วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
18/03/2009
ที่มา: 
มูลนิธิข้าวไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ http://www.thairice.org

ข้าวในคติชนของคนไทย-ไท
สุกัญญา สุจฉายา

จากหนังสือ : ข้าวในศิลปะและวัฒนธรรม (เอกสารเผยแพร่ลำดับที่ 1 ของมูลนิธิข้าวไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ พ.ศ. 2544)    

นักวิชาการจีนเชื่อว่าบรรพบุรุษของชนเผ่าภาษาตระกูลไท* อาจจะเป็นคนปลูกข้าวก่อนเพื่อนในเอเชีย ดังพบหลักฐานจากการขุดทางโบราณคดีว่ามีเมล็ดข้าวเปลือกเป็นข้าวเพาะปลูก เมล็ดยาวพันธุ์ indica แกลบ พลั่วกระดูกที่ทำจากสะบักของควายจำนวนมาก อยู่ในยุคหินใหม่ ( 6700 - 6900 ปี ) ที่เหอหมู่ตู้ มณฑลเจอะเจียง ( หลี่คุนเซ็ง อ้างถึงในเจียแยนจอง : 2540 ) นอกจากนี้ชนเผ่าภาษาตระกูลไททั้งหลายก็ล้วนมีนิทานหรือตำนานเกี่ยวกับกำเนิด ของข้าวอยู่มากมาย บ้างก็ว่าข้าวเป็นพืชที่เกิดขึ้นเองบ้างก็ว่าข้าวมาจากสวรรค์ เช่น ชาวไทเมืองเติ้ก ในเวียดนามมีเรื่องเล่าว่า มีพันธุ์ข้าวที่ขึ้นเองในนาลุ่ม เรียกว่า " ข้าวฟ้า " ถ้าผู้ใดไปพบให้เอาตาเหลว (เฉลว ) ไปปักไว้ คนที่ผ่านมาพบจะได้รู้ว่ากอนี้มีเจ้าของแล้ว ยังเล่าอีกว่าที่เรียกข้าวฟ้าเพราะเดิมมีอยู่ในเมืองฟ้า ต่อมามีสุนัขไปวิ่งเล่นในทุ่งบนฟ้า เมล็ดข้าวปักติดหางสุนัขมาเกิดในเมืองมนุษย์ ในตำนานของชาวไทลาวเล่าว่าเมล็ดข้าวแต่เดิมใหญ่เท่าลูกฟักถึงเวลาก็บินเข้า ยุ้ง แม่ม่ายเตรียมยุ้งไม่ทันก็ด่าว่าข้าว บ้างก็ว่าแม่ม่ายตำข้าวไม่ไหวใช้ไม้คานตีข้าวแตกกระจาย แม่ข้าวตกใจจึงหนีเข้าถ้ำทำให้โลกมนุษย์อดอยาก หลังจากนั้นข้าวก็มีเมล็ดเล็กลงและมนุษย์ต้องปลูกข้าวไว้กินเอง นิทานตำนานเหล่านี้ล้วนบันทึกประวัติพัฒนาการของข้าวและพัฒนาการของสังคม มนุษย์ จากข้าวป่ามาเป็นข้าวปลูก และจากสังคมล่าสัตว์มาเป็นสังคมเพาะปลูก

การทำนาจึงเป็นคุณสมบัติเด่นของชนชาติไท จนสามารถใช้จำแนกออกจากชนกลุ่มอื่นที่อยู่ในพื้นที่เดียวกันได้ ดังชนแต่ละกลุ่มจะมีถ้อยคำสำนวนที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ เช่น "ขาเฮ็ดไฮ่ ไทเฮ็ดนา" (ไทยโหลง-ไทยใหญ่) "ไร่ข่านาไท" (ไทลื้อ) "ไทเฮ็ดนา ข่าเฮ็ดไฮ่" (ไทลื้อ ไทดำ) "ลัวะเยียะไร่ ไทใส่นา" (ไทยวน) ทั้งข่าและลัวะเป็นชนที่ใช้ภาษาต่างกลุ่มดำรงชีพ ด้วยการทำไร่เป็นหลักซึ่งต่างจากพวกไทที่ทำนา วัฒนธรรมของคนทำนาจึงเป็นรากฐานวิถีชีวิต ของคนไทซึ่งนักวิชาการเรียกกันว่า " วัฒนธรรมข้าว "    

เนื่องจากข้าวเป็นอาหารหลักที่หล่อเลี้ยงชีวิต คนไท - ไทยมายาวนานเป็นพันปี บทความนี้จึงใคร่แสดงให้เห็นความคิดของคนไทกลุ่มต่าง ๆ เกี่ยวกับข้าวที่ปรากฏอยู่ในคติชน (folklore) ** ประเภท ภาษิต ปริศนา เพลงพื้นบ้าน ความเชื่อและพิธีกรรม


* ชนเผ่าภาษาตระกูลไท หมายถึง กลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งที่มีลักษณะทางภาษาคล้ายคลึงกัน กระจายอยู่ในบริเวณเอเชียอาคเนย์ ภาคพื้นดินรวมทั้งภาคใต้ของจีน ซึ่งได้แก่ ชาวไทยในประเทศไทย ชาวลาว ชาวไทดำ ในเวียดนาม ไทยวน ไทลื้อ ในสิบสองปันนา ประเทศจีน ไทใหญ่ในพม่า จีน อินเดีย ไทยขึนในเชียงตุง ไทอาหมในรัฐอัสสัม อินเดีย และชาวจ้วง ปูยีต้ง มู่หลาว เหมาหนาน ลุ่ย หลี ในจีน

 

** คติชน หรือ คติชาวบ้าน หมายถึงวัฒนธรรมของกลุ่มชนที่สืบทอดกันมาแต่บรรพบุรุษ อันได้แก่ นิทานพื้นบ้าน เพลงพื้นบ้าน ภาษิตชาวบ้าน การละเล่นพื้นบ้าน การแสดงพื้นบ้าน ปริศนาคำทาย ความเชื่อ ประเพณี พิธีกรรม อาหาร เครื่องมือเครื่องใช้ เครื่องแต่งกาย ศิลปะพื้นบ้านต่าง ๆ

อ่านเรื่อง "ข้าวในคติชนของคนไทย-ไท" ทั้งหมดในหน้ารวม link