ค้นหา
เมนู
- หน้าหลัก
- หมวดหมู่
- ภัยพิบัติ (65)
- ธรรมชาติ (286)
- วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (172)
- สังคม (2814)
- วัฒนธรรม (3270)
- ความรู้พื้นฐานทางวัฒนธรรม (19)
- ชาติพันธุ์ (531)
- ประเพณี (780)
- ภูมิปัญญาไทย (1652)
- การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ (11)
- การแต่งกาย (25)
- การรักษาโรค (67)
- การละเล่นพื้นบ้านและนาฏศิลป์ (381)
- การศึกษา (2)
- งานช่างฝีมือพื้นบ้าน (385)
- ผ้าทอ (300)
- งานหล่อ (0)
- งานแกะสลัก (11)
- งานปั้น เครื่องปั้นดินเผา และเซรามิก (12)
- ภาพเขียน (1)
- เครื่องถม (0)
- เครื่องจักรสาน (36)
- เครื่องทอง (1)
- เครื่องเงิน (2)
- เครื่องกระดาษ (2)
- เครื่องเขิน (2)
- เครื่องไม้ (7)
- เครื่องรัก (0)
- เครื่องโลหะ (6)
- เครื่องหนัง (0)
- อัญมณีและเครื่องประดับ (0)
- งานช่างฝีมืออื่นๆ (4)
- ที่อยู่อาศัย (99)
- ภาษาและวรรณกรรม (290)
- ศิลปะการป้องกันตัว (8)
- อาชีพและวิธีการหากิน (27)
- อุปกรณ์หากินและของใช้ (154)
- อาหาร (203)
- เครือข่ายทางวัฒนธรรม (204)
- วัฒนธรรมหลวง (17)
- เนื้อหาวัฒนธรรมรอจัดหมวด (0)
- ศิลปะและการบันเทิง (699)
- ศาสนาและจิตวิญญาณ (7090)
- เนื้อหารอจัดหมวด (26)
- ค้นหาชั้นสูง
- บริจาคเนื้อหา
- เกี่ยวกับโครงการ
ล็อกอิน
ผ้ายกเมืองไทย - จ.สงขลา
จังหวัดสงขลา
ผ้ายกเกาะยอ ลายดอกพิกุล
เอกลักษณ์ ลวดลาย และการใช้ประโยชน์
ลวดลายของผ้าทอยกดอก (ไหม / ฝ้าย / โทเร) ตำบลเกาะยอ ที่พบในปัจจุบันมีทั้ง ลวดลายโบราณสืบทอด และลวดลายประยุกต์หรือคิดขึ้นใหม่ ได้แก่ ลายราชวัติ ลายลูกแก้ว ลายดอกพิกุล ลายดอกพยอม ลายหางกระรอก ลายดอกรสสุคนธ์ ลายดอกรัก ลายเทพนม ลายเกล็ดลิ่น ลายพริกไทย ลายบุหงา ลายลูกหวาย ลายหมากรุก ลายดอกผกากรอง หรือลายดอกแฝด ลายกากบาท ลายคดกริช ลายตาสมุกหรือลายโกเถี้ยม ลายสี่เหลี่ยมหรือ ลายเคียะ ลายลูกโซ่ ลายข้าวหลามตัด ลายเครือวัลย์ ลายนมสวรรค์ ลายลัดดาวัลย์ ลายทะเลทิพย์ เป็นต้นโดยในสมัยโบราณ
ชาวบ้านตำบลเกาะยอมักทอผ้าโดยไม่ทราบชื่อลายอาศัยเรียกกันง่ายๆและจดจำทอกันตามอย่างบรรพบุรุษ บางครั้งก็พลิกแพลงดัดแปลงทอเป็นลวดลายที่แปลกออกไปจากเดิม ถ้าบังเอิญสวยหรือมีผู้นิยมก็จะทอกันต่อ ๆ มา และตั้งชื่อเป็นชื่อของผู้คิดลาย เช่น ลายโกเถี้ยม บางครั้งก็เรียกตามลักษณะการคล้ายคลึงกับพืชพรรณไม้ เช่น ลายดอกรสสุคนธ์เหล่านี้ เป็นต้น ส่วนใหญ่มักจะนำมาทอเพื่อทำเป็นผ้าซิ่น ผ้าผืนสำหรับตัดชุด ผ้าโสร่ง ผ้าขาวม้าและผลิตภัณฑ์แปรรูปต่าง ๆ ได้แก่ เสื้อผ้าสำเร็จรูป ปลอกหมอน หมวก ที่กลัดเสื้อ กระเป๋าสตางค์ แฟ้มเอกสาร กล่องใส่อุปกรณ์ต่าง ๆ เป็นต้น
การสืบทอดทางวัฒนธรรม
ผ้าทอเกาะยอ สงขลา เป็นผ้าทอพื้นเมืองของชาวบ้าน ตำบลเกาะยอ อำเภอเมือง ซึ่งถือว่ามีชื่อเสียงมาก เพราะมีความประณีตและมีสีสันลวดลายต่าง ๆ ที่สวยงาม มีความเป็นเอกลักษณ์การทอผ้าของชาวเกาะยอนั้นมีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ซึ่งมีการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศ ได้รับการถ่ายทอดวัฒนธรรมเรื่องการทอผ้าเข้ามาโดยการตกแต่งลวดลายผ้าทอด้วยการยกดอก ผ้าทอลายราชวัติ ซึ่งถือว่าเป็นลวดลายหนึ่งได้รับพระราชทานชื่อมาจากพระมหากษัตริย์ ซึ่งมีข้อมูลต่างกันเป็น 2 กระแส คือ กระแสหนึ่งกล่าวว่าได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่อีกกระแสหนึ่งกล่าวว่าได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
ในปี พ.ศ. 2482 กรมการเมืองสงขลาได้ขอครูทอผ้าชาวจีนมา 2 คน ปรากฏหลักฐาน จากบ้าน นายกริ้ม สินธุรัตน์ ซึ่งมีภาพครูสอนทอผ้าชื่อนายยี่สุ่น และนายพุดดิ้น โดยได้มาสอนทอผ้าให้ชาวเกาะยอที่วัดแหลมพ้อ(วัดหัวแหลม) โดยใช้กี่กระตุกเป็นครั้งแรก ตั้งแต่นั้นมาชาวเกาะยอก็ทอผ้าด้วยกี่กระตุกจนกระทั่งถึงปัจจุบัน
รวมทั้งเปลี่ยนการย้อมด้วยสีธรรมชาติมาเป็นสีวิทยาศาสตร์ ปีพ.ศ. 2516 สมาคมสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ สาขาจังหวัดสงขลา โดยมีคุณหญิงชื่นจิตต์สุขุม เป็นนายกสมาคม ได้นำคณะกรรมการไปสำรวจบนเกาะยอ พบกี่ทอผ้าเหลือที่พอจะใช้การได้อยู่เพียงหลังเดียวเท่านั้นคุณหญิงได้ติดต่อขอใช้บ้านของนายชวน ภัทรชนม์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 5 เพื่อใช้เป็นจุดศูนย์กลางในการส่งเสริมการทอผ้า โดยเชิญอาจารย์จากวิทยาลัยเทคนิคสงขลาและเจ้าหน้าที่จากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมมาช่วยอบรมเรื่อง เทคนิคการทอผ้าและการย้อมสีที่ถูกต้องตามหลักวิชา
ซึ่งในขณะนั้นมีชาวเกาะยอที่มีฝีมือในด้านการทอผ้าเหลืออยู่เพียงไม่กี่คนจึงต้องเร่งฝึกหัดช่างฝีมือใหม่โดยการถ่ายทอดจากช่างชั้นครู ได้แก่ นางขิ้ม แซ่ลิ่ม นายกริ้ม สินธุรัตน์นายชม มีสุวรรณ เป็นต้น (นายกริ้ม สินธุรัตน์นั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯได้ทรงโปรดเกล้าให้ไปช่วยอบรมทอผ้าให้ชาวบ้าน จังหวัดปัตตานี และจังหวัดยะลาด้วย โดยได้รับเงินเดือนจากสำนักพระราชวัง) หลังจากฟื้นฟูการทอผ้าได้ 6 เดือน ผ้าทอเกาะยอก็เริ่มออกสู่ตลาดอีกครั้งโดยมีจำนวนผู้ทอผ้าเพิ่มมากขึ้นจากเดิมและบางกลุ่มได้ยึดเป็นอาชีพหลัก
จากนั้นก็ขยายตัวจนกระทั่งถึงปัจจุบัน สามารถที่จะสรุปได้ว่า การทอผ้าเกาะยอส่วนใหญ่ได้รับการถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษ ซึ่งแสดงว่าการเข้าสู่อาชีพ การทอผ้านั้นสืบเนื่องมาจากอิทธิพลของครอบครัวและชุมชนที่ผู้ทออาศัยอยู่ โดยที่บิดามารดาเคย ทำมาก่อน หรือในชุมชนนั้นมีการทอผ้ากัน การฝึกหัดได้เกิดขึ้นจาก
1.) การถ่ายทอดจากญาติผู้ใหญ่
2.) การหัดเรียนรู้หรือประยุกต์ด้วยตนเอง
3.) การทอลายตามที่มีผู้ว่าจ้างให้ทอ
จนกระทั่งในปัจจุบันสามารถนำมาประกอบอาชีพได้ทั้งเป็นอาชีพหลัก และเป็นอาชีพเสริมจากการสำรวจพบว่าในตำบลเกาะยอ มีชาวบ้านที่ยึดอาชีพการทอผ้าเป็นอาชีพหลักอยู่มากพอสมควร โดยส่วนมากจะเป็นผู้หญิง และผู้สูงอายุ ส่วนที่เหลือจะยึดเป็นอาชีพเสริมควบคู่กับการทำอาชีพทางด้านการเกษตร
ผ้ายกเกาะยอ ลายราชวัติ
กระบวนการ ปัญหา และอุปสรรค ทางด้านการผลิตและการจำหน่าย
การทอผ้ายกดอกในระยะแรกเริ่ม ใช้กี่มือ และใช้เครื่องมือที่ชาวถิ่นเรียกว่า “ตรน” แทนกระสวย วัตถุดิบที่ใช้คือฝ้ายที่ปลูกเอง ย้อมสี โดยใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติตามแบบพื้นบ้านแต่ในปัจจุบันได้ใช้วัตถุดิบคือไหม ฝ้าย และโทเร ที่จัดหาโดยการซื้อสำเร็จจากร้านค้าในจังหวัดย้อมสีโดยใช้สีวิทยาศาสตร์เพื่อความหลากหลาย ทอยกดอกซึ่งมีทั้ง 2 – 4 – 6 – 8 และ 10 ตะกอ โดยใช้กี่กระตุก การพัฒนาลายพบว่าผู้ทอในพื้นที่ได้พยายามคิดค้นลวดลายใหม่ ๆ ขึ้นเพื่อสนองความต้องการของตลาด ดังเช่น นางเห้ง มีสุวรรณ อายุ 68 ปี ได้ออกแบบลวดลายใหม่เพิ่มขึ้น 4 ลายได้แก่ ลายเครือวัลย์ ลายนมสวรรค์ ลายลัดดาวัลย์ และลายทะเลทิพย์ โดยผู้สนใจสามารถที่จะทำการศึกษาเรื่องลวดลายของผ้ายก ตำบลเกาะยอ ได้ที่สถาบันทักษิณคดีศึกษา หรือ กลุ่มราชวัติพัฒนาผ้าทอ ที่ตำบลเกาะยอ อำเภอเมือง จังหวัดสงขลาจากการสำรวจพบว่าผู้ทอผ้าในตำบลเกาะยอส่วนใหญ่จะทำหน้าที่ทอเพียงอย่างเดียว แต่ขั้นตอนที่เรียกว่า “การเก็บดอก” (ขั้นตอนในการเตรียมด้าย หรือลวดลายเพื่อใช้ในการทอ) นั้นจะต้องจ้างผู้อื่น พบว่าผู้ที่สามารถทอเอง และเก็บดอกได้เองในพื้นที่มีเพียง 5-6 คนเท่านั้น และมักจะเป็นผู้สูงอายุ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งลวดลายที่ใช้ 8 และ 10 ตะกอ จะมีผู้ที่เก็บดอกได้เพียง 2-3 คนเท่านั้น
นายกริ้ม สินธุรัตน์
ผ้ายกเกาะยอ ลายโกเถี้ยม
ในด้านการจำหน่าย พบว่าช่องทางการจำหน่ายในปัจจุบันได้แก่
1.) จำหน่ายเอง ณ สถานที่ผลิต
2.) จำหน่ายผ่านพ่อค้าคนกลางในหมู่บ้านหรือท้องถิ่นใกล้เคียง
3.) รับจ้างผลิตโดยผู้ว่าจ้างในหมู่บ้าน ซึ่งจะเป็นผู้รับผิดชอบในเรื่องของวัตถุดิบและอุปกรณ์ในการผลิต ในด้านการสนับสนุน สืบสาน และพัฒนาศิลปะการทอผ้ายกตำบลเกาะยอ พบว่ามีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ให้ความช่วยเหลือทางด้านการอบรม และถ่ายทอด ได้แก่ ศูนย์พัฒนาอาชีพศรีเกียรติพัฒน์ ศูนย์ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตหาดใหญ่ สมาคมสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ จังหวัดสงขลา อบต.เกาะยอ กลุ่มทอผ้านครศรีธรรมราช เป็นต้น
สภาพของปัญหาที่พบในพื้นที่สามารถสรุปได้ดังนี้
1.) ขาดผู้มีความชำนาญในการเก็บลายหรือเก็บดอก โดยเฉพาะลวดลาย 10 -12 ตะกอ จะมีผู้ทำได้เพียง 2 – 3 รายเท่านั้น
2.) ขาดการรวมกลุ่มที่มีประสิทธิภาพ ไม่มีความสามารถทางด้านการวางแผนการผลิตและการตลาดอย่างเป็นระบบ
3.) ขาดการสนับสนุนทางด้านงบประมาณในการจัดหาวัตถุดิบ และอุปกรณ์ในการผลิต
4.) ขาดการช่วยเหลือทางด้านการตลาด ทำให้ผู้ทอขาดแรงจูงใจในการผลิตเนื่องจากไม่มีความสามารถในการแข่งขัน
ต้นฉบับ : http://www.thaitextilemuseum.com/HOME/PHAYOK/PHAYOK1/PHAYOK2/PHAYOK3/pha...