งานเพื่อความสุข และแก่นสารของชีวิต - พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต),

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
16/03/2008
ที่มา: 
http://www.dhammajak.net/book/dhamma2/
งานก็ได้ผล คนก็เป็นสุข
 

         การแสดงธรรมนี้ถือเป็นการคุยกันแบบสบายๆ มากกว่า คือ อย่าให้ถือเป็นเรื่องหนักอะไรเลย พอบอกว่าให้มาฟังพระแสดงธรรม เดี๋ยวก็จะนึกว่าเป็นเรื่องที่ยาก เป็นเรื่องของศัพท์วัด แล้วก็เลยอยากจะง่วง เพราะฉะนั้น ก็ขอให้ถืออย่างที่ว่าเป็นการได้มาเยี่ยมเยียนกัน เมื่อมีการเยี่ยมเยียนกันแล้วก็มาพูดคุยสนทนาปราศรัยกัน ก็เป็นทำนองนี้ และเมื่อจะเยี่ยมเยียนชนิดที่ได้มีโอกาสพบกัน ท่านก็ต้องมาอยู่ในที่ประชุมเช่นนี้เพราะมาเยี่ยมประเดี๋ยวเดียว ถ้าไม่จัดประชุมก็ได้พบกันไม่กี่คน การที่คุณโยมจัดให้แสดงธรรมอย่างนี้ก็เท่ากับว่า ทำให้มีโอกาสได้พบกับหลายๆ ท่านนั่นเอง อันนี้ก็เป็นวิธีการหนึ่ง ทีนี้เมื่อมาพบกันแล้วก็ได้คุยสนทนาปราศรัย ในฐานะที่เป็นพระจะคุยเรื่องอะไรดี ก็คุยเรื่องธรรมให้ฟัง

         สำหรับสถานที่นี้เป็นที่ทำงาน เป็นโรงงาน เมื่อเป็นโรงงานแล้วจะคุยเรื่องอะไรดี ก็น่าจะคุยกัน
“เรื่องงาน” แต่มองในแง่หนึ่ง คนที่ทำงานอยู่แล้ว บางทีก็ไม่ค่อยอยากให้พูดถึงเรื่องงาน คือ ตัวเองทำงานอยู่ก็หนักพอแล้ว พอมีคนมาเยี่ยมเยียนก็มาพูดเรื่องงานอีกแทนที่จะเอาเรื่องสนุกๆ มาคุยกันให้สบายใจ เป็นการเปลี่ยนบรรยากาศ กลับมาคุยกันเรื่องงาน เลยยิ่งแย่ใหญ่ แต่อาตมาก็นึกว่าในแง่หนึ่ง ถ้าหากว่าเราจะพูดเรื่องงานนี้แหละ แต่พูดให้มันถูกแง่มันก็ดี แล้วก็จะเป็นประโยชน์แก่ชีวิตระยะยาวด้วย

         บางทีการพูดเรื่องอื่นสลับเข้ามาก็อาจจะสนุกสนาน เป็นการเปลี่ยนบรรยากาศเฉพาะชั่วครู่ชั่วยามแล้วก็ผ่านไป แต่แล้วเราก็ต้องกลับมาทำงานของเราอีก ก็ต้องหนักต่อไปตามเดิม

ชีวิตจะสุขสันต์ ถ้าทำงานมีความสุข
 

         ที่นี้ถ้าเรามาเผชิญหน้ากับเรื่องงานเลย เอาเรื่องงานเป็นเรื่องหนัก เรื่องต้องใช้กำลัง เรื่องต้องใช้เรี่ยวแรงและต้องใช้ความคิด บางทีก็ถึงกับเครียด แต่เราก็จะพูดกันเรื่องงานนี่แหละ เป็นการเผชิญหน้ากับความจริงกันเลย มันอาจจะดีมากก็ได้ เพราะว่างานนั้นถ้าปฏิบัติให้ถูกต้องแล้ว ก็เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดผลดีระยะยาวแก่ชีวิตทั้งหมด ถ้าทำงานแล้วมีความสุข ชีวิตนี้ก็มีความสุขยาวนานมากมาย แต่ถ้าการทำงานเป็นการทนทุกข์ ชีวิตส่วนใหญ่ของเราก็จะเป็นชีวิตแห่งความทุกข์ที่ต้องทน เพราะอะไร ? เพราะว่างานเป็นกิจกรรมส่วนใหญ่ของชีวิตของเรา มันกินเวลาส่วนใหญ่ในชีวิตของเรา อย่างท่านที่อยู่ในบริษัทนี้ ก็ต้องสละเวลาให้แก่กิจการของบริษัทวันหนึ่งมากทีเดียว

         อาตมาได้เดินไปชมกิจการของบริษัท และท่านที่นำชมก็เล่าและอธิบายให้ฟัง ก็ได้ทราบว่าชาวบริษัททำงานกันนาน อย่างพนักงานที่ยืนทำงาน เท่าที่มองเห็นนั้น ท่านบอกว่าต้องยืนนาน บางทีถึง
12 ชั่วโมง นานมาก นับว่าเป็นเรื่องที่หนักที่เดียว แสดงว่างานกินเวลาของชีวิตเข้าไปตั้งครึ่งวันแล้ว วันหนึ่งมี 24 ชั่วโมง หมดไป 12 ชั่วโมงกับการยืนอย่างนั้น นอกจากนั้นยังต้องไปทำธุรกิจธุระส่วนตัว แล้วก็พักผ่อนหลับนอนเสียบ้าง เวลาในวันหนึ่งนี่เหลือจากการทำงานไม่เท่าไร และต่อจากวันทำงานแล้วก็เหลือวันพักผ่อนอีกคนละคงจะ 2 วัน ถึงแม้ว่าอาตมาจะไม่ทราบรายละเอียด แต่ก็สรุปได้ว่าเราใช้เวลาไปกับการทำงานมาก การงานครอบครองชีวิตส่วนใหญ่ของเรา เพราะฉะนั้น เราควรปฏิบัติต่อการงานให้ถูก เพื่อให้ชีวิตมีความสุขคุ้มกับเวลาที่เป็นอยู่

         คนเรานี้ต้องการให้ชีวิตมีความสุข และในการที่จะให้ชีวิตมีความสุขนั้น งานเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้ชีวิตมีความสุขได้ แต่ในเวลาที่เรามองว่างานทำให้ชีวิตมีความสุขได้นี่ เรามองกันอย่างไร ? เรามักจะมองไปที่ผลที่จะเกิดขึ้นหลังจากทำงานแล้ว คือ มองด้วยความหวังว่าหลังจากทำงานแล้วเราจะได้เงิน แล้วจะได้นำไปซื้อของต่างๆ ที่เราชอบใจ หรือไปเที่ยวที่โน่น ที่นั่น กินใช้เที่ยวเล่นแล้วเราก็จะมีความสุข เป็นการคิดหมายไปข้างหน้าในอนาคตว่า หลังจากทำงานไปแล้ว จะได้ผลของงานเป็นเงินทองที่จะนำไปใช้จ่าย แล้วก็จะมีความสุขจากการกระทำในอนาคตนั้น ไม่ได้มองที่ความสุขจากตัวงาน คือ ไม่ได้มองว่าตัวงานนั้นทำให้มีความสุข บางทีถึงกับมองว่า ตัวงานนั้นเป็นความทุกข์ไปก็มี

         บางคนไปมองว่าเวลาทำงานเราต้องอดทน ก็ทนทำมันไปทำให้มันเสร็จ แล้วเราก็จะได้รับผลตอบแทน ผลตอบแทนนั่นแหละจึงจะทำให้เรามีความสุข เราจะไปมีความสุขในอนาคตตอนโน้น ถ้าอย่างนี้ก็แสดงว่า เวลาที่เราจะมีความสุขนี้มันเหลือน้อยเพราะเวลาที่เป็นส่วนใหญ่ของชีวิตเป็นเวลาที่มีความทุกข์ ต้องทน ต้องรอความสุขที่ยังไม่มาถึง

         คนจำนวนมากจะมองเรื่องงานอย่างนี้ ซึ่งแสดงว่าแม้จะมองว่าความสุขเป็นผลที่ได้จากงานก็จริง แต่มองกันคนละจุด คือ คนทั่วไปมองจุดที่ว่า ตัวงานไม่ใช่ความสุข ต้องได้รับผลตอบแทนจากงานนั้น แล้วจึงไปหาความสุขอีกอย่างหนึ่ง อย่างนี้ก็หมายความว่าตัวงานนั้นไม่ทำให้เราเกิดความสุขโดยตรง เท่ากับเป็นการบอกว่าชีวิตของเรานั้น มีความสุขน้อยกว่าส่วนที่ต้องทุกข์ต้องทน หากว่าเรามองงานเป็นเรื่องที่ต้องทุกข์ต้องทน ก็แสดงว่าชีวิตส่วนใหญ่ ต้องทุกข์ต้องทน

         ถ้าเรามองเสียใหม่ว่าจะทำอย่างไรให้ชีวิตของเรานี้มีความสุขให้มากที่สุด ในเมื่องานเป็นชีวิตส่วนใหญ่ของเรา เราก็ต้องหาทางทำให้งานเป็นตัวที่ทำให้เกิดความสุข แล้วเวลาส่วนใหญ่ของชีวิตก็จะมีความสุข และยิ่งกว่านั้นก็คือว่า นอกจากตอนที่ทำงานจะมีความสุขไปด้วยแล้ว ยังได้รับผลตอบแทนจากการทำงานแล้วก็ไปมีความสุขอีก เป็นความสุขซ้อนอีกชั้นหนึ่ง ก็เลยสุขไปหมดสุขสองชั้น สุขตลอดเวลา

         เพราะฉะนั้น จุดสำคัญที่จะให้ชีวิตมีความสุขก็อยู่ที่ว่า เราจะต้องจัดการกับงานหรือปฏิบัติต่องานของเราให้ถูกต้อง ให้มีความสุขในตอนที่ทำงานนั่นแหละ มิฉะนั้นแล้วชีวิตของเราส่วนใหญ่จะไม่มีความสุข จะมีส่วนที่เป็นสุขน้อยกว่าส่วนที่เป็นทุกข์หรือที่ต้องทุกข์ต้องทน ตกลงว่าเราจะทำงานกันให้มีความสุข แต่ไม่ใช่มาสนุกโลดเต้นกันนะ เดี๋ยวจะว่าเป็นงานแบบงานวัด งานลอยกระทง อย่างนั้นก็เป็นงานเหมือนกัน เราเรียกว่างาน งานลอยกระทงก็สนุก งานวัดไปดูหนังดูลิเกก็สนุก นั่นก็เป็นงานเหมือนกัน แต่งานแบบนั้นเป็นงานที่เราไปดูเขา เราไม่ต้องทำเอง

         แต่ที่ท่านพูดอย่างนั้นมันมีแง่ความหมาย คือ แสดงว่าคนไทยแต่เดิมนั้นมองงานในแง่สนุกสนานด้วย เช่น งานวัด งานลอยกระทง งานสงกรานต์ ทำไมเป็นงาน ก็ต้องอธิบายว่า คนไทยสมัยโบราณมองว่างานนี่เป็นเรื่องสนุกสนาน เพลิดเพลิน มีความสุข ไม่ใช่เรื่องทุกข์ แม้แต่ไปเกี่ยวข้าวกัน ก็ยังไปร้องเพลง นั่นก็เป็นงานเหมือนกัน คือว่า เราไม่ได้มองเฉพาะตัวกิจกรรมที่ทำเท่านั้น แต่เรามองถึงจิตใจว่า ให้มีความเพลิดเพลินเจริญใจบันเทิงไปด้วย

         คนสมัยหลังนี่ มาได้ยินคำว่า งานวัด งานสงกรานต์ งานลอยกระทง เป็นต้น แล้วก็ไม่ได้มองในแง่ที่จริงมันเป็นงาน คือ เป็นกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ด้วย ไปมองแต่ในแง่สนุกสนาน คือ เดิมมันก็เป็นงานจริงๆ เป็นกิจกรรมที่ทำเพื่อประโยชน์แก่สังคมนั้น หมายความว่า เป็นงานที่ไปช่วยกันทำประโยชน์ต่อส่วนรวม เช่น ไปที่วัดแล้วก็ไปช่วยกันก่อพระเจดีย์ทราย ขนทรายเข้าวัด หรือทำงานช่วยวัดอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นงานเป็นการทั้งนั้น เกี่ยวข้าวก็เป็นงานเป็นการ แต่ให้ทำพร้อมไปกับความรื่นเริงบันเทิงใจด้วย ตกลงว่าที่จริงแล้ว งานในความหมายของประเพณีไทยนั้น มันมีตัวกิจกรรมที่เป็นสาระเป็นประโยชน์ส่วนหนึ่ง และด้านจิตใจที่มีความรื่นเริงอีกส่วนหนึ่ง ให้มีทั้งสองอย่าง

         เป็นอันว่างานที่เราต้องการอย่างแท้จริงนั้นจะต้องมีความหมายครบสองส่วน คือ

         ส่วนที่หนึ่ง ตัวงานที่จะต้องทำให้เกิดผลสำเร็จที่เป็นจุดมุ่งหมายของงาน คือ ให้ได้ผลงานอย่างดี เช่น เมื่อทำโรงงานสับปะรด ก็หมายความว่า จะต้องทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพดี และได้ปริมาณถึงเป้า คือ มีเป้าหมายว่าจะได้ทำได้เท่าไร ก็ทำให้ได้ตามที่ตั้งเป้าไว้ และในด้านคุณภาพจะให้ได้ขั้นไหนก็ทำได้ตามนั้นพร้อมทั้งสามารถทำให้ดียิ่งขึ้นไปด้วย อันนี้ก็ส่วนหนึ่ง คือ ตัวงานนั้นต้องได้ผลด้วย

         อีกส่วนหนึ่ง คือ จิตใจที่ทำงานนั้นเป็นจิตใจที่มีความสุข หมายความว่า เวลาทำงานนั้นคนที่ทำก็มีความสุขด้วย

         ถ้าได้สองอย่างนี้ละก็เรียกว่า ได้ผลสมบูรณ์ งานที่จะมีผลสมบูรณ์นั้น ให้มองดูทั้งสองด้านนี้ แล้วสองด้านนี้จะกลับมาช่วยกัน ถ้าเราทำงานโดยมีความสุขด้วยแล้ว ก็จะทำให้เราพอใจที่จะทำงานให้ได้ผลยิ่งขึ้นไป พอเราทำงานได้ผลดียิ่งขึ้น เราก็อิ่มใจเรียกว่ามีปีติ เกิดความอิ่มใจในผลงานนั้น ก็มีความสุขมากขึ้น ก็ยิ่งทำให้ดีขึ้นแล้วก็สุขมากขึ้น เลยเป็นลูกโซ่เรียกว่าเป็นปฎิสัมพันธ์ มีผลย้อนกลับให้ได้ผลดีขึ้นทั้งในแง่ผลงานและความสุข

งานยิ่งเพิ่มคุณค่า เมื่อใช้เป็นเครื่องพัฒนาตัวคน
 

         ที่นี้มองต่อไปอีก งานยังมีคุณค่าหรือมีประโยชน์อะไรอีก คนเรานี้ ในชีวิตก็ต้องการความเจริญก้าวหน้าซึ่งหมายถึงการที่จะต้องพัฒนาตัวเอง ให้มีสติปัญญา มีความเก่งกล้าสามารถหรือมีความชินิชำนาญในเรื่องต่างๆ ที่จะให้ทำอะไรๆ ได้ดีขึ้นมีความสำเร็จมากขึ้น ความเก่งกล้าสามารถและความชำนิชำนาญของคนนั้น มีจุดแสดงออกที่สำคัญก็คือที่งานของเขานั่นเอง ถ้าเราต้องการเป็นคนที่เก่งกล้าสามารถหรือเป็นคนที่มีคุณภาพมากขึ้น เราจะต้องมีการพัฒนาตัวเอง ส่วนสำคัญของชีวิตที่ทำให้คนพัฒนาตนเองได้ก็คืองาน

         การทำงานเป็นการพัฒนาตนเอง เป็นการฝึกตนเองในทุกด้าน ถ้าเราอยากจะเป็นคนเจริญก้าวหน้าเป็นคนมีคุณภาพ เราต้องพัฒนาตนเอง จะพัฒนาที่ไหน ก็มาพัฒนาตนเองที่การทำงานนี่แหละ ใช้งานนี้เป็นเครื่องพัฒนาตนเอง การทำงานให้เป็นการพัฒนาตนเองที่สำคัญมาก

         ความสามารถส่วนใหญ่ในชีวิตของเรานี้เกิดจากการทำงาน แต่ต้องตั้งใจทำ ทำให้ถูกต้องและพยายามทำให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป คอยสังเกต คอยดู คอยศึกษา คอยสอบถาม คอยหาความรู้อยู่เสมอ ก็จะเป็นการพัฒนาตนเองให้มีความรู้ความสามารถขึ้นมา

         การพัฒนาตนเองให้มีความเก่งกล้าสามารถในการงานนี้ นอกจากจะเกิดผลภายนอก เช่น อาจจะได้ผลตอบแทนหรือได้รับการเลื่อนขั้นเลื่อนระดับงานแล้ว ก็มีผลที่แน่นอนภายในตัวเอง ไม่ว่าภายนอกเราจะได้รับผลตอบแทนหรือไม่ก็ตาม แต่ในตัวเราๆ รู้ ก็คือ การที่เรามีความชำนิชำนาญมากขึ้น ทำอะไรได้ดีขึ้น เขาจะมีผลตอบแทนให้หรือจะไม่มีก็แล้วแต่ แต่เรารู้สึกในตัวเองของเรา เราทำไปแล้วเราก็สบายใจ อิ่มใจของเรา ถ้ารู้สึกว่าเวลาทำอะไรแล้ว เราทำได้ดีขึ้น นี่คือการพัฒนาตนเอง ขอให้เรามีความภูมิใจสบายใจในตัวได้ทันทีเลย ไม่ต้องรอให้คนอื่นเขามาให้ผลตอบแทน

         ฉะนั้น จึงเป็นการได้สองชั้น คือ ได้จากตัวเองกับได้จากคนอื่น หรือว่าตอนที่หนึ่ง เราให้แก่ตัวเราเอง ตอนที่สอง คนอื่นให้เรา ตอนที่หนึ่ง ตัวเรานี้ได้แน่นอนก่อน บางคนไปมองแง่ว่า เขายังไม่ได้ให้ผลตอบแทนเรา เรายังไม่ได้รับรางวัล ถ้าไปรอหวังผลแบบนั้นละก็อาจจะทำให้ผิดหวัง อันนั้นเป็นส่วนของคนอื่น เขาจะให้หรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ส่วนที่เราได้แน่นอน ก็คือ การพัฒนาตัวเอง และอันนี้แหละเป็นการได้ที่แท้จริง เป็นการได้ที่เข้าถึงเนื้อถึงตัวของเราจริงๆ เป็นการได้ของตัวชีวิตแท้ๆ และเป็นของเราจริงๆ ใครแย่งชิงหรือฉกฉวยเอาไปไม่ได้ ไม่เหมือนผลตอบแทนที่เป็นของนอกตัว เราพัฒนาความสามารถขึ้นมา เราเห็นประจักษ์ชัดได้ด้วยตนเอง เพราะฉะนั้น เราได้ตลอดเวลาจากการทำงาน เมื่อถือว่าการทำงานเป็นการพัฒนาตน

         นอกจากพัฒนาความชำนิชำนาญ หรือความเก่งกล้าสามารถแล้ว นิสัยที่ดี คุณธรรม ความสัมพันธ์กับผู้อื่น และการเป็นอยู่ในสังคมก็จะพัฒนาไปด้วย ถ้าเรารู้จักทำ นิสัยของเราก็จะดีขึ้น คุณสมบัติต่างๆ ก็จะพัฒนาขึ้น เช่น ความเป็นคนมีระเบียบวินัย ความขยัน ความอดทน ความรู้จักสังเกต ความมีปัญญา ความรู้เข้าใจ และรู้จักพิจารณาเหตุผลในการแก้ปัญหา จะได้รับการฝึกฝนพร้อมเสร็จไปในตัวเลย เป็นการฝึกฝนพัฒนาตนเองอยู่เรื่อยตลอดเวลา

         นี่คือลักษณะของชีวิตที่ดีงาม ซึ่งต้องมีการพัฒนา ต้องมีการก้าวหน้า และก็งานนี่แหละถ้าเราปฏิบัติให้ถูกต้อง จะเป็นเครื่องพัฒนาชีวิตของเรา เพราะฉะนั้น เราจึงควรมองว่างานเป็นสิ่งที่ทำให้ชีวิตมีคุณภาพ มีการพัฒนาให้ดีขึ้น แล้วเราก็จะมีความสุขกับการทำงานเพราะมองเห็นว่า เมื่อเราทำงาน ตัวเราก็พัฒนา

         นอกจากนี้ก็คือบรรยากาศ ถ้าทำงานให้เป็นการพัฒนาตน ก็จะได้บรรยากาศที่ดีในการทำงาน คือ พัฒนาความมีไมตรีจิตมิตรภาพ ความยิ้มแย้มแจ่มใสต่อกันในหมู่ผู้ร่วมงาน ที่ว่ามานี้ ก็จะต้องไม่มองข้ามสิ่งสำคัญอย่างหนึ่ง คือ พวกสวัสดิภาพและสวัสดิการต่างๆ กล่าวคือ สภาพความเป็นอยู่ที่เหมาะสม ซึ่งเอื้ออำนวยให้มีความสะดวกสบายตามสมควร สภาพอย่างนี้ทางพระท่านเรียกว่าเป็นสัปปายะ สัปปายะ ก็คือ บรรยากาศ สภาพแวดล้อม สถานที่อยู่ ปัจจัยต่างๆ ซึ่งเกื้อกูลต่อการที่จะดำรงชีวิตและทำการงานให้เราสบายกายสบายใจ ไม่ต้องห่วง ไม่ต้องกังวล อันนี้ก็เป็นเรื่องขององค์ประกอบแวดล้อม ซึ่งจะส่งผลช่วยสนับสนุนให้ทำงานด้วยความสบายใจ และมีความรักความพอใจในงานเกิดขึ้นได้ง่าย

         แต่ข้อสำคัญก็อย่างที่บอกในตอนต้นแล้ว คือ ต้องตั้งท่าทีให้ถูกต้องต่องาน อย่าไปมองงานเป็นเรื่องที่ต้องทุกข์ต้องทน ต้องมองงานเป็นสิ่งที่มีคุณค่า มีประโยชน์ แล้วก็เกิดความรักความพอใจในงาน พอมีความรักความพอใจอย่างนี้แล้ว เราก็ทำงานด้วยความสุข ตั้งใจทำ

         พอมีความรักงานแล้วผลดีก็ตามมาเป็นกระบวน คือ พอรักงานแล้วก็อยากทำงาน พออยากทำงานแล้ว งานเดินหน้าไปหน่อย เราก็รู้สึกว่ามันได้ผลแล้ว พอได้ผลเราก็เกิดความอิ่มใจผลงานที่เกิดขึ้นแต่ละตอนๆ ทำให้เกิดความอิ่มใจและทำให้เกิดความสุข

         การเกิดมีความอิ่มใจที่ทางพระท่านเรียกว่า ปีติ นั้น เป็นกระบวนการของจิตใจที่จะทำให้คนเรามีสุขภาพจิตที่ดี คนที่ทำงานอย่างนี้จะไม่ค่อยมีความเครียด ถ้าคนไม่มีปีติ ไม่มีความอิ่มใจจากงาน แม้ว่างานจะเดินหน้าไป แต่เมื่อยังไม่ได้ผลตอบแทนก็ไม่ได้ความรู้สึกนี้ เพราะใจมัวไปหวังข้างหน้า มองว่าโน่นเลิกงานแล้วจะได้ไปเที่ยวสนุกสนาน ใจไปอยู่ที่โน่น หรือไปมองที่ผลตอบแทน ใจมันไม่อยู่กับงาน เมื่อใจไม่อยู่กับงาน ก็หาความสุขจากงานไม่ได้ กลายเป็นต้องทุกข์ในการทำงาน ใจก็ไม่สบาย อันนี้แหละที่เรียกว่าตั้งท่าทีไม่ถูกต้อง เพราะฉะนั้น จะต้องทำใจให้มีความสุขสนุกกับงานไปเลย อย่างที่ว่า พอใจรักงานแล้ว งานก้าวไปนิด เราก็อิ่มใจเมื่อได้เห็นงานก้าวไปทีละหน่อยๆ ก็มีความสบายใจอิ่มใจเรื่อยไปตลอดทุกขั้นตอน เป็นอันว่านอกจากจะมีความรักงาน ทำงานด้วยใจสบาย มีความสุขเป็นพื้นอยู่แล้ว พอเห็นผลงานก็ยิ่งมีความสุขมีปีติมากยิ่งขึ้น

ปรุงแต่งสิ่งอื่นได้หลายหลาย ทำไมไม่ปรุงแต่งใจตัวเองให้เป็นสุข
 

           ความก้าวหน้าอีกขึ้นหนึ่ง ก็คือ การทำใจของตนเองให้ผ่องใสเบิกบานตลอดเวลา โดยมีสติเตือนใจตัวเองว่า ทำใจให้ร่าเริงผ่องใส เรื่องใจของเรานี่ เราปรุงแต่งได้ ปรุงแต่งให้ดีก็ได้ ให้ร้ายก็ได้ ปรุงแต่งไม่ดีก็หมายความว่า ให้เกิดความรู้สึกที่ไม่สบายใจ ขุ่นมัว เศร้าหมอง เดือดร้อนกระวนกระวาย โดยนึกถึงอะไรที่ไม่ได้หรือไม่ดีขึ้นมา เช่น นึกถึงความอยากที่จะไปโน่นไปนี่ ตอนนี้ยังไปไม่ได้ ทำไมยังไม่ถึงเวลาเสียที ฉันอยากจะเลิกงานไปเที่ยวที่โน่นไปสนุกที่นั่น นี่ยังเหลืออีกตั้ง ๒ ชั่วโมงพอคิดอย่างนี้แล้วก็ปรุงแต่งไป ใจก็ฟุ้งซ่านกระวนกระวาย ตอนนี้ทำงานก็ไม่มีความสุขแล้วยังเกิดความเครียดด้วย

           ทีนี้ในทางตรงข้าม เราปรุงแต่งจิตใจในทางที่ดี ให้ร่าเริงสนุกสนาน มองงานที่ทำอยู่ต่อหน้า ส่วนข้างหน้าไม่ต้องไปคิดห่วง เดี๋ยวถึงเวลาก็เลิกงานเองแหละครบ ๑๒ ชั่วโมงก็ ๑๒ ชั่วโมง ๘ ชั่วโมงก็ ๘ ชั่วโมง ครบเมื่อไรก็เมื่อนั้น เวลามันยุติธรรมกับทุกคน มันไม่เคยเอาเปรียบใคร เราไปคิดเอาเองว่าเวลามันช้าเหลือเกินก็เพราะเราไปรอมัน ถ้าเราไม่รอมัน มันก็ไม่ช้า เราก็ทำงานของเราไป

           ก็อย่างที่บอกแล้วว่า เวลามันให้ความเป็นธรรมแก่ทุกคนเสมอกัน แต่ถ้าตั้งใจผิดมันก็ทำให้เวลาช้าหรือเร็วตามแต่ว่าเราจะตั้งใจอย่างไร เพราะฉะนั้นเราก็ทำใจให้ถูก เรารู้อยู่แล้วว่าเวลามันเป็นอย่างนั้นของมันตามธรรมชาติก็ไม่ต้องไปเร่งรัดหรือขัดขวางมัน ให้เหมือนใจหรือให้ขัดใจตัวเราเอง แทนที่จะทำอย่างนั้นเราก็เอาใจมาอยู่กับงานของเรา ทำใจให้ร่าเริงเบิกบาน สนุกสนานกับงาน ปรุงแต่งใจให้ร่าเริงเบิกบาน

           ความร่าเริงเบิกบานนั้นท่านเรียกว่า ปราโมทย์ ทำใจให้ปราโมทย์ คือ เวลาทำงานก็ทำใจให้ร่าเริงเบิกบานยิ้มแย้มแจ่มใส นึกถึงงานก็นึกขึ้นมาด้วยความร่าเริงเบิกบาน คอยเตือนสติตัวเองอยู่เรื่อยพอรู้สึกว่าใจชักขุ่นมัว นึกขึ้นมาได้ก็หยุดและบอกตัวเองว่า เอ๊ะ ! เรานี่ชักจะไม่ได้การแล้วกระมัง ใจเราชักจะเดือดร้อนกระวนกระวาย ชักจะขุ่นมัวเศร้าหมองแล้ว ไม่ได้ๆ ผิดแล้ว ! จะต้องร่าเริงเบิกบาน พอได้สติอย่างนี้ก็เตือนตัวเอง บอกกับใจตัวเอง พอรู้ทันแล้วก็ทำใจให้ร่าเริง

           การปรุงแต่งใจอย่างนี้เราทำได้ อยู่ที่การฝึกเราปรุงแต่งใจของเรา ถ้าปรุงให้ดี มันก็ดี ถ้าปรุงให้ไม่ดี มันก็ไม่ดี เหมือนกับอาหารเราก็ปรุงแต่งได้ จะปรุงให้น่ากินหรือปรุงให้ไม่น่ากินก็ได้ อันนี้ก็เหมือนกันใจของเรา เราก็ปรุงได้ ปรุงของข้างนอกเรายังปรุงได้ปรุงในใจตัวเองทำไมจะปรุงไม่ได้ เพราะฉะนั้นก็มาปรุงใจตัวเอง ปรุงด้วยของดีๆ ด้วยความคิดที่ดี นึกแต่สิ่งที่ดี นึกถึงงานในแง่ดี นึกให้มันสบายใจ เวลาทำงานก็ร่าเริงเบิกบานไปกับงาน

           การทำงานด้วยใจร่าเริงเบิกบาน ท่านเรียกว่ามีปราโมทย์ พอมีปราโมทย์แล้วทำงานไป งานเดินหน้าไปก็อิ่มใจว่างานก้าวหน้า โดยมีผลเกิดขึ้นทีละน้อยๆ ก็เกิดปีติอิ่มใจ พอมีปีติอิ่มใจ แล้วก็สบายใจ ใจสงบเย็น เกิดมีปัสสัทธิ คือ ความผ่อนคลายกายใจ ไม่มีความเครียด พอใจสบายไม่เครียด มีความผ่อนคลายสงบเย็น มีปัสสัทธิแล้ว ก็มีความสุขเกิดความโปร่งโล่งใจ ความสุขนี้แปลว่า โปร่งโล่งใจ เพราะไม่มีอะไรมาบีบคั้น ติดขัด คับข้อง คำว่าทุกข์นั้นแปลว่า บีบคั้น คนที่มีความทุกข์ก็คือ คนที่มีอะไรมาบีบคั้นตนเอง ถ้าบีบคั้นกาย ก็เรียกว่าทุกข์กาย ถ้าบีบคั้นใจ ก็เรียกว่าทุกข์ใจ

           คนจำนวนมากชอบเอาอะไรมาบีบคั้นใจตัวเองหรือทำให้เกิดความติดขัด คับข้อง ไม่โปร่งโม่โล่ง เกิดความทุกข์ใจ ทีนี้พอคล่องใจ สะดวกใจ โปร่งโล่งใจ มีความสุขใจมั่นคง สงบแน่วแน่ จะทำอะไรใจก็อยู่กับเรื่องนั้นไม่ฟุ้งซ่าน ไม่กระวนกระวาย อันนี้ท่านเรียกว่ามีสมาธิ

           พอมีสมาธิ จิตใจสงบตั้งมั่นแน่วแน่แล้ว ไม่ว่าจะคิดอะไร ความคิดก็เดินปัญญาก็เดิน จะใช้พลังจิตทำงานอะไร แม้แต่จะไปทำกรรมฐาน บำเพ็ญสมาธิก็ได้ผลดีด้วย สอดคล้องกันดีไปหมดเลย รวมความว่าเป็นเรื่องของการทำให้ชีวิตของเรานี้มีความสุขอย่างแท้จริงจากการทำงาน เพราะว่างานเป็นส่วนใหญ่ของชีวิตของเรา

           เพราะฉะนั้น เราต้องพยายามทำให้การทำงานนี้เป็นตัวนำมาซึ่งความสุข แล้วก็สุขด้วยการทำงานนั้นด้วย สุขตั้งแต่เวลาทำงานแล้ว คือ ขณะทำงานก็มีความสุข ครั้นเสร็จจากงานแล้วก็มีความสุขเพิ่มอีก นี้ก็เป็นเรื่องของการทำให้ชีวิตมีความสุขโดยเอางานเป็นหลัก เพราะงานนั้นเป็นส่วนใหญ่ของชีวิต

           ถ้าทำงานได้อย่างนี้ ก็เข้ากับความหมายของงานที่ได้พูดกันตามวัฒนธรรมประเพณีไทย ที่บอกว่าไปงานวัด งานสงกรานต์ ซึ่งมองกันในแง่สนุกสนานบันเทิง เราก็มาทำงานของเราแม้แต่ในโรงงานนี้ให้เป็นไปด้วยจิตใจที่เบิกบาน สดชื่นผ่องใสอย่างนั้นด้วย โดยที่รู้เข้าใจคุณค่าของงานและมีสติเตือนตัวเองให้คอยทำใจให้ร่าเริงเบิกบานอย่างนี้แล้ว งานก้าวไป ชีวิตของเราก็พัฒนาไปด้วย

           ชีวิตของคนที่ปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายอย่างถูกต้องนี่แหละ เป็นชีวิตที่เจริญก้าวหน้า แม้แต่สิ่งที่เราทำอยู่ตลอดเวลา คือ งานที่เป็นของประจำนี่ ถ้าเรายังปฏิบัติไม่ถูกต้องแล้ว เราก็คงปฏิบัติต่อสิ่งอื่นไม่ค่อยถูกต้องเหมือนกัน การงานนี้เป็นเรื่องที่สำคัญทางพระพุทธศาสนาท่านเรียกว่าเป็น กรรม

           คำว่า “กรรม” นั้น แปลว่า การกระทำ การกระทำในชีวิตส่วนใหญ่ของคนก็คือ งาน ขอให้พิจารณาความหมายตามลำดับ เริ่มแรกคำว่ากรรมในความหมายที่ละเอียดที่สุด ก็คือ เจตนาที่ทำการ เจตนาในใจเป็นตัวการที่ทำให้เราทำโน่นทำนี่ ต่อจากนั้นเมื่อแสดงออกมาเป็นการกระทำภายนอก เราเรียกว่าเป็นกิจกรรม ทีนี้ถ้าเป็นกิจกรรมที่เป็นหลักของชีวิตก็เรียกว่าเป็นงาน เพราะฉะนั้นกรรมจึงมีความหมายหลายชั้น กรรมในความหมายกว้างที่สุด ก็คือ งานที่แต่ละคนทำ พระพุทธเจ้าตรัสว่า กมฺมุนา วตฺตตี โลโก โลกนี้เป็นไปตามกรรม ก็คือ เป็นไปตามกรรม ขั้นพื้นฐานคืองานของคน

           มนุษย์ที่ทำงานกันอยู่ในสังคมนี้แหละ เป็นตัวบันดาลวิถีความเป็นไปของโลก หรือของสังคม โลกและสังคมจะเป็นไปอย่างไรก็ด้วยกิจกรรมสำคัญ คือ งานของคน อาชีพการงานหรือเรื่องของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ในชีวิตของคนส่วนใหญ่นี้เป็นเครื่องนำให้โลกให้สังคมเป็นไป เอาตั้งแต่สังคมประเทศไทยนี่จะเป็นอย่างไรก็อยู่ที่งานที่คนไทยทำ เพราะฉะนั้นถ้าเราจะให้สังคมประเทศชาติของเราไปทางไหน คนแต่ละคนที่อยู่ในประเทศเป็นพลเมืองก็ต้องทำงานให้ถูกเรื่อง ให้เป็นงานที่จะนำประเทศชาติสังคมไปสู่ความเจริญก้าวหน้า

           งานในความหมายต่อมา เมื่อเจาะลึกลงไปถึงที่สุดแล้ว กิจกรรมของมนุษย์ทุกอย่างนั้นก็มาจาก
เจตจำนงในใจ เจตจำนง เจตนา หรือความตั้งใจนั้นเป็นตัวการที่ปรุงแต่งสร้างสรรค์ทุกสิ่งทุกอย่าง โลกมนุษย์นี้เป็นโลกของเจตจำนง หรือโลกแห่งความคิดปรุงแต่งสร้างสรรค์ สังคมมีความเจริญก้าวหน้า มี
วัฒนธรรม มีวิทยาการต่างๆ มีเทคโนโลยี มีอะไรๆ ทุกอย่าง ทั้งหมดนั้นเป็นเรื่องของเจตจำนง คือ ความคิดปรุงแต่งสร้างสรรค์ทั้งนั้น ต่างจากโลกของสัตว์ทั้งหลาย โลกของธรรมชาติทั้งหมดนั้นมีความเป็นไปอีกแบบหนึ่ง ไม่เหมือนกับโลกของมนุษย์ที่เป็นโลกแห่งเจตจำนง หรือโลกของเจตนาปรุงแต่งสร้างสรรค์

           เพราะฉะนั้น ท่านจึงบอกว่า โลกนี้หรือสังคมนี้เป็นไปเพราะกรรมหรือเป็นไปตามกรรมของมนุษย์ ซึ่งมีความหมายหลายชั้น เริ่มตั้งแต่เจตจำนง หรือเจตนาปรุงแต่งสร้างสรรค์ของคนที่คิดเก่ง ซึ่งเป็นผู้คิดริเริ่มที่จะนำสังคมให้เกิดการเปลี่ยนแปลง พอคนส่วนใหญ่เปลี่ยนไปตามวิถีนั้น สังคมก็เป็นไปตามนั้นแต่โดยปกติเมื่อทุกอย่างลงตัวแล้ว กิจกรรมส่วนใหญ่ของมนุษย์คือการงานนี่แหละที่ทำให้สังคมเป็นไป

           เพราะฉะนั้น เราทุกคนนี้มีส่วนที่จะไปปรุงแต่งชีวิต ปรุงแต่งสังคม ปรุงแต่งโลกให้เป็นไปต่างๆ เราจึงควรจะมาช่วยกันปรุงแต่งในทางที่เป็นการสร้างสรรค์ให้เป็นประโยชน์ การงานที่เป็นอาชีพสุจริตก็เป็นส่วนที่จะช่วยปรุงแต่งนำโลกไปในทางที่ดีงาม ให้โลกร่มเย็นเป็นสุข ไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน ยิ่งถ้างานนั้นไม่เพียงแต่สุจริต แต่ยังเป็นงานที่เกื้อกูลเป็นประโยชน์ด้วย ก็เป็นเครื่องหล่อเลี้ยงให้โลกนี้มีความสุขเจริญก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นไป เราจึงควรจะมีความพอใจในการงานที่เราทำอย่างถูกต้อง เมื่อเราทำงานอย่างถูกต้องก็มองเห็นคุณค่าของงาน เราก็มีความพอใจในงาน ระลึกขึ้นมาเมื่อไรก็มีความอิ่มใจว่า เราได้ทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์แล้ว

           วันนี้ อาตมาได้มาพบปะกับโยมญาติมิตรชาวโรงงานของบริษัทนี้ ซึ่งเป็นผู้ทำงานที่สุจริต ทำงานที่สร้างสรรค์เป็นประโยชน์ ก็ขอให้ทุกท่านมองเห็นคุณค่าแห่งงานของตนเองอย่างที่ได้กล่าวมาแล้ว และนอกจากทำประโยชน์ให้แก่ผู้อื่นแล้ว ก็ต้องทำจิตใจของเราให้สบายมีความสุขด้วย และจิตใจของเราที่สบายและมีความสุขนี้ ก็จะเป็นปัจจัยให้เราทำงานที่เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมได้ผลดียิ่งขึ้นด้วย เป็นสิ่งที่อิงอาศัยและส่งเสริมซึ่งกันและกันผูกพันกันไป ทำให้ทั้งตัวเราและส่วนรวมมีความเจริญก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นไป
                                
           ตกลงรวมความว่าการทำงานนั้นทำให้เราได้ประโยชน์และมีความเจริญก้าวหน้าขึ้นไปเรื่อยๆ ส่วนที่ได้นี้ก็มีทั้งสองด้าน คือด้านตัวงาน ซึ่งอาจจะออกมาเป็นผลทางวัตถุหรือสิ่งอื่นภายนอก และด้านของจิตใจที่มีความสุข มีความสบายอิ่มใจ พร้อมกันไปกับการที่มีการพัฒนาของชีวิตอยู่เรื่อยไป ดังนั้น เราจึงควรนำเอาหลักนี้มาตรวจสอบดูว่าการทำงานของเรา ตลอดจนการดำเนินชีวิตทั้งหมดของเราได้มีความเจริญก้าวหน้าขึ้นไปตลอดเวลาหรือไม่

ชีวิตนี้เพื่องานงานนี้เพื่อธรรม
 

           ทำไมจึงว่า ชีวิตนี้เพื่องาน งานนี้เพื่อธรรม ความหมายก็ชัดอยู่แล้วเพราะว่าเมื่อท่านอุทิศชีวิตนี้ให้แก่งาน ก็จึงเรียกว่า ชีวิตของท่านนี้เพื่องาน ส่วนที่ว่างานนี้เพื่อธรรม เมื่อมองดูความหมายง่ายที่สุดอย่างผิวเผิน ก็คือ การทำงานนั้นเป็นไปเพื่อความดี เพื่อประโยชน์สุขแก่สังคม ความดีงาม ความเป็นประโยชน์และความสุขของประชาชนหรือของสังคมนั้นก็เป็นเรื่องของธรรม เพราะฉะนั้นจึงกล่าวได้ว่างานนี้เพื่อธรรม แต่คำว่า งานนี้เพื่อธรรม ยังมีความหมายลึกไปกว่านี้อีก ไม่ใช่เพียงแค่นี้ อย่างไรก็ตามตอนนี้กำลังพูดถึงเรื่องของวันเกิดก็ควรจะโยงเรื่องของชีวิตมาเกี่ยวกับวันเกิด

เกิดมาแล้ว ควรใช้ชีวิตอย่างไร ?
 

         ความจริงชีวิตก็เริ่มด้วยการเกิด การเกิดเป็นการเริ่มต้นของชีวิต ผู้ที่เห็นความสำคัญของชีวิตก็ย่อมเห็นว่าการเกิดเป็นเรื่องสำคัญ เพราะถ้าไม่มีการเกิด ชีวิตก็เริ่มต้นและเจริญต่อมาไม่ได้ วันเกิดนั้นในแง่หนึ่งจึงถือว่าเป็นวันของชีวิตและเป็นวันที่เตือนใจเราว่า การเกิด คือ การที่เราได้ชีวิตมา เมื่อเราได้ชีวิตมาแล้วเราจะใช้ชีวิตกันอย่างไรดี วันเกิดอย่างน้อยก็เตือนเราอย่างนี้ เตือนว่าเมื่อเราได้ชีวิตมาแล้วด้วยการเกิดนี้และเมื่อเราเป็นอยู่นี้ เราจะใช้ชีวิตกันอย่างไรดี

         ในเรื่องการใช้ชีวิตนี้คนก็มีความคิดเห็นกันต่างๆ หลายคนก็หลายทัศนะ แต่พูดกว้างๆ ก็อาจจะมีสัก ๕ - ๖ อย่าง

         แบบที่หนึ่ง หลายคนบอกว่า เออ... เราเกิดมาทั้งทีชาตินี้ไม่ยืดยาวนักอยู่กันชีวิตหนึ่ง ในเวลาที่ยังแข็งแรงหาความสุขได้ก็รีบหาความสนุกสนานใช้ชีวิตสำเริงสำราญกันให้เต็มที่ เพราะไม่ช้าไม่นานก็จะตาย ชีวิตก็จะหมดไป นี้คือ ทัศนะของคนพวกหนึ่งซึ่งมีมาแต่โบราณในสมัยพุทธการก็มี ถึงกับจัดเป็นลัทธิเลยทีเดียวเรียกว่า ลัทธิจารวาก ซึ่งจัดเป็นพวกวัตถุนิยมอย่างหนึ่ง

         บางคนมีทัศนะต่างออกไปอีก เขาบอกว่า คนเราเกิดมาเพื่อใช้หนี้กรรม เพราะฉะนั้นการใช้ชีวิตนี้จึงเป็นเพียงการคอยรับผลของกรรมที่ทำมาในปางก่อน ทัศนะแบบนี้แทบจะตรงข้ามกับทัศนะแรก ทัศนะแรกให้หาความสนุกสนานกันเต็มที่ แต่ทัศนะที่สองมองไปในแง่การใช้หนี้กรรม เลยค่อนข้างจะสลดหดหู่หน่อย แต่จะเป็นการมองที่ถูกหรือผิดตอนนี้จะยังไม่วิจารณ์

         ทัศนะแบบที่สาม ถือหลักแบบพระพุทธศาสนาตามคติอย่างหนึ่ง ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสไว้เป็นคำอุปมาท่านบอกว่า เปรียบเหมือนช่างร้อยดอกไม้หรือเรียกง่ายๆ ว่า นายมาลาการผู้ฉลาด เก็บเอาดอกไม้สีสรรวรรณะต่างๆ จากกองดอกไม้กองหนึ่งมาร้อยเป็นพวงมาลามาลัยบ้าง จัดแจกันบ้าง จัดเป็นพานบ้าง ทำให้เป็นรูปร่างต่างๆ ที่สวยงามอย่างหลากหลายได้ฉันใด คนเราเกิดมาแล้วชาติหนึ่งก็ควรใช้ชีวิตนี้ทำความดีให้มากฉันนั้น

         อันนี้เป็นคติที่มองดูชีวิตของคนเรานี้ ว่าเป็นที่ประชุมของส่วนประกอบต่างๆ มากมาย ซึ่งทางพระเรียกว่าขันธ์ห้า และขันธ์ห้าก็ยังแยกย่อยออกไปอีกมากมาย รวมแล้วโดยสาระสำคัญ ก็คือ ส่วนประกอบต่างๆ มากมายทั้งด้านวัตถุและทางจิตใจมารวมกันเข้าเป็นชีวิตของเรา สิ่งเหล่านี้ก็คล้ายๆ กับกองดอกไม้ คือ ยังไม่ดีไม่สวยงาม ไม่ปรากฏคุณค่าอะไรออกมา มันกองอยู่ตั้งอยู่อย่างนั้น จะมองเป็นกองขยะก็ได้ จะมองเป็นกองดอกไม้ที่มีคุณค่าอยู่ในตัวก็ได้ แต่ยังไม่สำเร็จประโยชน์ชัดเจนอะไรออกมามันก็กองอยู่อย่างนั้น

         ทีนี้เราเอาชีวิตของเราที่ตั้งอยู่อย่างนี้ ที่เป็นกลางๆ ไม่ชัดเจนว่าจะมีคุณค่าอย่างไรนี้ เอามาทำความดี ถ้าเราเอาชีวิตนี้มาใช้ทำความดีก็ทำได้มากมาย หรือในทางตรงข้ามจะทำความชั่วก็ทำได้มากมายเช่นเดียวกัน เพราะมนุษย์มีศักยภาพมาก แต่ในทางธรรมถ้าเอาชีวิตนี้มาทำความดีก็จะทำความดีได้มากมาย เราจะเห็นว่า คนที่มีความมุ่งหมายในชีวิตแน่นอนแน่วแน่ในการทำความดี สามารถใช้ชีวิตชาติหนึ่งที่มองเห็นเป็นร่างกายยาววาหนาคืบกว้างศอกเท่านี้นี่เอง ทำสิ่งที่ดีงามได้มากมายมหาศาล สร้างสังคม สร้างชุมชน สร้างประเทศชาติ ตลอดจนสร้างสรรค์อารยธรรมของโลก เป็นความดีงามมากมายเหลือเกิน ก็สามารถทำได้

         ในกรณีนี้เรามองว่ามนุษย์มีศักยภาพในการที่จะทำความดี ตามคตินี้ซึ่งเป็นคติทางพระพุทธศาสนาในธรรมบท ท่านสอนว่า คนเราเกิดมาแล้วควรใช้ชีวิตทำความดีให้มาก ถ้ามองในแง่นี้เราก็จะต้องขวนขวายพยายามทำความดีให้มากที่สุด

         ทีนี้อีกแง่หนึ่ง เป็นความหมายในทางที่ดีเหมือนกัน มองว่าชีวิตของคนเรานี้เป็นเรื่องของการพัฒนาตนเอง การใช้ชีวิตหรือการดำเนินชีวิตก็คือการฝึกฝนพัฒนาตนเอง หรือพัฒนาชีวิตนี้ให้มีความดีงามถึงความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ตามทัศนะแบบนี้ถือว่าคนเราเกิดมาไม่มีความสมบูรณ์ในตัวชีวิต คือ คนเรานี้เมื่อเกิดมาเริ่มต้นก็มีอวิชชา มีความไม่รู้และยังไม่มีความสามารถอะไรต่างๆ แต่เราสามารถพัฒนาชีวิตของเราได้ ฝึกฝนตนเองได้ อันนี้ก็เป็นคติในทางพระพุทธศาสนาอีกนั่นแหละ

         พระพุทธศาสนาถือว่า มนุษย์เป็นสัตว์ที่ฝึกได้และเป็นสัตว์ที่ฝึกได้เป็นพิเศษยิ่งกว่าสัตว์ชนิดใดๆ สัตว์อื่นๆ เช่น ช้าง ม้า และสัตว์ใหญ่น้อยทั้งหลายมากมาย สามารถนำมาฝึกและใช้ทำงานต่างๆ ก็ได้ เล่นละครต่างๆ ก็ได้ แต่ก็ได้แค่ที่มนุษย์จะฝึกให้ ต่างจากมนุษย์ซึ่งถ้าฝึกแล้วจะทำอะไรได้มากมายแสนวิเศษอัศจรรย์ ตามคตินี้ ความวิเศษของมนุษย์อยู่ที่การฝึก คือ ถือว่ามนุษย์เกิดมายังไม่สมบูรณ์ ความสามารถก็ยังไม่สมบูรณ์ สติปัญญาก็ยังไม่สมบูรณ์ คุณธรรมก็ยังไม่สมบูรณ์ เราจึงพยายามพัฒนาให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

         คติอย่างนี้ในระดับสูงสุดเรียกว่าเป็น คติพระโพธิสัตว์ สำหรับคติที่กล่าวก่อนหน้านี้ที่ว่า คนเราเกิดมาควรใช้ชีวิตทำความดีนั้นเป็นคติของชาวพุทธแบบทั่วไป แต่เมื่อจะฝึกฝนตนให้สมบูรณ์ก็เข้าแนวคติพระโพธิสัตว์ คือ พระโพธิสัตว์ย่อมพัฒนาตนให้สุดให้เต็มที่แห่งศักยภาพ
ศักยภาพของมนุษย์เมื่อพัฒนาเต็มที่ ก็คือ การถึงโพธิ คือ ตรัสรู้เป็นพุทธ ท่านบอกว่ามนุษย์นี้ถ้าไม่ฝึกแล้ว อาจจะต่ำทรามหรือด้อยกว่าสัตว์ทั้งหลาย เพราะว่าสัตว์ทั้งหลายยังอาศัยสัญชาตญาณได้มากว่ามนุษย์ จะเห็นได้จากการที่สัตว์หลายอย่างพอเกิดมาก็เดินได้ ว่ายน้ำได้ หากินได้ แต่มนุษย์นี้ในขณะที่เกิดมานั้นทำอะไรไม่ได้เลย ทิ้งไว้ก็ตาย สู้สัตว์อื่นไม่ได้ แม้แต่การดำเนินชีวิตก็ต้องสอนทุกอย่างไม่เหมือนสัตว์อื่นๆ ที่มีสัญชาตญาณช่วย

         ถ้ามนุษย์ไม่มีการฝึกก็แพ้สัตว์ทั้งหลาย แต่ถ้าฝึกดีแล้วก็ไม่มีสัตว์ชนิดใดสู้ได้เลย ฝึกได้จนกระทั่งเป็นพุทธถึงที่สุดแห่งศักยภาพ ซึ่งแม้แต่พระพรหมก็เคารพบูชา เรียกว่ามนุษย์สูงสุดกว่าสัตว์ใดๆ แต่มีเงื่อนไขว่าต้องมีการฝึกฝนพัฒนา เป็นอันว่ากรณีนี้เป็นคติโพธิสัตว์ คือ ใช้ชีวิตนี้พัฒนาศักยภาพกันให้เต็มที่

         ต่อมามีอีกคติหนึ่งว่า ชีวิตนี้ควรจะเป็นอยู่ให้ดีที่สุด เสร็จสิ้นสมบูรณ์ในแต่ละขณะ ทุกขณะ หมายความว่า ทำชีวิตให้เต็มเปี่ยมบริบูรณ์ในแต่ละขณะ ข้อนี้เป็นคติสำคัญ เป็นคติพุทธศาสนาเหมือนกัน

         ความจริงคติทั้งสามอย่างหลัง เป็นคติทางพระพุทธศาสนาทั้งสิ้น อย่างที่บรรยายมาเมื่อกี้ว่าการใช้ชีวิตทำความดีให้มากเป็นคติที่ชาวพุทธทั่วไปถือเป็นหลัก การพัฒนาศักยภาพให้เต็มที่เป็นคติธรรมแนวพระโพธิสัตว์ พอมาถึงข้อนี้ว่าทำชีวิตให้เต็มเปี่ยมสมบูรณ์ในแต่ละขณะทุกขณะไปเลย ก็เป็นคติพระอรหันต์และก็เป็นคติของพระพุทธเจ้าด้วย

         ที่ว่ามานี้ก็เป็นเรื่องของการใช้ชีวิตกันต่างๆ ซึ่งทั้งหมดนั้นก็สืบเนื่องจากการที่ได้มาคำนึงถึงว่า คนเราเกิดมานี้ เมื่อเกิดมาแล้วก็มีการสิ้นสุด ชีวิตนี้มีช่วงเวลาจำกัดไม่ยืนยาว เพราะฉะนั้นจึงควรคิดว่าจะใช้ชีวิตกันอย่างไร แต่ทั้งหมดนั้นก็มามองกันที่ว่ามีการเกิดและมีการตายอยู่หัวท้าย แล้วในระหว่างนั้นจะทำอย่างไร ยกเว้นแต่ข้อสุดท้ายซึ่งเป็นคติที่พิเศษ คือ เลยไปถึงขั้นที่ไม่เกิดไม่ตาย เพราะว่าเมื่อใช้ชีวิตเต็มเปี่ยมในแต่ละขณะแล้ว การเกิด การตายก็ไม่มี นั่นเป็นชีวิตที่สมบูรณ์ เรียกว่า เป็นอมตะอยู่ในตัวเองเลยเพราะคนนั้นจะไม่นึกถึงเรื่องเกิดเรื่องตายอีกต่อไป ทั้งหมดนี้เป็นคติที่ควรจะนำมาใช้ปฏิบัติได้ใครจะเลือกอย่างไร ก็พิจารณาได้ด้วยตนเอง

ทำงานเพื่ออะไร ?
 

          อย่างไรก็ตาม ในบรรดาคติทั้งหมดนี้ไม่ว่าใครจะเลือกใช้คติใดก็ตาม ถ้าเราวิเคราะห์ชีวิตของเราออกไปในการเป็นอยู่ประจำวันก็ดี ตลอดชีวิตก็ดี โดยเฉพาะในสภาพปัจจุบันนี้เมื่อวิเคราะห์แยกแยะชีวิตให้ละเอียดเพื่อให้เข้าใจชีวิตที่เป็นไป จะเห็นว่าความเป็นไปส่วนใหญ่ในชีวิตของแต่ละคนขึ้นอยู่กับกิจกรรมสำคัญอย่างหนึ่ง คือสิ่งที่เรียกว่า “งาน” งานเป็นเนื้อหาส่วนสำคัญแห่งชีวิตของคน โดยเฉพาะในสมัยปัจจุบันงานครอบคลุมและกำหนดการดำเนินชีวิตของมนุษย์ส่วนมาก

         ในเมื่องานเป็นกิจกรรมหลักของมนุษย์ ดังนั้นถ้าเราจะพูดเกี่ยวกับการใช้ชีวิตให้ละเอียด เราก็ควรจะพูดถึงว่าเราทำงานกันอย่างไร เพราะเราจะเห็นการเป็นอยู่ของมนุษย์ได้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น เมื่อต้องการทราบว่าคนเขาดำเนินชีวิตอย่างไร ใช้ชีวิตอย่างไร เราก็ไปดูที่การทำงานของเขา แล้วเราก็จะเห็นส่วนสำคัญของชีวิตของเขาทีเดียว แม้แต่คนที่ว่าอยู่เพื่อสำเริงสำราญให้เต็มที่ ไม่คิดมุ่งหมายเรื่องการเรื่องงานอะไรเลย ก็ไม่สามารถที่จะสำเริงสำราญเต็มที่ทั้งชีวิต ซึ่งเป็นไปไม่ได้ การอยู่อย่างนั้นตลอดเวลาเป็นไปไม่ได้ เขาจะต้องมีการทำงานเหมือนกัน

         งานเป็นกิจกรรมส่วนสำคัญของชีวิต เพราะฉะนั้น ถ้าจะดูให้ละเอียดว่าเราใช้ชีวิตกันอย่างไร ก็ต้องมาดูเรื่องการทำงานว่าทำกันอย่างไรด้วย คนเรานั้นมองการทำงานต่างกันไปหลายอย่าง และจากความเข้าใจเกี่ยวกับความหมายของการทำงาน ก็ทำให้เขามีพฤติกรรมการทำงาน เป็นแบบแต่ละแบบของตนไปตามความเข้าใจนั้น

         อย่างแรกที่เห็นชัดที่สุด คนโดยมากมองความหมายของงานว่าเป็นเครื่องมือหาเลี้ยงชีพ ทำให้มีเงินมีทองสำหรับเอามาซื้อหารับประทาน มาจับจ่ายใช้สอยหาความสุขอะไรต่างๆ อย่างน้อยก็ทำให้มีชีวิตอยู่ได้ด้วยปัจจัยสี่ ข้อนี้นับว่าเป็นความหมายของงานสำหรับคนจำนวนมากมายทีเดียว ซึ่งถือตามคตินี้โดดๆ ลำพังอย่างเดียวก็อาจจะเข้ากับคำขวัญที่ว่า งานคือเงิน เงินคืองาน บันดาลสุข ต้องทำงานจึงจะมีเงินและต้องมีเงินจึงจะได้คนมาทำงาน ก็จำกัดเพียงเท่านี้ นี้คือความหมายทั่วๆ ไปในขั้นแรก แต่ยังมีความหมายต่อไปอีก

         สำหรับคนอีกเป็นจำนวนมาก นอกจากความหมายที่หนึ่งแล้วยังมีความหมายที่สองพ่วงมาด้วย ความหมายที่สองนี้ขยายกว้างไกลออกไป คือ มองว่างานนี้จะนำชีวิตของเราไปสู่การมีตำแหน่ง มีฐานะตลอดจนความรุ่งโรจน์หรือความรุ่งเรือง และความนิยมนับถือต่างๆ ที่ทางพระเรียกว่า โลกธรรม ซึ่งก็เป็นความหมายที่สำคัญเหมือนกัน คนในโลกจำนวนมากมองความหมายของงานในแง่นี้

         ต่อไปงานยังมีความหมายอย่างอื่นอีก งานในความหมายหนึ่งทำให้มองกว้างออกไปนอกเหนือจากตัวเอง ในความหมายที่ว่ามาแล้วเรามองจำกัดเฉพาะตัวเอง ที่บอกว่างานเป็นเครื่องเลี้ยงชีวิต ก็เป็นเรื่องของตัวฉัน งานเป็นบันไดไต่เต้าไปสู่ความรุ่งเรือง หรือความสำเร็จ ก็เพื่อตัวฉัน

         แต่ที่จริงงานไม่ใช่แค่ตัวฉัน งานเป็นเรื่องที่กว้างกว่านั้น งานเป็นเรื่องที่เป็นไปเพื่อการสร้างสรรค์เป็นไปเพื่อการพัฒนา เป็นกิจกรรมของสังคม เป็นของประเทศ เป็นของโลก โลกจะเป็นไปได้ สังคมจะดำเนินไปได้ ประเทศชาติจะพัฒนาได้จะต้องอาศัยคนทำงาน เพราะฉะนั้นคนที่ทำงาน จึงเท่ากับได้มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์พัฒนาสังคมประเทศชาติ ตามความหมายของงานในแง่นี้ พอเราทำงานเราก็นึกทีเดียวว่า ตอนนี้เรากำลังทำการอย่างหนึ่งซึ่งเป็นส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมประเทศชาติ หรือมองว่าเรากำลังทำอะไรอย่างหนึ่งเพื่อประโยชน์สุขของสังคมหรือของประชาชน

         ต่อไป งานยังมีความหมายอีก ในแง่ว่าเป็นสิ่งที่แปรสภาพชีวิตของคน ทำให้คนมีสภาพชีวิตที่แตกต่างกันไป ทำให้การดำเนินชีวิตต่างกันไป สภาพความเป็นอยู่ต่างกันไป คนเป็นกรรมกรก็มีความเป็นอยู่แบบหนึ่งคนเป็นนักวิชาการก็มีสภาพชีวิตอีกแบบหนึ่ง ท่านที่เป็นแพทย์ก็มีสภาพชีวิตไปอีกแบบหนึ่ง เป็นพระภิกษุก็มีสภาพความเป็นอยู่อีกแบบหนึ่ง สภาพความสัมพันธ์ในสังคมก็แปลกกันไป ทั้งหมดนี้ก็เป็นเรื่องของงานที่แบ่งสภาพชีวิตของคนให้แตกต่างกันไป จึงจัดว่าเป็นความหมายอีกอย่างหนึ่งของงาน

         สำหรับบางคนอาจมองว่า งานเป็นสิ่งที่ทำให้ชีวิตมีคุณค่า ถึงกับบอกว่า ค่าของคนอยู่ที่ผลของงาน คนที่กล่าวคติอย่างนี้มองไปในแง่ว่า งานเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ชีวิตมีค่า ถ้าไม่ทำงานที่ดีมีประโยชน์ ชีวิตนี้ก็ไม่มีค่า

         ต่อไปความหมายของงานอีกอย่างหนึ่ง ก็คือ งานเป็นโอกาสที่จะได้พัฒนา หรือว่าการทำงานคือการพัฒนาตน ความหมายของงานในแง่ที่เป็นการพัฒนาตนนี้ไปสัมพันธ์กับความหมายของการใช้ชีวิตอย่างที่ว่ามา เมื่อกี้นี้ที่พูดว่าดำเนินชีวิตเพื่อพัฒนาตน หรือเพื่อพัฒนาศักยภาพนั้น ที่จริงสาระของมันก็อยู่ที่งานนี่เอง ที่เป็นตัวพัฒนา งานนี้แหละเป็นสิ่งที่พัฒนาชีวิตของเรา พัฒนาให้เรามีความสามารถทำให้เรามีความเชี่ยวชาญ มีความเก่งกาจในทางใดทางหนึ่ง แม้ในด้านการฝึกฝนทางจิตใจหรือในทางคุณธรรมนั้น งานก็เป็นเครื่องมือฝึกฝนคน ทำให้เรามีความขยัน มีความอดทน ทำให้มีระเบียบวินัย ทำให้รู้จักสัมพันธ์กับเพื่อนพ้องผู้ร่วมงาน สิ่งเหล่านี้ล้วนอาศัยงานเป็นเครื่องฝึก

         ถ้าคนรู้จักทำงานเป็น จะสามารถใช้งานเป็นเครื่องมือในการฝึกฝนพัฒนาตนเองได้มากมาย เพราะฉะนั้นในแง่หนึ่ง นักทำงานจะมองว่างานเป็นสิ่งที่ช่วยฝึกฝนพัฒนาตัวของเขา อย่างที่ว่าทำให้ศักยภาพของเขาถึงความสมบูรณ์

         ทั้งหมดนี้ก็เป็นความหมายของงานในแง่ต่างๆ ซึ่งกล่าวได้มากมายหลายนัย นอกจากนี้ก็อาจมีผู้ที่มองความหมายของงานในแง่นี้อีก แต่ในแง่หลักๆ แล้วก็จะเป็นอย่างนี้

ควรทำงานกันอย่างไร ?
 

          ทีนี้เมื่อคนทำงานไปตามความหมายและความเข้าใจของเขา ความหมายของงานตามที่เขาเข้าใจนั้นก็มีผลต่อพฤติกรรมในการทำงาน และส่งผลต่อความรู้สึกและต่อสภาพจิตใจในการทำงานของเขาด้วย เราเข้าใจการทำงานอย่างไรเราก็มุ่งหวังผลสนองไปตามความหมายนั้น ถ้าเกิดผลสนองตามความมุ่งหมายเราก็เกิดความพึงพอใจ ถ้าไม่สนองตามความมุ่งหมายก็เกิดความเศร้าเสียอกเสียใจ เพราะฉะนั้น ความเข้าใจในความหมายของงานจึงมีผลกระทบต่อชีวิตจิตใจของเรามาก

         ตัวอย่างเช่น คนที่ทำงานในความหมายที่เป็นเพียงเครื่องมือหาเลี้ยงชีพ ให้ได้ผลตอบแทน ให้ได้ผลประโยชน์ ถ้าหากว่าไม่ได้ผลประโยชน์มาก ผลประโยชน์ที่ได้มาน้อยไป เขาก็จะรู้สึกไม่สมหวัง เกิดความไม่พอใจ เกิดความทุกข์ เพราะว่าความมุ่งหมายในการทำงานของเขา ไปอยู่ที่ตัวผลประโยชน์ตอบแทนคือเรื่องเงินทอง เป็นต้น การที่เขาจะมีความสุขหรือความทุกข์ก็อยู่แค่นั้น

         ทีนี้ ถ้ามองความหมายของงานไปในแง่ว่า เป็นการทำหน้าที่หรือบำเพ็ญประโยชน์เพื่อสังคมประเทศชาติ สำหรับคนที่มองอย่างนี้ บางทีแม้ว่าผลประโยชน์ตอบแทนอาจไม่มากนัก แต่ความพึงพอใจของเขาอยู่ที่ว่า งานนั้นทำให้เกิดประโยชน์แก่สังคม ดังนั้น เขาก็มีความสุข  ความรู้สึกในจิตใจไปสัมพันธ์กับความเข้าใจความหมายของงาน

         คนที่มองงานในแง่ของการพัฒนาตนหรือพัฒนาศักยภาพ เวลาทำงานก็จะเพลินไปกับงาน เพราะในเวลาที่ทำงานเราได้ฝึกตัวของเราอยู่ตลอดเวลา เราทำงานไปเราก็ได้ความสามารถเพิ่มพูนความชำนาญมากขึ้น ส่วนเรื่องที่ว่าจะได้ผลประโยชน์ตอบแทนมากน้อย เราจะไม่คำนึงถึงนัก เราจะมีความพึงพอใจในการที่ได้พัฒนาตนเองให้ศักยภาพออกผลเพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้น การเข้าใจความหมายของงานจึงเป็นสิ่งสำคัญมากต่อสภาพจิตใจ

         ตอนนี้ อยากจะพูดถึงความรู้สึกพื้นฐานทางวัฒนธรรมเกี่ยวกับเรื่องงานสักนิดหนึ่ง เมื่อเรามองดูความหมายของงาน ถ้ามองดูวัฒนธรรมไทยและนำไปเทียบกับวัฒนธรรมตะวันตก จะเห็นว่ามีความแตกต่างกันอยู่ และความแตกต่างนั้นก็แสดงถึงพื้นฐานทางด้านการสั่งสมฝึกอบรมจิตใจของวัฒนธรรมนั้น ๆ คนไทยเรามองคำว่างานกันอย่างไร ก่อนที่วัฒนธรรมแบบตะวันตกเข้ามา คนไทยเราใช้คำว่า งาน ในความหมายที่ไม่เหมือนปัจจุบัน เรามีงานวัด เรามีงานสงกรานต์ เรามีงานกฐิน เรามีงานทอดผ้าป่า คำว่างานในความหมายของคนไทยเป็นกิจกรรม เพื่อความสนุกสนาน เพื่อความบันเทิง งานวัดเป็นเรื่องสนุกทั้งนั้น มีมหรสพ มีละคร หนัง ลิเก ในงานสงกรานต์เราก็ไปสนุกกัน เอาน้ำไปสาดกัน ไปเล่นอะไรต่ออะไรกันครึกครื้น

         แต่ความจริงงานมีความหมายที่ซ้อนอยู่ลึกกว่านั้นคือ เป็นเรื่องการทำความดี กิจกรรมที่เป็นหลักเป็นแกนของงาน ก็คือ การทำบุญ การกุศล หรือบำเพ็ญความดีบางอย่าง โดยเฉพาะการมาร่วมกันทำประโยชน์บางอย่างเพื่อส่วนรวม แม้แต่งานสงกรานต์ก็มีกิจกรรมที่เป็นการทำบุญทำกุศลอยู่ รวมทั้งการขนทรายเข้าวัด

         ดังนั้น การทำงานจึงมีความหมายในเชิงที่เป็นกิจกรรมในการทำความดีบางอย่าง หรือเกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางศาสนา แต่ส่วนหนึ่งที่ปนอยู่ด้วยก็คือความสนุกสนานบันเทิง ซึ่งเป็นส่วนที่หลงเหลือมาถึงปัจจุบันในคนไทยส่วนมาก เป็นอันว่าความหมายของงานที่เป็นไปตามวัฒนธรรมไทยนี้ เหลือมาในรูปของความสนุกสนานเป็นหลัก

         ทีนี้ ในแง่ของสังคมตะวันตก การทำงานแบบตะวันตกเข้ามาพร้อมกับวัฒนธรรมตะวันตกนั่นเอง ความหมายแบบตะวันตกคืออะไร งานในความหมายของตะวันตกนั้นเรียกว่า work และมีความสำคัญที่คู่กับ work เป็นคำที่ตรงข้ามกัน ซึ่งมีค่าเท่ากับ work ซึ่งช่วยให้ความเด่นชัดแก่ความหมายของ work ด้วยคือคำว่า leisure แปลว่า การพักผ่อนหย่อนใจ งานในความหมายของฝรั่ง จึงคู่และตรงข้ามกันกับการพักผ่อนหย่อนใจ เพราะฉะนั้น วัฒนธรรมตะวันตกจึงมองว่างานเป็นเรื่องของความเหน็ดเหนื่อย ลำบากตรากตรำ เป็นเรื่องที่ต้องทนทำด้วยความทุกข์ยากและก็จึงต้องมีสิ่งที่คู่กันเพื่อทดแทน คือ การพักผ่อนหย่อนใจ

         เพราะฉะนั้น ตามวัฒนธรรมของฝรั่งนี้ คนเราต้องทำงาน และเสร็จแล้วก็ไปพักผ่อนหย่อนใจเพื่อเป็นสิ่งที่ช่วยทดแทนชดเชยหรือผ่อนระบาย ดังนั้น งานจึงเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความเครียดได้มาก และถ้าเราตั้งท่าไว้ไม่ดี มีท่าทีของจิตใจที่ไม่ถูกต้อง คือ ไม่มีความรักงาน เราก็จะทำงานด้วยความเหนื่อยหน่ายและอยากจะหนีงาน งานกลายเป็นสิ่งที่หนักหนา ต้องเผชิญ ต้องผจญ ต้องต่อสู้ เพราะฉะนั้นก็จึงต้องหาทางหลีกเลี่ยงไปเสีย เราจะต้องการให้งานเลิกหรือจะหนีไปจากงานเพื่อไปหาการพักผ่อน อันเป็นสิ่งที่จะต้องแก้ไข และจึงต้องมีจริยธรรมที่เข้าชุดเป็นคู่กันเรียกว่า จริยธรรมในการทำงาน (work ethic) คือว่า คนในวัฒนธรรมตะวันตกซึ่งทำงานแบบตะวันตกจะต้องสร้างนิสัยรักงานขึ้นมาให้ได้ พอรักงานก็มีใจสู้ และทนต่อความหนักความเหน็ดเหนื่อยของงานได้

         เป็นอันว่า ความหนักและความเหน็ดเหนื่อยเป็นลักษณะงานแบบตะวันตก คนไทยรับเอาความหมายของคำว่า งาน ในแง่ที่เป็นความหนักน่าเหนื่อยมาจากตะวันตก โดยไม่ได้รับเอานิสัยรักงานมาด้วยแต่เรามีนิสัยรักความสนุกที่สั่งสมมา กับความหมายของงานในวัฒนธรรมของไทยเราเอง ในสภาพของความนุงนังและสับสนของวัฒนธรรมอย่างนี้ ถ้าเราปรับตัวไม่ดี เราจะเสียทั้งสองด้าน คือ ในแง่ของตัวเองเราก็รักความสนุกสนาน ของเก่าที่ว่างานมีความหมายเป็นความสนุกสนาน เรามุ่งอยากได้ความสนุกสนานพอเจองานแบบตะวันตกที่หนักและไม่สนุก ก็อยากจะหนีงานไป เพราะไม่มีนิสัยรักงาน ผลเสียก็จะเกิดขึ้น

         เพราะฉะนั้น ถ้าจะให้ดีก็ต้องแก้ไขให้ถูกต้องความหมายที่ดีของเราในวัฒนธรรมเก่าว่า งานเป็นกิจกรรมเพื่อส่วนรวม เพื่อร่วมกันสร้างสรรค์อะไรสักอย่างหนึ่ง โดยมีความสนุกสนานเป็นผลพ่วงมาหรือเป็นผลพลอยได้ เราก็รักษาไว้ และในเวลาเดียวกัน งานในความหมายที่ต้องสู้ต้องทำด้วยความเหน็ดเหนื่อยนี้ เราก็ยินดีต้องรับไม่ถอยหนี จะต้องแก้ไขปัญหาให้ได้ว่าทำอย่างไรจึงจะให้การทำงานเป็นไปด้วยดี โดยมีนิสัยรักงานและสู้งานมาช่วยสนับสนุน

จุดมุ่งหมายของคน หรือจุดมุ่งหมายของงาน ?
 

          จะเห็นว่าความหมายทางจิตใจเป็นเรื่องสำคัญ เราจะสู้งานหรือจะคอยหนีจากงานก็อยู่ที่สภาพจิตใจอย่างที่ว่ามาแล้ว และในการที่จะมีสภาพจิตใจที่เอื้อต่อการทำงานนั้น สิ่งหนึ่งที่จะสนับสนุนให้คนทำงานได้ผลดีก็คือ กำลังใจ พอพูดถึงกำลังใจก็มีปัญหา อีกกำลังใจจะมาได้อย่างไร กำลังใจก็เป็นเรื่องของความสัมพันธ์เชิงวงจรอีก มันย้อนไปย้อนมา ถ้าเรามีกำลังใจเราก็ทำงานได้ดี แต่ทำอย่างไรจึงจะมีกำลังใจ ถ้าทำงานแล้วได้ผลดีก็มีกำลังใจ พองานได้ผลดีมีกำลังใจ ก็ยิ่งทำงาน ยิ่งทำงานก็ยิ่งได้ผลดี ยิ่งได้ผลดีก็ยิ่งมีกำลังใจ อันนี้ก็เป็นเรื่องของการส่งผลย้อนไปย้อนมา

         กำลังใจ เป็นเรื่องสำคัญในการทำงาน แต่การที่จะมีกำลังใจนั้นก็อยู่ที่การเข้าใจความหมายของงานนั้นแหละ คนที่เข้าใจความหมายของงานว่าจะทำให้ได้ผลตอบแทน หรือได้ผลประโยชน์มา ถ้าเขาได้ผลตอบแทนได้ผลประโยชน์มา เขามีกำลังใจแล้วก็ทำงาน แต่ถ้าไม่ได้ผลตอบแทนเป็นอัตราเป็นเงินทองก็ไม่มีกำลังใจ แต่อีกคนหนึ่งมองความหมายของงานว่าว่าเป็นการได้พัฒนาตน หรือเป็นการได้บำเพ็ญประโยชน์แก่สังคม เมื่อเห็นสังคมเจริญก้าวหน้ามีความสงบสุขยิ่งขึ้นเขาก็มีกำลังใจได้ แม้จะไม่ได้ผลตอบแทนเป็นวัตถุมากเท่าไร กำลังใจจึงไปสัมพันธ์กับผลตอบสนองจากงาน ไม่ว่าจะเป็นผลทางวัตถุหรือทางจิตใจ จะเป็นผลแก่ตนเองหรือผลแก่ส่วนรวมก็ตาม แล้วแต่จะมองความหมายของงานอย่างไร

         รวมความว่า กำลังใจเป็นสิ่งสำคัญก็จริง แต่ก็ไม่ใช่เครื่องกำกับที่แน่นอนว่าจะให้เกิดคุณค่าที่เป็นประโยชน์เสมอไป อย่างที่ว่าคนที่ทำงานมุ่งแต่ผลประโยชน์ตอบแทนเป็นเงินทองวัตถุ ถ้าผลตอบแทนน้อยไปไม่ได้มากมาย ก็จะเกิดปัญหาไม่มีกำลังใจในการทำงาน เพราะฉะนั้น เราจะต้องหาอะไรมาช่วยกำลังใจ ให้ได้ผลดียิ่งขึ้น เพื่อให้งานเกิดคุณค่าอย่างแท้จริง สิ่งหนึ่งที่จะมาหนุนคุณค่านี้ได้ก็คือ ศรัทธา ศรัทธาเป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก

         ศรัทธา คือ ความเชื่อ ซึ่งในความหมายอย่างหนึ่งก็คือ การเห็นคุณค่าของสิ่งนั้น เมื่อเห็นคุณค่าของสิ่งใด ก็พอใจสิ่งนั้นและใจก็ยึดเหนี่ยวมุ่งไปหาและมุ่งไปตามสิ่งนั้น เมื่อมุ่งไปหาหรือมุ่งหน้าต่อสิ่งนั้นมุ่งจะทำและมุ่งจะตามไป ก็เกิดกำลังขึ้นมา ศรัทธาเป็นพลัง เมื่อเรามีศรัทธาต่อสิ่งใด เราก็จะสามารถอุทิศชีวิตทั้งร่างกายและจิตใจ อุทิศเรี่ยวแรงกำลังของเราให้แก่สิ่งนั้น เพราะฉะนั้น การที่จะให้เกิดกำลังใจในทางที่ดี จึงต้องสร้างศรัทธาขึ้นมา

         ศรัทธาจะเกิดขึ้นได้ด้วยการเข้าใจความหมายนั่นแหละ เช่น ถ้าเราเข้าใจความหมายของงานในแง่ว่าเป็นสิ่งทีมีคุณค่า เป็นเครื่องสร้างสรรค์ทำให้เกิดประโยชน์แก่สังคม เป็นต้น เราก็เกิดศรัทธาในงานเพราะมองเห็นคุณค่าของงานนั้น พอมีศรัทธาอย่างนี้แล้วศรัทธานั้นก็จะส่งเสริมกำลังใจ ในลักษณะที่พ่วงเอาความเป็นคุณเป็นประโยชน์เข้ามาด้วย ไม่ใช่เป็นกำลังใจล้วนๆ ที่เพียงแต่เกิดจากความสมอยากในการได้วัตถุเท่านั้น เพราะฉะนั้น เมื่อมีศรัทธาแล้วกำลังใจทีเกิดขึ้นก็จะเป็นกำลังใจที่ทำให้เกิดสิ่งเรียกว่า ธรรม คือ มีความดีงาม มีคุณประโยชน์พ่วงมาด้วย

         นอกจากมีศรัทธาในงานแล้ว ก็ต้องมีศรัทธาในวิถีชีวิตด้วย เรื่องนี้จึงมีความหมายโยงไปหาชีวิตด้วย ว่าเรามองชีวิตอย่างไร คนที่มองความหมายของชีวิตในแง่ว่า วิถีชีวิตที่ดีก็คือ การหาความสนุกสนานให้เต็มที่ คนอย่างนั้นจะมาศรัทธาในความหมายของงาน ที่เป็นคุณประโยชน์แก่สังคมก็เป็นไปได้ยาก เพราะฉะนั้น ความหมายของงานที่จะทำให้เกิดศรัทธาจึงต้องโยงไปหาความหมายของชีวิตที่ดีด้วย พอมองว่าชีวิตที่ดี คือการที่เราได้ใช้ชีวิตให้เกิดคุณประโยชน์มีค่าขึ้นและการที่ได้พัฒนาตน เป็นต้น พอมองความหมายของงานในแนวเดียวกันนี้ ความหมายของงานนั้นก็มาช่วยเสริมในแง่ที่เกิดความสัมพันธ์อย่างสอดคล้องกัน คือ ความหมายของงานกับความหมายของชีวิต มาสัมพันธ์เสริมย้ำซึ่งกันและกัน แล้วศรัทธาก็จะเกิดขึ้นอย่างมั่นคง อันนี้ก็เป็นเรื่องของศรัทธา

         ทีนี้ มองต่อไปอีกให้ชัดเจนยิ่งขึ้น เรื่องนี้ไม่ใช่อยู่แค่ศรัทธาเท่านั้น ถ้าเราวิเคราะห์จิตใจของคนที่ทำงานจะเห็นว่า แม้แต่ศรัทธาก็เป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่เรียกว่า แรงจูงใจ เมื่อมาทำงานเราก็ต้องมีแรงจูงใจทั้งนั้น ทั้งหมดที่พูดมาก็อยู่ในหลักการของเรื่องแรงจูงใจทั้งสิ้น คนเราจะทำกิจกรรมอะไรก็ต้องมีแรงจูงใจเมื่อมาทำงานเราก็ต้องมีแรงจูงใจให้มาทำงาน แรงจูงใจจึงเป็นหลักใหญ่ ในการแบ่งประเภทของการทำงานแรงจูงใจนั้นมีอยู่ ๒ ประเภทใหญ่ๆ ด้วยกัน

         แรงจูงใจด้านหนึ่งที่เป็นหลักใหญ่ๆ คือ ความต้องการผลตอบแทน ต้องการผลประโยชน์ต้องการเงินทอง อันนี้เป็นแรงจูงใจที่มุ่งเข้าหาตัวเองเป็นความปราถนาส่วนตัวหรือเห็นแก่ตัว ทางพระท่านเรียกว่า แรงจูงใจแบบตัณหา

         ทีนี้ ต่อจากตัณหายังมีอีกเราต้องการความสำเร็จ แต่ความสำเร็จนั้นเป็นความสำเร็จของตัวเรา โดยเฉพาะความสำเร็จของตัวเราในรูปของความยิ่งใหญ่ ในรูปของการได้ตำแหน่งได้ฐานะ เป็นต้น อันนี้ก็เป็นแรงจูงใจในแง่ของตัวเองเหมือนกัน คือ ความต้องการผลประโยชน์ตอบแทนส่วนตัว ในรูปของความสำคัญของตนเอง ความโดดเด่น เช่น มีตำแหน่งใหญ่โต มีฐานะสูง ข้อนี้เรียกว่า แรงจูงใจแบบมานะ มานะนั้นทางพระแปลว่าถือตัวสำคัญ คือ ความอยากให้ตนเองเป็นผู้โดดเด่นมีความสำคัญหรือยิ่งใหญ่ ไม่ใช่มานะในความหมายของภาษาไทยว่าความเพียรพยายาม

         ตกลงว่า แรงจูงใจพวกที่หนึ่งนี้เป็นเรื่องของตัณหาและมานะ ซึ่งสำหรับมนุษย์ปุถุชนก็ย่อมจะมีกันเป็นธรรมดา แต่จะทำอย่างไรให้ประณีต เช่นว่า ความต้องการผลตอบแทน ก็ขอให้อยู่ในขอบเขตเพียงว่าสำหรับให้เป็นอยู่ดีมีความสะดวกสบายพอสมควร ไม่ถึงกับขัดสนในปัจจัยสี่ และไม่ให้เป็นการเบียดเบียนก่อความเดือดร้อนแก่คนอื่น หรือมานะก็อาจจะมาในรูปของความภาคภูมิใจในความสำเร็จของงาน คือ เอาความสำเร็จมาโยงกับงาน ไม่ใช่เป็นเพียงความสำเร็จเพื่อความยิ่งใหญ่ของตน ถ้าหากว่าความสำเร็จไปโยงกับตัวงาน มันก็ยังเป็นเรื่องของความดีงามได้ เรื่องอย่างนี้ทางพระพุทธศาสนาไม่ได้ปฏิเสธ ท่านยอมรับความจริงของปุถุชน แต่ทำอย่างไรจะให้โยงเข้าไปหาแรงจูงใจที่เป็นธรรมให้มากขึ้น

         ทีนี้ แรงจูงใจพวกที่สอง ก็คือ แรงจูงใจ เช่น อย่างศรัทธาที่มีต่องานที่มีคุณค่า เป็นแรงจูงใจที่ต้องการให้ความดีงามเกิดมีหรือปรากฏขึ้น ความต้องการความดีงาม ต้องการความจริง ต้องการสิ่งที่มีคุณค่าเป็นประโยชน์อะไรต่างๆ เหล่านี้ เป็นแรงจูงใจที่ท่านเรียกด้วยคำศัพท์ทางธรรมอีกคำหนึ่งว่าฉันทะ เช่น คนทำงานด้วยความต้องการให้เกิดความสงบสุขความเรียบร้อย ความเป็นระเบียบของสังคม ถ้าทำงานแพทย์ หรือทำงานเกี่ยวกับโภชนาการ ก็อยากให้มนุษย์ในสังคมนี้เป็นคนที่มีสุขภาพดี ร่างกายแข็งแรง อยากให้มีแต่อาหารที่มีคุณค่าแพร่หลายออกไปในสังคมนี้ แรงจูงใจหรือความปรารถนา อย่างนี้ท่านเรียกว่าเป็นแรงจูงใจแบบฉันทะ

         แรงจูงใจนี้สำคัญมาก ถ้ามองอีกแง่หนึ่งจะเห็นว่า แรงจูงใจนี้สัมพันธ์กับสัมฤทธิ์ผลหรือจุดมุ่งหมายซึ่งอาจแบ่งได้เป็น จุดหมายของคน กับ จุดหมายของงาน แรงจูงใจแบบที่หนึ่งที่ต้องการผลตอบแทนเป็นเงินเป็นทอง ต้องการเกียรติฐานะความยิ่งใหญ่นั้นโยงไปหาจุดหมายของคนที่ทำงาน ส่วนแรงจูงใจแบบที่สองจะมุ่งตรงไปยังจุดหมายของงาน

         ตามธรรมดาไม่ว่าเราจะทำงานอย่างไร งานนั้นย่อมมีจุดหมาย เช่นว่า การทำงานแพทย์ก็มีจุดหมายที่จำบำบัดโรค ทำให้คนไข้หายโรค ให้คนมีสุขภาพดีตัวงานนั้นมีความมุ่งหมายที่ชัดเจนและตรงไปตรงมา ถ้าเราทำงานให้การศึกษา เราก็ต้องการผลที่เป็นจุดมุ่งหมายของการศึกษา จุดหมายของงานในการให้การศึกษา ก็คือการที่เด็กและเยาวชนเป็นคนดี มีความรู้มีความประพฤติดี รู้จักดำเนินชีวิตอย่างถูกต้อง ได้พัฒนาตนเองยิ่งขึ้นไป

         งานทุกอย่างมีจุดหมายของมัน แต่คนที่ไปทำงานก็มีจุดหมายของตัวเองด้วย ทีนี้ปัญหาก็อยู่ที่ว่าเมื่อเขาไปทำงานนั้น เขาจะทำงานเพื่อจุดหมายของคน หรือทำงานเพื่อจุดหมายของงาน ถ้าเขาทำงานด้วยแรงจูงใจแบบที่หนึ่ง จุดหมายที่อยู่ในใจของเขาก็จะเป็นจุดหมายของคน คือ ทำงานเพื่อจุดหมายของคน ให้ตนได้นั่นได้นี่ แต่ถ้าเขาทำงานด้วยแรงจูงใจแบบที่สอง เขาก็จะทำงานเพื่อจุดหมายของงาน ให้งานเกิดผลประโยชน์ตามคุณค่าของมัน

         ทีนี้ การเป็นปุถุชนเมื่อยังมีกิเลสก็ต้องประสานประโยชน์ คือ ต้องให้จุดหมายของคนไปสัมพันธ์เชื่อมโยงกับจุดหมายของงาน หมายความว่าต้องให้ได้จุดหมายของงานเป็นหลักไว้ก่อนแล้วจึงมาเป็นจุดหมายของคนทีหลัง คือ ให้จุดหมายจุดหมายของคนพลอยพ่วงต่อมากับจุดหมายของงาน ถ้าเอาแต่จุดหมายของคนแล้ว บางทีงานไม่สำเร็จ และเสียงานด้วย คือ คนนั้นมุ่งแต่จุดหมายคนอย่างเดียว จะเอาแต่ตัวได้เงินได้ทอง ไม่ได้ต้องการให้งานสำเร็จ ไม่ได้ต้องการเห็นผลที่ดีจะเกิดจากงานนั้น ไม่ได้มีความคิดที่จะเอาธุระ หรือเห็นความสำคัญเกี่ยวกับตัวงาน เพราะฉะนั้น จึงพยายามเลี่ยงงานหรือหาทางลัดที่จะไม่ต้องทำงาน ขอให้ได้เงินหรือผลตอบแทนมาก็แล้วกัน

         ตกลงว่า แรงจูงใจแบบหนึ่งสัมพันธ์กับจุดหมายของคน และแรงจูงใจอีกแบบหนึ่งสัมพันธ์กับจุดหมายของงาน ซึ่งจะมีจุดเชื่อมโยงต่อที่แตกต่างกันว่าเมื่อทำงานไปแล้วได้ผลสำเร็จขึ้นมา จะเป็นผลสำเร็จของคนหรือเป็นผลสำเร็จของงาน ถ้าจะทำงานให้ถูกต้องก็ต้องมองไปที่ผลสำเร็จของงาน ไม่ใช่มุ่งเอาแต่ผลสำเร็จของคน ถ้าจะเป็นผลสำเร็จของคนก็เพราะว่าเป็นผลสำเร็จของงานส่งทอดมาอีกต่อหนึ่ง ไม่ใช่ว่างานเป็นเงื่อนไขที่จำใจต้องทำเพื่อผลสำเร็จของคน

         คนจำนวนไม่น้อยหวังผลสำเร็จ หรือผลประโยชน์ของคนอย่างเดียว ถ้าเป็นอย่างนี้ก็จะเป็นปัญหาต่อการพัฒนาประเทศชาติ การพัฒนาประเทศชาติ และการแก้ปัญหาของสังคมก็ยากที่จะบรรลุความสำเร็จ และจะส่งผลต่อไปถึงสภาพจิตใจดังที่ได้พูดมาแล้วว่า สภาพจิตใจกับการทำงานส่งผลย้อนกลับกันไปมา คือ สภาพจิตใจที่ดีส่งผลต่อการทำงานให้ทำงานได้ดี และการทำงานได้ดีมีผลสำเร็จ ก็ส่งผลย้อนกลับไปหาสภาพจิตใจทำให้มีกำลังใจเป็นต้นอีกทีหนึ่ง เช่น เรื่องสภาพจิตใจในด้านแรงจูงใจกับการมุ่งวัตถุประสงค์หรือจุดหมายของคน  หรือของงานซึ่งจะส่งผลต่อสภาพจิตใจของคนให้เป็นไปต่างๆ กัน

ชีวิต งาน และธรรม : ความประสานสู่เอกภาพ
 

           ในสภาพอย่างนี้ เราจะมองเห็นพัฒนาการของคนในการทำงาน มองเห็นพัฒนาการของชีวิต ในลักษณะที่ว่า ตอนต้นคนจำนวนมากมองแบบปุถุชนว่า งานเพื่อชีวิต คือ เราทำงานเพื่อจะได้ผลตอบแทนมาเลี้ยงชีวิต ชีวิตของเราอาศัยงาน คือ เราอาศัยงานเพื่อให้ชีวิตของเราเป็นอยู่ได้ ต่อมาจะเห็นว่ามีการก้าวหน้าไปอีกขั้นหนึ่งคือ กลายเป็นงานเพื่องาน ตอนนี้งานก็เพื่องานนั่นแหละ คือ เพื่อให้งานนั้นสำเร็จด้วยดี เพื่อจุดมุ่งหมายของงาน ตรงไปตรงมา ที่ว่างานเพื่อชีวิตนั้นเป็นเรื่องของเงื่อนไข ไม่ใช่เป็นเหตุปัจจัย จะต้องมองความเป็นเหตุปัจจัย และการเป็นเงื่อนไขว่าเป็นคนละอย่าง แต่งานเป็นเงื่อนไข

           งานเพื่อเพื่อชีวิตนั้นแท้จริงแล้ว ไม่ใช่ความสัมพันธ์ตามเหตุปัจจัยงาน ไม่ใช่เป็นเหตุปัจจัยของชีวิต แต่งานเป็นเงื่อนไขเพื่อให้ได้ผลตอบแทนมาเลี้ยงชีวิต แต่งานเพื่องานแล้วก็เป็นเรื่องของเหตุปัจจัยโดยตรงงานอะไรก็เพื่อจุดหมายของงานอันนั้น เช่น งานของแพทย์คือการรักษาโรค ก็เพื่อจุดมุ่งหมายของงาน คือ ทำให้คนหายโรค ทำงานโภชนาการก็เพื่อให้คนได้กินอาหารดีแล้วคนก็จะได้มีสุขภาพดี เป็นจุดหมายของงานโดยตรง งานก็เพื่องาน เมื่อเราทำงานเพื่องานแล้ว ไปๆ มาๆ งานที่ทำนั้นก็กลายเป็นกิจกรรมหลักของชีวิตของเรา กลายเป็นตัวชีวิตของเรา งานเพื่องานก็กลายเป็นชีวิตเพื่องาน ชีวิตของเราก็กลายเป็นชีวิตเพื่องาน ทำงานไป ทำงานมา ชีวิตของเรากลายเป็นชีวิตเพื่องาน

           อนึ่ง พร้อมกับทีว่าเป็นงานเพื่องานนั่นแหละมันก็เป็นธรรมไปในตัว เหมือนอย่างที่บอกว่าทำงานเพื่อประโยชน์สุขแก่สังคม หรือว่าแพทย์ทำให้คนไข้มีสุขภาพดี การให้เกิดประโยชน์สุขแก่สังคม และการช่วยให้คนมีสุขภาพดีก็เป็นตัวธรรม การที่ครูให้การศึกษาแก่เด็กนักเรียน ทำให้นักเรียนมีการศึกษามีสติปัญญา การมีสติปัญญา การที่มีชีวิตที่ดีงามก็เป็นธรรม เพราะฉะนั้น งานนั้นก็เพื่อธรรม

           เมื่อเราเอาชีวิตของเราเป็นงาน เอางานของเราเป็นชีวิตไปแล้ว ก็กลายเป็นว่าชีวิตของเราก็เพื่อธรรม งานก็เพื่อธรรม ซึ่งมองกันไปให้ถึงที่สุด ไม่ใช่แค่เพื่อเท่านั้น คือ ที่ว่างานเพื่องาน งานเพื่อธรรม ชีวิตเพื่องาน ชีวิตเพื่อธรรม อะไรต่างๆ นี้ ในที่สุดทั้งหมดนี้ก็เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เมื่อถึงขั้นนี้ก็ไม่ต้องใช้คำว่า “เพื่อ“ แล้ว เพราะทำไปทำมา ชีวิตก็คืองาน งานก็คือชีวิต และงานก็เป็นธรรมไปในตัว เมื่องานเป็นธรรมชีวิตก็เลยเป็นธรรมด้วย ตกลงว่า ทั้งชีวิตทั้งงานก็เป็นธรรม ไปหมด พอถึงจุดนี้ก็เข้าถึงเอกภาพที่แท้จริงแล้วทุกอย่างก็จะถึงจุดที่สมบูรณ์ในแต่ละขณะอย่างที่กล่าวแล้ว

           ในภาวะแห่งเอกภาพที่ชีวิต งาน และ ธรรม ประสานกลมกลืนเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันนั้น คนที่ทำงานก็จะมีชีวิตและงานและธรรมสมบูรณ์พร้อมในแต่ละขณะที่เป็นปัจจุบัน และจะมีแต่ชีวิตและงานที่มีความสุข ไม่ใช่ชีวิตและงานที่มีความเศร้านี้เป็นประการที่หนึ่ง ประการที่สอง ชีวิตนั้นมีคุณค่าเป็นประโยชน์ ไม่มีโทษ และประการที่สาม ชีวิตนี้และงานนั้นดำเนินไปอย่างจริงจัง กระตือรือร้น ไม่เฉื่อยชา ไม่ประมาท ลักษณะของงานอย่างหนึ่งที่เป็นโทษก็คือ ความเฉื่อยชา ความท้อแท้ ขาดความกระตือรือร้น ซึ่งโยงไปถึงสภาพจิตด้วย เมื่อเราได้คุณลักษณะของการทำงาน และชีวิตอย่างที่ว่ามานี้ เราก็ได้คุณภาพที่ดีทั้งสามด้าน คือ ได้ทั้งความสุข ได้คุณประโยชน์ หรือคุณค่า และได้ทั้งความจริงจัง กระตือรือร้น ซึ่งเป็นเนื้อแท้ในตัวงานด้วย

           ถ้าเป็นอย่างนี้แล้ว ชีวิตนั้นก็เป็นชีวิตที่มีความสมบูรณ์ในตัวเอง ซึ่งในแง่ของงานก็เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับงาน แล้วก็เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับประโยชน์ สุขที่จะเกิดแก่ชีวิต และสังคมของมนุษย์ด้วย ชีวิตอย่างนี้จึงมีความหมายเท่ากับประโยชน์สุขด้วย หมายความว่า ชีวิตคือประโยชน์สุข เพราะการเป็นอยู่ของชีวิตนั้น หมายถึงการเกิดขึ้น และการดำรงอยู่ของประโยชน์สุขด้วย

           คนผู้ใดมีชีวิตอยู่อย่างนี้ การเป็นอยู่ของเขาก็คือ ประโยชน์สุขที่เกิดขึ้นแก่เพื่อนมนุษย์ แก่ชีวิต แก่ สังคมตลอดเวลา เพราะฉะนั้น ถ้าผู้เป็นอย่างนี้มีชีวิตยืนยาวเท่าไร ก็เท่ากับทำให้ประโยชน์สุขแก่สังคม แก่มนุษย์ แผ่ขยายไปได้มากเท่านั้น ดังนั้น อายุที่มากขึ้นก็คือประโยชน์สุขของคนที่มากขึ้น แพร่หลายกว้างขวางยิ่งขึ้นในสังคม

           ครั้งหนึ่ง ท่านพระสารีบุตรอัครสาวกฝ่ายขวาของพระพุทธเจ้าถูกถามว่า ถ้าพระพุทธเจ้ามีอันเป็นอะไรไป ท่านจะมีความโศกเศร้าไหม พระสารีบุตรตอบว่า “ถ้าพระพุทธเจ้ามีอันเป็นอะไรไป ข้าพเจ้าจะไม่มีความโศกเศร้า แต่ข้าพเจ้าจะมีความคิดว่า ท่านผู้ทีมีคุณความดีมาก มีประโยชน์มาก ได้ลับล่วงไปเสียแล้ว ถ้าหากท่านดำรงอยู่ในโลกไปได้นานเท่าไร ก็จะยิ่งเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขแก่คนจำนวนมากเท่านั้น” ท่านตอบอย่างนี้ก็หมายความว่า เป็นการตั้งท่าทีที่ถูกต้องต่อกันทั้งต่อตัวของท่านเอง และต่อชีวิตของท่านผู้อื่นด้วย ก็อย่างที่ว่ามาแล้วว่า ชีวิตที่ยืนยาวอยู่ในโลกของคนที่มีคุณสมบัติเช่นนี้ ก็คือ ความแพร่หลายของประโยชน์สุขมากยิ่งขึ้น