ค้นหา
เมนู
- หน้าหลัก
- หมวดหมู่
- ภัยพิบัติ (65)
- ธรรมชาติ (286)
- วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (172)
- สังคม (2814)
- วัฒนธรรม (3270)
- ความรู้พื้นฐานทางวัฒนธรรม (19)
- ชาติพันธุ์ (531)
- กะเหรี่ยง (79)
- จีนฮ่อ (1)
- ถิ่น (1)
- ไทดำ (1)
- ไทย (6)
- ไทยอง (1)
- ไทลื้อ (6)
- ไทหย่า (1)
- ไทใหญ่ (1)
- ปะหล่อง (ว้า) (2)
- ม้ง (แม้ว) (44)
- มูเซอ (ลาหู่) (46)
- เมี่ยน (เย้า) (50)
- มลาบรี (ผีตองเหลือง) (2)
- มอญ (Mon) (160)
- ลานแตน (1)
- ลาว (1)
- ลาวเทิง (2)
- ลีซู (47)
- ลัวะ (ละว้า) (3)
- สามต้าว (1)
- อาข่า (57)
- ชาติพันธุ์อื่นๆ (7)
- ประเพณี (780)
- ภูมิปัญญาไทย (1652)
- เครือข่ายทางวัฒนธรรม (204)
- วัฒนธรรมหลวง (17)
- เนื้อหาวัฒนธรรมรอจัดหมวด (0)
- ศิลปะและการบันเทิง (699)
- ศาสนาและจิตวิญญาณ (7090)
- เนื้อหารอจัดหมวด (26)
- ค้นหาชั้นสูง
- บริจาคเนื้อหา
- เกี่ยวกับโครงการ
ล็อกอิน
ชาติพันธุ์ล้านนา - ลานแตน
ลานแตน
ลานแตน เป็นชื่อกลุ่มชนที่พูดภาษาตระกูลจีน - ทิเบตเช่นเดียวกับเผ่าเย้า รู้จักใช้อักษรจีนโบราณเป็นภาษาเขียนเพื่อบันทึกเรื่องราวของตระกูล และใช้ในพิธีกรรมทางความเชื่อคำว่า ลานแตน แปลว่าสีคราม ซึ่งเป็นสีที่นิยมใช้ย้อมผ้าตามปกติจะทอผ้า ตัดเย็บเสื้อผ้า และย้อมสีเครื่องนุ่งห่มเองโดยใช้สีจากธรรมชาติ เช่น ครามหรือต้นห้อม เผ่าลานแตนมีฝีมือในการทำเครื่องประดับด้วยเงิน เช่น ต่างหู กำไล ปลอกคอ และยังมีความสามารถในการทำกระดาษจากเยื่อสาและไม้ไผ่อ่อน
ประวัติความเป็นมา
เผ่าลานแตนมีถิ่นฐานดั้ง เดิมอยู่ทางตอนใต้ของจีนแถบมณฑลกวางสี ไฮนาน กวางตุ้ง และมณฑลใกล้เคียง ต่อมาได้อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ทางตอนเหนือของเวียดนาม และภาคเหนือของลาวในตอนปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 เนื่องจากเกิดกบฎฮ่อ อีกส่วนหนึ่งได้อพยพเข้ามาเพิ่มเติมในยุคปฏิวัติวัฒนธรรมในช่วงทศวรรษ 1960 ส่วนใหญ่จะอพยพเข้ามาอยู่ในแขวงหลวงน้ำทา จำนวน 17 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านน้ำลือ น้ำหลี น้ำจาง น้ำกอย น้ำตุ๊ด หาดตาด ตาลาน น้ำก๋อน ตาหวาน น้ำแดง นมแกใหญ่ นมแกน้อย โองเลย หาดยาว เปนห้อ น้ำดี และบ้านสุนยา เขตเมืองสิงมี 3 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านป่าคา น้ำม้า และป่างอ่าน แขวงอุดมไซ 3 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านน้ำแดด น้ำแพง และน้ำตอง แขวงบ่อแก้ว 1 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านน้ำจ้าง
ด้านเศรษฐกิจ ชนเผ่าลานแตนมีอาชีพหลักคือการทำไร่ปลูกข้าวเจ้าเพื่อยังชีพ และปลูกพืชอื่น ๆ ไว้บริโภคในครอบครัว เช่น ข้าวโพด แตง ถั่งต่าง ๆ เผือก ส่วนอาชีพรองลงไป คือการเลี้ยงสัตว์ เช่น หมู เป็ด ไก่ โดยปกติครอบครัวของลานแตนจะเลี้ยงหมู 6-10 ตัว เพื่อใช้ประกอบพิธีกรรมเกี่ยวกับผี เช่น เลี้ยงผีเรือนใช้หมู 6 ตัว บวชลูกนาคใช้หมู 11 ตัว เป็นต้น นอกจากนี้ยังปลูกฝิ่นไว้สูบเอง และนำไปแลกเปลี่ยนสิ่งของกับชนเผ่าอื่น ๆ เผ่าอีก้อ เผ่าม้ง เป็นต้น
ระบบสังคม ชนเผ่าลานแตนนิยมปลูกเรือนชั้นเดียวอยู่ติดกับพื้นดิน หลังคามุงด้วยใบหวายหรือใบต๋าว ฝาทำด้วยไม้ไผ่นำมาสับเป็นฟากล้อมรอบตัวเรือน เรือนของลานแตน 1 หลัง จะอยู่รวมกัน 2-3 ครอบครัว แต่ละครอบครัวแยกกันอยู่คนละส่วน ไม่เกี่ยวข้องใกล้ชิดสนิดสนมกันมาก ประตูเข้าออกด้านหน้าสู่บริเวณที่รับแขกเรียกประตูชาย ส่วนประตูออกด้านหลังเรียกว่าประตูหญิง เข้าสู่บริเวณหุงหาอาหาร ประตูที่สามเรียกว่าประตูใหญ่ อยู่ตรงข้ามกับหอบูชาผีเรือนเป็นประตูสำคัญ จะใช้เฉพาะในเวลาที่ประกอบพิธีกรรมบูชาผีเรือน จำนวนห้องนอนขึ้นอยู่กับจำนวนสมาชิกของครอบครัวหญิงสาว ในเวลาเลือกคู่จะมีห้องนอนพิเศษใกล้ประตูเรือน เพื่อเปิดโอกาสให้หนุ่มคนรักเข้ามาเยี่ยมเยือนในเวลากลางคืน
การแต่งกาย ชนเผ่าลานแตนจะผลิตเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มใช้เองจากฝีมือของหญิงสาว หรือแม่บ้าน โดยปลูกฝ้ายเองนำมาแยกเมล็ดปั่นเป็นเส้นด้าย ย้อมสีด้วยเปลือกไม้หรือใบห้อมเป็นสีคราม แล้วนำไปทอและตัดเย็บเป็นเสื้อผ้าสวมใส่ หญิงชนเผ่าลานแตนจะสวมกางเกงขายาวรัดรูปถึงครึ่งน่อง สวมเสื้อยาวคลุมถึงหัวเข้าทับด้านนอกอีกชั้นหนึ่ง นิยมสวมปลอกคอและตุ้มหูเป็นเครื่องประดับซึ่งทำด้วยเงิน ส่วนชายนุ่งกางเกงหัวป้าย สวมเสื้อคอมนผ่าด้านข้าง ใช้กระดุมทำด้วยไม้กลัดติดด้านข้างเบื้องซ้าย
- การเกิด ชนเผ่าลานแตนมีความเชื่อว่าในระหว่างตั้งครรภ์ขวัญของทารกในครรภ์มารดาจะสิง สถิตอยู่ตามแหล่งต่าง ๆ ในเรือน โดยย้ายไปในแต่ละเดือน เช่น เดือนอ้าย เดือนเจ็ดอยู่ประตูเรือน เดือนยี่ เดือนแปดอยู่ที่เตาไฟ เดือนสาม เดือนเก้าอยู่ที่ครกตำข้าว เดือนสี่ เดือนสิบอยู่ที่พื้นเรือนบริเวณใกล้กับหอบูชาผีเรือน เดือนห้า เดือนสิบเอ็ดจะอยู่ในร่างของมารดา เดือนหก เดือนสิบสองอยู่บริเวณที่นอนของมารดา ดังนั้นสมาชิกในครอบครัวจะต้องระมัดระวังไม่กระทำสิ่งใดที่เป็นการรบกวนหรือ ทำให้ขวัญตกใจ เพราะจะมีผลกระทบถึงทารกในครรภ์
- การคลอดบุตร จะคลอดในห้องนอนของมารดาในท่านั่งคลอด โดยมีแม่ของสามีหรือหญิงที่มีประสบการณ์ ซึ่งเป็นญาติสามีเป็นผู้ทำคลอด เมื่อเด็กคลอดแล้วจะทำพิธีบอกกล่าวให้ผีเรือนรับทราบถึงการมีสมาชิกใหม่ของ ครอบครัว เพื่อขอความคุ้มครอง ครั้นถึงวันดีผู้เป็นมารดาก็จะอุ้มเด็กออกไปข้างนอก เพื่อดูพระอาทิตย์เพื่อเป็นสิริมงคล
- การตั้งชื่อเด็ก เด็กของเผ่าลานแตนจะมีชื่อเรียกตามลำดับของการเกิด ซึ่งยึดถือตามธรรมเนียมของจีน เช่น เล่าต๋า เป็นลูกชายคนแรก เล่าลีคือลูกชายคนที่สอง เล่าซานคือลูกชายคนที่สาม ต่อมาเมื่อเติบโตขึ้นจะเปลี่ยนชื่อไปตามลักษณะของเด็ก หรือเปลี่ยนชื่อเมื่อเด็กเจ็บป่วย จนกระทั่งอายุครบ 12 ขวบ จึงตั้งชื่อจริงให้ โดยทำพิธีเสี่ยงทายสอบถามความยินยอมของผีเรือน
- การเลือกคู่ครอง หนุ่มสาวเผ่างานแตนมีอิสระในการเลือกคู่ครองของตน ตามปกติหญิงสาวเผ่าลานแตนจะมีนิสัยขี้อาย เมื่อเริ่มเข้าสู่วัยแรกรุ่นจะถอนขนคิ้วออกหมด เพื่อแสดงถึงการย่างเข้าสู่วัยสาว การแสดงความรักต่อกัน ครั้งแรกเริ่มจากการที่หนุ่มสาวหยอกล้อกัน แล้วชายหนุ่มกัดที่ข้อมือของหญิงที่ตนรัก ถือกันว่าถ้ากัดจนช้ำหรือเป็นรอยแผลแสดงว่ารักและชอบพอมาก หญิงสาวมักจะเป็นคนรักเดียวใจเดียวชายหนุ่มสามารถเข้าไปถึงห้องนอนของสาวคน รักได้โดยไม่ผิดผีเรือน
- การหมั้น พิธีหมั้นจะจัดขึ้นหลังเทศกาลปีใหม่หรือบุญกินเจื๋องราวเดือนกุมภาพันธ์ ก่อนหมั้นหนุ่มสาวต่างก็จะไปดูหมอดู เพื่อทำนายโชคชะตาว่าเหมาะสมกันหรือไม่ ถ้าหากโชคชะตาขัดกัน ห้ามแต่งงานกัน เช่น หนุ่มสาวที่เกิดในเดือนเดียวกันจะแต่งงานกันไม่ได้ ถือว่าอัปมงคล เพราะเชื่อว่าชีวิตคู่จะพบกับความวิบัติอาจหย่าร้างกัน ญาติพี่น้องจะเจ็บป่วยหรือตนเองจะได้รับอันตรายถึงแก่ชีวิต อีกกรณีหนึ่งคือห้ามทำพิธีหมั้นแต่งกับคนในตระกูลเดียวกัน ซึ่งเรียกว่า ซิงซาว ในพิธีหมั้นชายจะนำไก่ตัวหนึ่งไปยังเรือนของฝ่ายหญิง เพื่อฆ่าประกอบพิธีเจรจาสู่ขอ ในพิธีหมั้นญาติผู้ใหญ่ของทั้งสองฝ่ายจะมาร่วมพิธี เพื่อเจรจาเรื่องเงินสินสอดและการจัดพิธีแต่งงาน โดยฝ่ายชายมอบเงินหมันหรือเงินขันให้เป็นของหมั้น 3-6 กุ่ง (1 กุ่ง มีค่าเท่ากับ 14 หมัน 3 บี้ ) เพื่อเป็นหลักประกันในคำมั่นสัญญาว่าจะแต่งงานกัน ต่อมาภายหลังถ้าหากชายผิดข้อตกลงไม่ยอมแต่งงานด้วย ฝ่ายหญิงก็จะริบเงินของหมั้นทั้งหมด แต่ถ้าหญิงผิดคำมั่นสัญญาขอถอนหมั้น จะต้องจ่ายเงินทดแทนให้เป็นจำนวนสองเท่าเงินที่มอบให้เป็นของหมั้น
- การแต่งงาน ตามปกติเมื่อแต่งงานแล้วเจ้าสาวจะต้องย้ายไปอยู่ในบ้านของสามี ก่อนออกจากเรือนก็ทำพิธีไหว้ผีเรือนและผีเตาไฟ เพื่อลาออกจากการคุ้มครองของผีบรรพบุรุษ เมื่อวันแต่งงานเวลาประมาณ 5 โมงเย็น ฝ่ายชายจะนำหมูไปฆ่าที่บ้านฝ่ายหญิง 1 ตัว เพื่อเซ่นไหว้บอกกล่าวผีเรือนพอถึงเวลาประมาณ 1 ทุ่ม เจ้าสาวจะทำพิธีแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าอาภรณ์ที่หรูหรา สวมหมวกและเครื่องแต่งกายที่ประดับด้วยเครื่องเงิน ส่วนเจ้าบ่าวจะแต่งกายด้วยชุดประจำเผ่า โพกศีรษะด้วยผ้าแพรสีดำหรือสวมหมวก พร้อมทั้งนำเงินสินสอดมอบให้ 3-6 กุ่ง แล้วทำพิธีเซ่นไหว้ผีเรือนของเจ้าสาว หลังจากนั้นแขกที่มาร่วมงานจะกินดื่มสนุกสนานกันตลอดคืน
พอถึงตอนเย็นของวันต่อมา เจ้าบ่าวจะพาเจ้าสาวออกจากเรือนไปยังบ้านของตน เมื่อถึงบ้านของฝ่ายชายฆ่าหมู 1 ตัว ไก่ 1 ตัว ทำพิธีเซ่นไหว้ผีเรือนเพื่อรับขวัญสะใภ้คนใหม่ส่วนแขกที่มาร่วมงานจะฉลองกัน ตลอดคืน หลังจากนั้นฝ่ายหญิงก็จะอยู่อาศัยที่บ้านของฝ่ายชายตลอดชีวิต
- การหย่าร้าง ในกรณีที่มีการหย่าร้าง ถ้าหญิงเป็นฝ่ายขอหย่าแต่ยังไม่มีลูก จะต้องมอบค่าสินสอดคืนให้แก่ฝ่ายชายเต็มจำนวน ถ้าหากมีลูกด้วยกันแล้วจะต้องมอบลูกให้อยู่ในความปกครองดูแล ของฝ่ายชายพร้อมคืนสินสอดทั้งหมดหากฝ่ายชายขอหย่า จะต้องเสียเงินค่าซื้อร้างเป็นเงินประมาณ 50,000-60,000 กีบ และค่าใช้จ่ายเพื่อเลี้ยงดูลูกจนถึงอายุ 18 ปี แต่ถ้าฝ่ายหญิงมีสามีใหม่ก็ยุติการส่งค่าเลี้ยงดู มอบภาระให้สามีใหม่รับผิดชอบในการดูแลลูกแทน
- การตาย เมื่อพ่อแม่หรือคนชราเจ็บป่วยหนักใกล้จะตายบรรดาลูกหลานจะมาชุมนุมกัน และผัดเปลี่ยนกันปรนนิบัติเพื่อให้ตายอย่างสงบ พอสิ้นลมหายใจ ลูกชายคนโตจะปิดตาผู้ตายพร้อมกับใส่เหรียญเงินลงในปาก จากนั้นอาบน้ำและแต่งตัวให้ใหม่ นำไปวางไว้ที่หน้าหอบูชาผีเรือนโดยหันเท้าออกไปทางประตูใหญ่ ใช้ผ้าขาวปิดคลุมศพไว้ แล้วยิงปืนขึ้นบนฟ้าหนึ่งนัดเพื่อส่งวิญญาณผู้ตาย ต่อจากนั้นลูกชายคนโตไปหาหมอกกงใหญ่ ( หมอผี ) มาทำพิธีส่งวิญญาณผู้ตายไปสู่ปรโลกส่วนชาวบ้าน และญาติไปตัดต้นไม้มาขุดทำเป็นโรงศพ นำศพบรรจุใส่โลงปิดฝา แล้วเอาดินเหนียวอุดยาให้สนิทเพื่อป้องกันกลิ่นเหม็น ตกแต่งประดับประดาสีดำและสีน้ำเงินซึ่งตัดให้เป็นรูปนกและดอกไม้
ตามธรรมเนียมของชนเผ่า ลานแตนจะเก็บศพไว้ 3 คืน แล้วนำไปฝังที่ป่าช้า พอถึงกำหนดบรรดาเขยจะช่วยกันหามศพออกทางประตูด้านทิศตะวันออกของเรือน โดยเอาเท้าไปก่อนการเลือกสถานที่ฝังศพจะต้องเสี่ยงทายโดยโยนไข่ไก่ลงบนพื้น ดิน ถ้าไข่แตกตรงจุดใดก็ขุดหลุมฝังตรงนั้น ใช้ไม้ปักไว้ที่ด้านหัวและเท้า เมื่อกลบดินเสร็จแล้วจึงถอนไม้ดังกล่าวขึ้น แล้วทำพิธีเรียกขวัญของผู้ตายกลับคืนสู่เหย้า เพื่อเป็นผีเรือนผู้ไปร่วมงานศพ เมื่อกลับถึงบ้านจะต้องล้างมือที่นอกประตูก่อนจะเข้าบ้าน ส่วนจอบเสียมที่ใช้ขุดหลุมทิ้งไว้นอกบ้านประมาณ 1 สัปดาห์จึงนำไปไว้ในบ้าน หลังจากนั้นฆ่าหมู 2 ตัว ตัวหนึ่งสำหรับสู่ขวัญหมองกและผู้ที่ไปร่วมงาน อีก 1 ตัว สำหรับบูชาผีเรือน ถ้าผู้ตายเป็นชายจะใช้หมูตัวเมีย ถ้าเป็นหญิงจะใช้หมูตัวผู้ หลังจากนั้นเมื่อครบหนึ่งปี บรรดาลูกหลานจะทำบุญทานปราสาทให้แก่ผู้ตาย โดยทำเป็นปราสาทหรือบ้านจำลอง ในพิธีกรรมนี้ลูกหลานจะแต่งกายด้วยเสื้อผ้าขาวสวมหมวกขาว ฆ่าหมู 2 ตัว จัดเป็นสำรับและเครื่องเซ่นอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ตาย หมองกจะทำพิธีเชิญขวัญผู้ตายเข้าไปอยู่ในปราสาท เมื่อเสร็จพิธีแล้วหมองกจะจุดไฟเผาปราสาทที่นอกหมู่บ้าน ตามธรรมเนียมของเผ่าลานแตนถือว่าไม่มีการทำบุญปราสาทให้ผู้ตายแล้ว ในงานพิธีกรรมต่าง ๆ จะบูชาผีเรือนไม่ได้ เพราะอัปมงคล
- ศาสนาและความเชื่อ ชนเผ่าลานแตนมีความเชื่อเรื่องผี โดยเฉพาะลัทธิบูชาวิญญาณของบรรพบุรุษผสมผสานกับลัทธิเต๋าซึ่งได้รับอิทธิพล จากจีน ทั้งนี้เนื่องจากในอดีตชนเผ่าลานแตนมีถิ่นฐานอยู่ในจีนตอนใต้มาเป็นเวลานาน ต่อมาเมื่ออพยพเข้าสู่เวียดนามและลาวทางตอนเหนือ ก็ได้นำเอาลัทธิความเชื่อดังกล่าวมาด้วย เนื่องจากชนเผ่าลานแตนเป็นชนเผ่าที่รักสงบ ไม่ค่อยยุ่งเกี่ยวกับบุคคลภายนอกมากนัก และดำรงวิถีชีวิตอยู่ตามธรรมชาติ ดังนั้นจึงยังรักษาเอกลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ไว้ได้ดีกว่าชนเผ่าอื่น ๆ ในบริเวณใกล้เคียง งานบุญประจำปีที่สำคัญ ได้แก่
กวายยัง เป็นงานบุญเทศกาลปีใหม่ของเผ่าลานแตนจัดขึ้นในวันที่ 29 เดือนสิบสอง ของชนเผ่าลานแตน ซึ่งตรงกับเดือนมกราคมของทุกปี ระยะเวลาของเทศกาลถวายยังใช้เวลา 6-7 วัน ในวันแรกทุกครอบครัวจะฆ่าหมูบูชาผีเรือนในเวลาประมาณตี 2-3 แต่ละครอบครัวจะยิงปืนหนึ่งนัด เป็นขับไล่วิญญาณร้ายที่แฝงอยู่ให้ออกจากครอบครัวและหมู่บ้าน เพื่อให้ทุกคนในครอบครัวมีความสุขปราศจากโรคภัยไข้เจ็บทั้งปวง รวมทั้งสัตว์เลี้ยงให้ปลอดภัยจากพยาธิทั้งปวงในวันนี้ห้ามปัดกวาดบ้านเรือน ห้ามนำของจากป่าเข้ามาบ้านเพราะถือว่าต้องห้าม ส่วนชาวบ้านก็ห้ามเข้าป่าโดยเด็ดขาดเพราะเชื่อว่าผีร้ายจะมาเอาตัวไป
วันที่สอง เป็นวันขึ้นปีใหม่ ประชาชนทั้งหมู่บ้านจะกินดื่มสนุกสนานม่วนชื่นเพื่อฉลองปีใหม่ ทุกครอบครัวจะจัดเตรียมสุราอาหารไว้รับแขกที่มาเยือน
วันที่สาม ในเวลาเย็นทุกครอบครัวจะนำไก่ 1 ตัวมาชุมนุมกันที่บ้านของผู้นำในการประกอบพิธีในหมู่บ้านเพื่อฆ่าบูชาผีบ้าน เริ่มต้นด้วยการยิงปืน 3 นัด ถวายเครื่องเซ่นและเหล้า 3 ขวด ครั้งที่สองยิงปืน 7 นัด เหล้า 7 ขวด ครั้งที่สามยิงปืน 12 นัด เหล้า 12 ขวด เพื่อให้ผีบ้านคุ้มครองทุกคนในหมู่บ้าน ผลผลิตและสัตว์เลี้ยงให้อยู่เย็นเป็นสุขปราศจากโรคภัยไข้เจ็บทั้งปวง หลังจากนั้นเชิญให้หมอกงมาสวดพร้อมทั้งอวยพรให้ทุกคนมีความสุข เคราะห์ร้ายให้หนี โชคดีให้เข้ามาสู่ ทำนาให้ได้ข้าว ทำเหล้าให้ได้เงิน ความเจ็บอย่าให้มี ความดีให้อยู่ แล้วยิงปืนขึ้น 12 นัด เพื่อขับไล่ผีร้ายให้หนีไปหลังจากนั้นผู้มาร่วมพิธีอวยพรให้ซึ่งกันและกัน ร่วมกันกินดื่มเฉลิมฉลองกันตลอดคืน
วันที่สี่ถึงวันที่หก ทุกครอบครัวจะอยู่บ้าน ห้ามซักเสื้อผ้า ตำข้าว ตัดไม้ หรือออกจากหมู่บ้านเพราะเกรงว่าผีฟ้าจะพิโรธ เพราะชาวเผ่าลานแตนเชื่อว่าผีฟ้าเป็นผู้ให้ความคุ้มครองพืชพรรณธัญญาหาร และสัตว์เลี้ยง รวมทั้งชีวิตของทุกคน
บุญข้าวลาย ประกอบพิธีกรรมในเดือนสาม ราวเดือนเมษายน โดยนำเอาข้าวเหนียวมาย้อมเป็นสีเขียว สีเหลือง และสีแดง เคล้าคลุกปนกันแล้วนำไปนึ่งให้สุก ฆ่าไก่ 3 ตัว จัดเป็นสำรับบูชาผีเรือน เพื่อบูชาผีพ่อแม่เป็นการแสดงความกตัญญูต่อพ่อแม่ที่ลวงลับไปแล้ว
สับเผียะ หรือ บุญสิบสี่ จัดขึ้นในวันที่ 14 เดือนเจ็ด ราวเดือนสิงหาคมของทุกปี แต่ละครอบครัวจะฆ่าหมู 1 ตัว ไก่ 3 ตัว และทำข้าวต้มขนมจัดแต่งเป็นสำรับเพื่อบูชาผีพ่อแม่ เป็นการรำลึกถึงบุญคุณพ่อแม่เช่นเดียวกับบุญเดือนสาม
ข้อห้ามต่าง ๆ ชนเผ่าลานแตนมีข้อห้ามที่เป็นจารีตสำคัญได้แก่
เดือนหนึ่ง บ่ให้สับฟากเรือน
เดือนเจ็ด บ่ให้ตำขี้เจี้ย ( ดินปืน )
เดือนเก้า บ่ให้เฮ็ด ( ทำ ) ปืน บ่ให้เฮ็ดรางหมู
วันที่ 15 เดือนเจ็ดของทุกปี ผีหลวงจะเปิดการประชุมไม่ให้ทุกคนออกไปนอกหมู่บ้าน เพราะกลัวว่าผีจะพาไป
วันที่ 20 เดือนเจ็ดของทุกปี ผีฟ้าจะกลับไปเมืองฟ้า ห้ามผู้ชายออกไปนอกหมู่บ้าน เพราะจะถูกผีฟ้า ( ผู้หญิง ) พาไปเป็นผัว วันที่ 20 เดือนแปดของทุกปี ผีฟ้า ( ผู้ชาย ) จะกลับคืนไปเมืองฟ้า ห้ามผู้หญิงออกไปนอกหมูบ้าน เพราะเกรงว่าจะถูกผีฟ้าพาไปเป็นเมีย