เอกสารมอญ - ธรรมศาสตร์มอญ เค้ากฏหมายไทย (1)

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
06/03/2009
ที่มา: 
http://www.monstudies.com

ธรรมศาสตร์มอญ เค้ากฏหมายไทย (1)
โดย พิศาล บุญผูก

คัมภีร์พระธรรมศาสตร์ เป็นพระคัมภีร์ที่ยิ่งใหญ่มีความสำคัญต่อมวลมนุษยชาติ ในสมัยโบราณมีหลายชาติได้ยึดถือปฏิบัติตาม บทบัญญัติของพระคัมภีร์นี้ เป็นระยะเวลาต่อเนื่องยาวนานสืบต่อกันมาหลายศตวรรษ

นักปราชญ์อินเดียโบราณได้เรียบเรียง และประมวลหนักนิติธรรม เพื่อประโยชน์ในการบริหารบ้านเมือง ให้เป็นปกติสุข ด้วยการกำหนดรูปแบบ และระเบียบของสังคมให้อยู่ภายในกรอบ หรือกฏเกณฑ์ที่เหมาะสมหลักนิติธรรมอันยิ่งใหญ่นี้ มีชื่อในอินเดียวว่า พระมนูธรรมศาสตร์

พระมนูได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งนิติธรรม เพราะเป็นผู้ให้กำเนิดหลักกฏหมายที่สำคัญที่สุด ของอินเดียเป็นคนแรก ได้เรียบเรียงประมวลหลักกฏหมาย ที่เป็นประโยชน์แก่สังคมที่เรียกว่า พรธรรมศาสตร์ เพื่อเป็นการเทิดทูนพระมนู อินเดียจึงขนานนามคัมภีร์นี้ว่า คัมภีร์พระมนูธรรมศาสตร์ หรือ มานวธรรมศาสตร์

อินเดียและ"มอญ" ได้มีการติดต่อสัมพันธ์กันมาแต่โบราณ อารยะธรรมอินเดียได้เผยแพร่ มาสู่ราชอาณาจักรมอญที่เมืองสุธรรมวดี หรือเมืองสะเทิม และทวาราวดี มอญ จึงได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมอินเดีย ไว้อย่างมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งศาสนา ศิลปวัฒนธรรม สถาปัตยกรรม ประติมากรรม อักษรศาสตร์เป็นต้น

คัมภีร์พระธรรมศาสตร์ หรือพระมนูธรรมศาสตร์เป็นอีกส่วนหนึ่ง ที่ มอญ ได้รับมาจากอินเดีย เนื่องจากชาวอินเดียผู้ให้กำเนิดพระธรรมศาสตร์ ส่วนใหญ่นับถือศาสนาฮินดูหรือพราหมณ์ อิทธิพลของพราหมณ์จึงเป็นส่วนสำคัญ ที่ถูกกำหนดไว้ในพระมนูธรรมศาสตร์ ที่กล่าวถึงอุดมคติทางพราหมณ์ แต่เมื่อ มอญ ได้รับศาสนาพุทธจากอินเดียการหยั่งลึก ในคำสอนของพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ มอญ ได้ปรับหลักการในพระมนูธรรมศาสตร์ หรือธรรมสัตธัมของ”มอญ”แตกต่างจากของอินเดียแต่เดิม ด้วยการตัดทอน หรือปรับข้อความที่เป็นส่วนของพราหมณ์ คงไว้แต่หลักกฏหมายที่เหมาะสม แก่การปกครองบ้านเมือง และปรับให้เข้ากับหลักการทางพุทธศาสนา

การถ่ายทอดพระธรรมศาสตร์ในยุคแรก ๆ นั้น ใช้วิธีจำและท่องจำต่อๆ กันมา จนถึงพุทธศตวรรษที่ 12 “มอญ”จึงได้ประดิษฐตัว อักษรมอญ โดยการดัดแปลงอักษรปาวละของอินเดียใต้มาใช้ รวมกับสระและพยัญชนะบางตัวของสันกฤต และมีการจารึกคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ ดังกล่าวเป็นตัวอักษรมอญในภายหลังต่อมา

คัมภีร์พระธรรมศาสตร์”มอญ”ที่เก่าที่สุด ที่มีปรากฏหลักฐานในขณะนี้คือ พระธรรมศาสตร์พระธรรมวิลาสะ และพระธรรมศาสตร์พระเจ้าฟ้ารั่ว แต่ยังมีพระธรรมศาสตร์มอญอื่น ๆ ที่มีมาก่อน ด้วยการถ่ายทอดจดจำกันมา พระธรรมศาสตร์เหล่านั้น มีบทบาทสำคัญ ในการปกครองบ้านเมืองของ”มอญ”และเป็นพื้นฐาน หรือแนวทางที่ใช้ในการจัดทำ พระธรรมศาสตร์ฉบับอื่น ๆ ในเวลาต่อมาด้วย

คัมภีร์พระธรรมศาสตร์มอญที่มีชื่อว่า พระธรรมศาสตร์พระธรรมวิลาสะ นี้ มีหลักฐานได้กล่าวไว้ในจารึกกัลยาณี ซึ่งพระเจ้าธรรมเจดีย์ธรรมปิฏกธร พระมหาราชมอญครองกรุงหงสาวดีโปรดเกล้าฯ ให้จารึกไว้ ได้กล่าวย้อนหลังถึงประวัติความเป็นมา ของพระธรรมศาสตร์พระธรรมวิลาสะไว้ ดังนี้

“ในเมืองทะละมีสามเณรรูปหนึ่งนามว่า สารีบุตร เป็นชาวบ้าน บัตตะปาเจยะ  ได้อุปสมบทกับพระอนันทะมหาเถระ ชาวเมืองกัญจิปุระ ชมพูทวีป พระสารีบุตรเป็นผู้มีสติปัญญา สามารถเล่าเรียนจนรอบรู้ในพระไตรปิฏก รู้ ภาษามอญ ภาษามคธ และพม่า ปรากฏชื่อเสียงถึงเมืองพุกาม”

พระเจ้าราปติสิทธุ กษัตริย์พุกามได้ทรงทราบกิตติศัพท์พระสงฆ์มอญนี้ ประสงค์ที่จะให้ช่วยรวบรวมเรียบเรียง หลักกฏหมายที่ใช้ในการปกครองบ้านเมือง

“พระองค์ขอร้องพระสารีบุตร ช่วยรจนาหลักนิติธรรมต่าง ๆ เมื่อพระสารีบุตรได้สนองพระประสงค์ จนสำเร็จเรียบร้อยแล้ว พระองค์จึงทรงพระราชทานนาม แด่พระสารีบุตรใหม่ว่า พระธรรมวิลาส อันหมายถึง ผู้มีความงดงามในธรรม ได้แต่งพระธรรมศาสตร์นี้ใน พ.ศ. 1717”

พระธรรมศาสตร์ดังกล่าวนี้ จึงมีชื่อเรียกกันว่า พระธรรมศาสตร์ธรรมวิลาสะ เป็นการเรียบเรียงพระธรรมศาสตร์ จากแนวของอินเดียเป็นแบบฉบับ ของ มอญ แต่เป็นภาษามคธ ต่อมาจึงแปลเป็น”ภาษามอญ”

พระธรรมวิลาสะได้รับการยกย่องนับถือจากกษัตริย์พุกามมาก และได้ชื่อต่อมาว่า พระชินอรหันต์


อ่านทั้งหมด

เอกสารมอญ - ธรรมศาสตร์มอญ เค้ากฏหมายไทย (1)

เอกสารมอญ - ธรรมศาสตร์มอญ เค้ากฏหมายไทย (2)

เอกสารมอญ - ธรรมศาสตร์มอญ เค้ากฏหมายไทย (3)

เอกสารมอญ - ธรรมศาสตร์มอญ เค้ากฏหมายไทย (4)