภิกษุสงฆ์จงรับผ้าบังสุกุลจีวร กับทั้งบริวารเหล่านี้ ของข้าพเจ้าทั้งหลาย เพื่อประโยชน์และความสุข แก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย สิ้นกาลนาน เทอญ

คำกรวดน้ำอย่างสั้น

๑) แบบสั้นที่สุด อิทัง เม ญาตีนัง โหตุ.
           แปล : ขอบุญนี้ จงสำเร็จแก่ญาติทั้งหลายของข้าพเจ้าเถิด

๒) แบบกึ่งคาถา อิทัง เม ญาตีนัง โหตุ, สุขิตา โหนตุ ญาตะโย.
           แปล : ขอบุญนี้ จงสำเร็จแก่ญาติทั้งหลายของข้าพเจ้า, ขอญาติทั้งหลายจงเป็นสุขเถิด.