ค้นหา
เมนู
- หน้าหลัก
- หมวดหมู่
- ภัยพิบัติ (65)
- ธรรมชาติ (286)
- วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (172)
- สังคม (2814)
- วัฒนธรรม (3270)
- ศิลปะและการบันเทิง (699)
- ศาสนาและจิตวิญญาณ (7090)
- เนื้อหารอจัดหมวด (26)
- ค้นหาชั้นสูง
- บริจาคเนื้อหา
- เกี่ยวกับโครงการ
ล็อกอิน
เครื่องมือของใช้ล้านนา - สาด
สาด
สาด ของล้านนามีความหมายสองประการ คือ หมายถึงพรรณไม้ชนิดหนึ่งในจำพวกต้นคล้า นิยมตัดต้นมาผ่าตากแดดให้แห้งแล้วขูดเนื้อในออกให้เหลือแต่ส่วนผิว และใช้ส่วนผิวดังกล่าวสำหรับสานเสื่อ และอีกความหมายหนึ่งของสาด แปลว่า เสื่อ ( “ เสื่อ ” ในภาษาไทลื้อแปลว่า “ ฟูก ” )
สาด ปกติทำจากไม้ไผ่หรือหวายที่จักให้เป็นเส้นบางและยาวสานสอดกันไปมาให้เป็นผืน ซึ่งอาจมีลวดลายต่างๆ ตามที่เห็นงาม อีกทั้งมีขนาดและรูปแบบหลายอย่างต่างกันไป ตามลักษณะการใช้งานสาดเป็นเครื่องใช้ที่จำเป็น โดยเฉพาะบนพื้นที่ปูด้วยฟากสับหรือแคร่ไม้ไผ่ เป็นต้น
เมื่อแขกผู้มีเกียรติหรือผู้ที่ยังไม่ค่อยคุ้นเคยกันไปถึงบ้านแล้ว เจ้าบ้านพึงปูเสื่อให้แขกนั่งแล้วจัดเอาน้ำต้นหรือคนโทและขันหมากมาสู่แขก
เมื่อเสื่อมีความสำคัญอย่างนี้ การเก็บส่วนเชาแต่โบราณจึงมีการเก็บส่วยเป็นเสื่อด้วย ดังปรากฏในหนังสือพื้นเมืองเชียงราย – เชียงแสน ซึ่งเป็นใบลานของวัดเมธังกราวาส อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ บันทึกไว้ว่า “ ...หื้อข้าลวะชาวดอย...หื้อเขาส่วนสาด ๒๐ ผืน... ”
- สาดคะลา (อ่าน “ สาดก๊ะลา ” )
สาดคะ ลา มีความหายอย่างเดียวกับเสื่อกะลาของภาษาไทยกลาง คือเป็นเสื่อชนิดหยาบ ทำจากตอกไม้ไผ่ที่ทำให้มีขนาดค่อนข้างใหญ่และหนา สานให้เป็นผืนขนาดใหญ่ มีความกว้างมากกว่า ๒ เมตรขึ้นไป เคยปรากฏในตำราโคลงกลบทล้านนาบทหนึ่งว่า
สัพพะคุณอยู่เรือนคำๆ คะ
พะเพิกเรือนตะหละขะลุ ลา
สิปอยูดอยู่ๆ อยะมิ่งเอ่ไพ มุง
ปากองแกงกินส้าตูบทุ้มคะลา นอน
ถอดกลโคลงว่า
สัพพะคุณอยู่เรือนค้ำ คำคะ
พะเพิกเรือนตะหละขะ ลุล้า(หลุหล้า)
สิปอยูดอยู่อยะ มุงมิ่ง ไพเอ่
ปาก่อแกงกินส้า ตูบทุ้มคะลานอน
ซึ่ง แปลจากคำกระทู้ได้ว่า “ สัพพะสิปปาคะลามุงนอน ” อันแปลความได้ว่า มัวแต่เรียนวิชาต่างๆ อยู่นั่น ในที่สุดก็เหลือแต่เสื่อกะลาคุ้มหัวเท่านั้น
สาดคะลานี้ อาจเรียกว่า สาดเถิ้ม (คือเสื่อผืนขนาดใหญ่และหนาหนัก) ได้อีกด้วย
วิธีทำ
คัดเลือกไม้เฮี้ยคือ ไม้ซางที่ลำต้นตรงและมีขนาดของปล้องยาว มีอายุตั้งแต่ ๑ ปีขึ้นไป คือไม้ที่แตกหน่อเป็นไม้ในปีนี้ เมื่อถึงปีหน้าหลังจากหน่ออื่นโตเป็นเล่มแล้ว ที่เรียกว่า “ ไม้ที่หันหน้าน้องแล้ว ” แต่แก่ไม่ควรเกิน ๓ ปี ให้เลือกเอาต้นที่ปลายยาวไม่ด้วน (เพราะไม้ไผ่ทุกชนิดที่ปลายด้วน เนื้อของไม้จะไม่แน่นและไม่เหนียว) เมื่อได้ไม้และตัดมาแล้วก็ตัดออกเป็นปล้องๆ ผ่าแต่ละปล้องออกเป็นกีบ แต่ละกีบกว้างประมาณ ๑.๐ -๑.๕ เซนติเมตร จากนั้นจึงจักออกเป็นตอกความหนาของเส้นประมาณ ๑ มิลลิเมตร เมื่อจักแล้วนำไปตากแดดสัก ๑ แดด คือ ๑ วัน
การสาน
เมื่อจะลงมือ นำเอาตอกไปแช่น้ำสัก ๕ นาที เพื่อให้ตอกเหนียว สถานที่จะสานก็ที่พื้นดิน บริเวณใต้ร่มไม้ หรือใต้ถุนเรือน สานด้วย “ ลายสอง ” เมื่อสุดตอกก็ต่อตอกโดยการเสียบต่อไปเรื่อยๆ จนได้ความกว้างความยาวตามที่ต้องการ จากนั้นจึง “ เม้มริม ” คือพับริมให้มีคามตรงเสมอกัน
การใช้
สาดคะลา เป็นสาดที่ทำขึ้นใช้ในการเกษตรกรรมโดยเฉพาะ เพื่อปูให้คนนั่งวาต้นกล้าและมัดกล้าในช่วงถอนต้นกล้า ใช้ปูรองข้าวเปลือกในตารางหรือลานนวดกลางทุ่งนาในช่วงของการเก็บเกี่ยว นอกจากจะใช้ในการทำนาแล้ว สาดคะลายังใช้ปูรองตากพืชผลทาบางการเกษตร ใช้ปูในโรงครัวชั่วคราวเพื่อทำอาหารเมื่อมีงานเกิดขึ้นในบ้านและยังใช้บัง แดดได้อีกด้วย
การเก็บรักษา
เมื่อใช้งานเสร็จแล้ว ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดถูทั้ง ๒ ด้าน แล้วนำออกตากแดด หลังจากนั้นจึงม้วนแล้วผูกด้วยตอก ถ้าจะใช้ดียิ่งขึ้นก็ให้นำไปรมควัน แล้วจึงเก็บโดยการผูกแขวนไว้ข้างบนหรือใต้ถุนยุ้งข้าว เพื่อรอใช้ในโอกาสต่อไป
- สาดเจ้าที่
เสื่อสำหรับเทพารักษ์ นี้คือเสื่อที่มีขนาดเล็กตามความกว้างยาวของหอเจ้าที่ มักเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า สานด้วยกิ่งของต้นแหย่ง (ต้นคล้า)
วิธีทำ
ตัดเอากิ่งต้นแหย่ง ความสั้นยาวเลือกเอาตามที่ต้องการ จากนั้นจึงผ่าครึ่ง แต่ถ้าต้องการความละเอียดก็ผ่าออกเป็น ๔ กีบ จากนั้นจึงหักเอาเยื่อข้างในของแหย่งออกให้เหลือแต่ผิวเท่านั้น นำไปตากแดดให้แห้ง เมื่อจะลงมือสานนำไปแช่น้ำสัก ๒๐ นาที จึงนำออกมาสานด้วยลายทาน เหมือนกับการสานสาดแหย่ง
การใช้งาน
ใช้ปูพื้นของหอเจ้า ที่ หรืออารักษ์ผู้ดูแลสถานที่ให้มีความสะอาดเรียบร้อย เพื่อให้เจ้าที่ได้นั่งนอนตามความเชื่อของคน เมื่อปูเสื่อไว้นานประมาณ ๓-๔ ปี แล้วก็จะรื้อออกและเปลี่ยนผืนใหม่
สาดตองขาว (อ่าน “ สาดต๋องขาว ” )
เสื่อ ชนิดนี้ทำจากผิวของลำต้นพรรณไม้ล้มลุกมีเหง้า ชื่อ สาดตองขาว อันเป็นชนิด Phrynium parviflorum Roxb. ในวงศ์ MARANTACEAE ซึ่งเมื่อผ่าลำต้นสาดตองขาวตากให้แห้งและขูดเอาเนื้อในออกหมดแล้วสานเป็น เสื่อ เสื่อนี้จะให้ผิวที่เรียบเป็นมันและมีสีขาว นิยมใช้ปูนั่งและนอนในบ้าน
หาก ใช้วัสดุอย่างเดียวกันสานเสื่อที่มีขนาดกว้างประมาณ ๗๐ เซนติเมตร ยาวประมาณ ๑๘๐ เซนติเมตร มีผ้าหุ้มตามขอบ ใช้สำหรับกรณีที่ค่อนข้างจะศักดิ์สิทธิ์ เช่น ใช้ปูบนอาสนาหรือพุทธอาสน์เพื่อที่ “ พระพุทธ ” จะบรรทม ผู้เฒ่าผู้แก่ใช้ไปปูนอนเมื่อไปรักษาศีลในวัด และใช้เป็นส่วนหนึ่งของเครื่องใช้ที่ติดไปกับปราสาทหรือเมรุบรรจุศพ
เสื่อชนิดที่ว่านี้จะเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สาดบ่าง
สาดเติ้ม
สาด เติ้มหรือสาดเหลม เป็นชื่อเสื่อชนิดหนึ่งที่นิยมใช้กันทั่วไป เพราะสาดเติ้มมีความนุ่มนวล เมื่อเวลาที่ปูนั่ง ปูนอนเป็นสาดที่มีน้ำหนักเบา ม้วนเก็บง่าย ทำขึ้นง่ายและเร็ว มีราคาถูก กว้างกว่าสาดยาว ทำขึ้นจากต้นอ้อชนิดหนึ่ง ลำต้นกลม สูงประมาณ ๑.๕๐ เมตร ขึ้นตามเชิงดอยหรือบนดอย เมื่อตากแห้งแล้วผิวด้านนอกมีสีน้ำตาลอ่อน ผิวเป็นมัน ข้างในของต้นเป็นเยื่อคล้ายกับส่วนในของต้นแหย่ง เปรา หักง่ายมีดอกสีขาว
การทำ
เมื่อถึงฤดูแล้งต้น อ้อชนิดนี้จะออกดอก ชาวบ้านจะตัดกันในช่วงนี้ โดยตัดที่โคนต้นแล้วตัดปลายทิ้ง จากนั้นจึงนำมาตากให้แห้งซึ่งจะมีสีคล้ายกับต้นข้าวแห้ง เมื่อตัดมาแล้วคัดขนาดไว้รวมกันเป็นกองๆ แล้วจึงนำไปสานทอด้วยฟืมที่ทอผ้าโดยใช้เส้นด้าย ป่าน หรือปอเป็นเส้นยืน เมื่อทอไปถึงขนาดที่ต้องการแล้วก็ตัดเชือกตัวยืนออก ให้เหลือติดที่ปลายเสื่อยาวสัก ๑๐ เซนติเมตร เมื่อจะได้ผูกเข้าด้วยกันกับเชือกเส้นอื่นเป็นคู่ๆ เพื่อป้องกันต้นอ้อเลื่อนหลุดออกจากผืนเสื่อ
การใช้งาน
ใช้ปู นั่ง ปูนอน บนบ้านเรือน ใช้ผูพื้นบ้านเป็นที่ทำงานภายในบ้าน ปูให้พระสงฆ์นั่ง ปูรับแขก เป็นสาดที่มีน้ำหนักเบาเคลื่อนย้ายได้ง่ายแต่เป็นเสื่อที่ไม่ค่อยจะทนทาน ถ้าปล่อยให้ถูกฝนถูกแดดก็ยิ่งเสียเร็ว เพราะมีการหดตัวหรืองอตัวของต้นอ้อ เมื่อใช้ไปนานๆ ต้นอ้อจะแฟบบางแล้วแตกกร่อน การเก็บใช้วิธีม้วนแล้วตั้งพิงไว้
สาดถุ้ง
สาดถุ้งหรือสาดล้อ เป็นเสื่อที่ใช้ปูบนเรือนล้อ (อ่าน “ เฮือนล้อ ” ) คือเรือนเกวียน เรียกชื่อตามลักษณะของรูปที่ทำขึ้น คือมีมุม มีก้น มีรูปเป็นถุง จึงเรียกกันว่า สาดถุ้ง
วิธีทำ
ใช้ ไม้เฮี้ยที่มีอายุ ๑ ปีขึ้นไป ส่วนการจักใช้วิธีการดังกับตอกที่ใช้สาดสาดกะลาและก็สานด้วยลาย ๒ เหมือนกัน แยกสานออกเป็น ๒ ท่อนตามความยาวของเรือนเกวียน แต่ละท่อนยาวเกินครึ่งของเรือนล้อ ประมาณ ๒๐ เซนติเมตร มุมที่ติดกับมุมของเรือนล้อสานหักพับขึ้นเป็นรูปสามเหลี่ยม
การใช้งาน
ใช้ปู เรือนล้อวัว เมื่อมีการบรรทุกข้าวเปลือก หรือเมล็ดพืชที่มีขนาดเล็ก โดยปูเสื่อ ๒ ท่อนนั้นตามมุมของล้อตามคยามยาวให้ตรงกลางซ้อนกัน จากนั้นจึงใช้สาดวงเวียนรอบข้างในอีกทีหนึ่ง เมื่อตักข้าวเปลือกหรือเมล็ดพืชออก ที่เหลือติดส่วนล่างก็ยกเสื่อเป็นท่อนแล้วเทวัตถุที่บรรทุกออก เป็นการง่ายต่อการขนย้ายวัตถุนั้นออก
- สาดไทหย่า
สาดไทหย่า เป็นเสื่อที่ทอจากกกซึ่งชาวไทหย่าเป็นกลุ่มที่คิดทำขึ้น ซึ่งเริ่มแต่ครั้งที่ชาวไทหย่าเดินทางจากประเทศจีนเข้ามาอาศัยอยู่ ณ หมู่บ้านป่าสักขวาง จังหวัดเชียงราย โดยเริ่มตั้งแต่ ๔ ครอบครัวเดินทางมาเพื่อจะเข้ามาอยู่ที่ป่าสักขวางแต่ก็ถูกปล้นลางทาง หลายครอบครัวต้องกระจัดกระจายกันไป หนีกลับถิ่นเดิมเสียก็มี ๔ ครอบครัวดังกล่าว คือ
๑. ครอบครัวลุงใส อ่านแต๋น
๒. ครอบครัวลุงหลวง นางใจ
๓. ครอบครัวลุงจาย นางใจ
๔. ครอบครัวลุงแก้ว นางอ่าน
ทั้ง ๔ ครอบครัว ได้หลบหนีไปพักอยู่ที่บ้านปุ่นซาบประเทศจีนเหมือนกัน และต้องพักอยู่ที่นั่นถึง ๔ คืน ในระหว่างที่พักบ้านปุ่นซาบนั้น เขาได้เที่ยวไปมาในแถบนั้นและก็ได้พบต้นกก และคิดว่าคงเป็นประโยชน์แน่ ลุงจายจึงขุดใส่กระบอกติดตัวมา ๓ ต้น แล้วได้เดินทางเข้ามาในเมืองไทยที่บ้านป่าสักขวาง ในปี พ.ศ. ๒๔๗๘ และก็ได้เพาะชำไว้ประมาณ ๓ ปี ก็ตัดมาตากและนำมาทอเป็นผืนเสื่อเพื่อใช้เองและนำไปขายต้นกกก็ได้แพร่ขยาย พันธุ์ออกไปตามหมู่บ้านต่างๆ ใกล้เคียงและนำไปเป็นเสื่อจนถึงทุกวันนี้
ลักษณะของต้นกก (ไหล)
กก เป็นพืชที่ปลูกง่าย โตเร็ว และไม่ต้องระวังมากนัก กกชอบขึ้นอยู่ในที่ลุ่มลำคลอง แต่ก็ไม่เพียงพอกับการนำมาทอเสื่อ จึงมีการปลูกกกขึ้น ขั้นแรกมีการไถพื้นดินให้ซุยแบบเดียวกับการทำนา แล้วนำหน่อกกที่มีรากเหง้ามาปลูกลงในดินที่ไถไว้ โดยปลูกห่างกันประมาณ ๑ คืบ เมื่อปลูกได้ประมาณ ๖ เดือน ก็ตัดไปใช้ได้ ตัดกกที่ปลูกนี้ได้ ๓ ครั้ง เอตัดครั้งแรกมันจะงอกขึ้นมาอีก แล้วตัดครั้งที่ ๒-๓ พอถึงฤดูแล้งต้นกกจะตายหรือไม่ก็เหลือเพียงเล็กน้อย แต่ที่เหลือจริงๆ คือ รากเหง้าที่อยู่ในดิน พอถึงฤดูฝนหน่อก็จะขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง
ส่วนมากการปลูกกกนั้น จะปลูกในสวน เพราะสะดวกต่อการรักษาต้นกก กกจะขึ้นได้ดีนั้นต้องมีการใส่ปุ๋ย ใส่ได้ทั้งปุ๋ยคอกและปุ๋ยเคมี มีการพรวนดิน ดายหญ้า เพื่อให้ต้นกกขึ้นได้ดี
ขั้นตอนการปลูก
๑. ขั้นแรกของการปลูกนั้น จะต้องมีการเตรียมดินและไถดินให้ละเอียดพอสมควร แล้วปล่อยแช่น้ำทิ้งไว้ประมาณ ๒-๓ วัน และกำจัดวัชพืชต่างๆ ออกให้หมด แล้วทำการไถคราดอีกครั้งก็ทำการปลูกได้
๒. การเพาะกล้า จะใช้การปักชำต้นกล้า ต้องขุดต้นกกออกจากแปลง แล้วนำไปปักชำไว้ประมาณ ๒๐ – ๓๐ วัน เพื่อที่จะให้ต้นกล้าที่เพาะแข็งแรงและแตกหน่อ จึงได้ขยายหน่อให้ได้เป็นจำนวนมากๆ การปลูกใช้ระยะเวลา ๔ เดือน ถึงจะเก็บเกี่ยวได้
๓. ส่วนการปลูกกกนั้น ทุกขั้นตอนก็ทำเหมือนการปลูกข้าว
อุปสรรคในการปลูกต้นกก
๑. หญ้า เป็นศัตรูของต้นกกชนิดหนึ่ง ต้องคอยระวังอย่าให้หญ้าขึ้นเบียด เพราะหญ้าจะแย่งอาหารจากต้นกก ถ้าหากมีหญ้าขึ้นแล้วก็จะทำให้ต้นกกแตกหน่อช้าและต้นกกก็จะไม่งามเท่าที่ควร
๒. แมลง ก็เป็นศัตรูอีกตัวหนึ่งซึ่งจะมาทำลายต้นกก
การบำรุงรักษา
เมื่อเริ่มปลูกกกใหม่ๆ ควรต้องมีการคอยระวังหญ้าที่ขึ้นมาเบียดเบียนและแย่งอาหารจากต้นกก ถ้าหากมีหญ้าขึ้นเบียดมากแล้ว ก็จะทำให้กกแตกหน่อช้า และไม่งามเท่าที่ควรแล้วควรจะให้มีน้ำหล่อเลี้ยงบ้าง จึงจะได้กกที่งอกงามดีตลอดระยะเวลาในการปลูกนั้นจะต้อให้มีการใส่ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยเคมี (ปุ๋ยที่ชาวบ้านเรียกว่า ปุ๋ยเม็ดโฟม) เพื่อบำรุงดินให้ต้นกกโตเร็วและได้ขนาดตามที่ต้องการเมื่อต้นกกโตพอสมควร แล้วก็ไม่ต้องดูแลรักษามากนัก รอจนกระทั่งต้นกกมีขนาดและอายุโตเต็มที่แล้ว ประมาณ ๓-๔ เดือน ก็สามารถเก็บเกี่ยวต้นกกได้เลย
การเก็บเกี่ยวกก
เมื่อกกมีขนาดเละมีอายุโตเต็มที่แล้วก็สามารถเก็บเกี่ยวกกนั้นไปทำประโยชน์ได้ สำหรับการเก็บเกี่ยวนั้นใช้เคียวเกี่ยว ลักษณะการเกี่ยวก็เหมือนกับการเกี่ยวข้าว แต่การเกี่ยวกกนั้นจะเกี่ยวติดดิน ต้นกกที่เกี่ยวแล้วนั้นจะนำมาคัดขนาดให้ได้ความสั้นยาวที่เท่ากันเพื่อความ สะดวกในการทอ แล้วก็นำต้นกกไปตากแดด ระยะเวลาในการตากแดดประมาณ ๕-๗ วัน ตากจนแห้งสนิท
ขนาดของต้นกกที่พอตัด
การ ตัดต้นกกนั้น พอถึงเวลาตัดหรือต้นกกแก่ตัวแล้วก็เริ่มตัด การตัดก็ตัดเรียงหน้ากระดานไป พอตัดเสร็จก็ตากไปพร้อมกันเพราะประหยัดเวลาและไม่ยุ่งยากทีหลัง ระยะในการตัดกกจะดูที่ดอกกก คือถ้าดอกกกเป็นสีขาวหรือสีเหลืองก็ตัดได้แล้ว เมื่อตากเสร็จและแห้งแล้วค่อยคัดเลือกออกมาทีหลังต้นกก (ไหล) มีขนาดยาวที่สุดก็ประมาณ ๒ เมตร ๑ ๑/๒ เมตร ๑ เมตร และต่ำสุดก็ประมาณ ๗๐ เซนติเมตร กกชนิดนี้ถ้าลำเล็กจะไม่จักให้เป็นเส้น แต่ถ้าเป็นกกลำต้นใหญ่ก็ต้องจักให้เป็นเส้นเท่าขนาดลำต้นเล็ก การจักนั้นจะจักขนาดไหนก็แล้วแต่ความต้องการ ส่วนใหญ่ชาวบ้านป่าเลาจะใช้กก (ไหล) ที่มีลำต้นขนาดเล็กเพื่อไม่ต้องเสียเวลาในการจัก
เมื่อ ตัดกก (ไหล) และแยกขนาดแล้ว ถ้าลำต้นขนาดใหญ่ก็นำมาจักให้เป็นเส้นเล็กพอประมาณ ๔-๕ เส้น ส่วนลำต้นขนาดเล็กก็ไม่จัก ต้องดูขนาดของกก (ไหล) อีกที การจักนั้นจะต้องใช้มีปลายแหลมเพราะจะได้เส้นกกที่เป็นแนวเดียวกัน การจักนั้นถ้าเอาแต่เฉพาะผิวที่ติดเนื้อของกก (ไหล) ส่วนอยู่ข้างในของกกนั้นก็ทิ้งไป เมื่อจักได้เส้นกกแล้วจึงนำไปตากผึ่งแดดไว้ การตกกกนั้นก็ตากเกลี่ยกระจายไปบนราวไม้ไผ่ในแนวนอน ใช้เวลาตากประมาณ ๖-๗ วัน (แดดพอประมาณ) ถ้าแดดแก่ๆ ก็ตาก ๔-๕ วัน ก็ใช้การได้แล้ว เมื่อกกแห้งดีแล้วก็นำมามัดเป็นลำๆ เก็บรวบรวมไว้เป็นกองใช้ในการทอเสื่อต่อไป
การตากก
การ ตากกกของชาวบ้านป่าเลานั้น เมื่อเก็บเกี่ยวต้นกกเสร็จแล้วก็จะนำต้นกกไปตาก ซึ่งจะใช้บริเวณที่ดินว่างที่แสงแดดส่องได้ทั่วถึง การตากจะใช้เวลาประมาณ ๔-๕ วัน หรือประมาณ ๑๐ แดด ต้องคอยพลิกกลับไปกลับมา เมื่อกกแห้งดีแล้วก็นำมาคัดขนาด เสร็จแล้วก็มามัดเป็นกำๆ เก็บรวบรวมไว้ทอได้
ประโยชน์ของการตากแดด
• การตากกกกลางแดดนั้นจะช่วยให้กกแห้งเร็ว และเส้นกกห่อตัวเร็วขึ้นด้วย
• การตากกกด้วยการผึ่งลมนั้น กกจะแห้งช้าและบางทีเส้นกกอาจจะไม่ห่อตัวทั้งหมด และอาจจะมีราเกิดขึ้นได้
• การตากกกที่ทำการย้อมสีในทุกคราว ควรตากโดยการใช้กับราวไม้หรือราวเชือกขึงให้ตึงกับเสาหลัก และการตากนั้นให้เอาส่วนโคนห้อยลง เพื่อจะทำให้กกห่อตัวเร็วขึ้น
• การตากกก เมื่อเห็นว่าแห้งดีแล้ว ควรเก็บไปมัดไว้ให้เรียบร้อย อย่าให้ถูกน้ำเพราะจะทำให้กกขึ้นราได้
การเก็บรักษา
เมื่อ ตัดต้นกก ก็จะนำเส้นกกไปตากผึ่งแดดไว้ประมาณ ๕ แดด (แดดแก่ๆ) หรือประมาณ ๕ วัน การตากแดดนั้นต้องให้แห้งสนิท ถ้าไม่แห้งจะทำให้เส้นกกเป็นรา เมื่อเส้นกกแห้งก็นำมาแยกขนาด แล้วนำมามัดเป็นกำๆ ซึ่งจะเก็บไว้ใต้ถุนบ้านที่มีลมโกรกเต็มที่
เครื่องมือและอุปกรณ์การทอเสื่อกก
๑. โครงไม้เครื่องทอ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า ค้าง (อ่าน “ ก๊าง ” )
๒. ฟืม ใช้สำหรับอัดเส้นกก
๓. ไม้กระสวยสำหรับพุ่งเส้นกก ยาวประมาณ ๒ เมตร ปลายของไม้ด้านหนึ่งเรียว และที่ปลายสุดบากเป็นง่ามไว้เล็กน้อยสำหรับพับเส้นกกให้ติดกับปลายไม้ขณะ พุ่ง
๔. ไม้คาน ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๑ นิ้ว สำหรับผูกเงื่อนไหมส่วนที่ขึงมาบรรจบกัน ยาวประมาณ ๑.๘๐ เมตร
๕. ลิ่มไม้ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า ไม้จิ๋ม เพื่อหมุนคานล่างขึ้นตามช่องที่เจาะไว้
๖. ไหมทอ ใช้สำหรับทำเอ็นเสื่อ
๗. ใบมีด ใช้สำหรับตัดไหมเมื่อทอเสื่อเสร็จ
๘. กรรไกร ใช้สำหรับตัดแต่งขอบเสื่อ
ขนาดของเสื่อที่ใช้ในการทอในหมู่บ้าน
ขนาดเส้นด้าย ๑๘ เส้น หรือ ๑๘ รูฟืม เท่ากับ ๓๖ นิ้ว
ขนาดเส้นด้าย ๒๒ เส้น หรือ ๒๒ รูฟืมเท่ากับ ๔๔ นิ้ว
ขนาดเส้นด้าย ๒๖ เส้น หรือ ๒๖ รูฟืมเท่ากับ ๕๒ นิ้ว
หลักการทอเสื่อกก (ไหม)
๑. การวางเส้นเอ็นหรือเส้นไหม
การวางเส้นเอ็นจากฟืมทางซ้ายไปก่อน รูแรกร้อยเส้นเอ็นเป็นคู่จากหัวฟืม จะใช้ตอกไม้ไผ่มัดเอาไว้ลอดตามความยาวของฟืมพอถึงหางก็มัดกับราวไม้ไผ่ไว้ รูแรกร้อยเป็นเส้นคู่ แต่มาร้อย ๑ เส้นตามธรรมดาจนครบรูฟืม พอถึงรูไหนก็ต้องเอาตอกมัดไว้เหมือนกัน
๒. การทอเสื่อกกเป็นผืน
การทอ เสื่อกก ต้องทอช่วยกัน ๒ คนจึงจะทำได้ เพราะคนหนึ่งเป็นคนพุ่งกก (ไหล) เข้าฟืม อีกคนคอยนั่งกระทบฟืมคนนั่งกระทบฟืมต้องนั่งระหว่างกลาง (หาไม้ยาวๆ ที่แข็งแรงพอที่จะนั่งได้) เพื่อคอยกระทบฟืม การกระทบฟืมต้องนั่งตามสะดวกไม่ต้องเกร็งตัวเพราะจะทำให้เหนื่อยง่าย การกระทบฟืมต้องหงายทีมคว่ำที ส่วนคนพุ่งนั่งข้างขวาของคนนั่งกระทบฟืมเพื่อความสะดวกและคล่องตัว มีเส้นกก(ไหล) วางไว้ข้างหน้าเพื่อความสะดวก คนที่คอยพุ่งเส้นกกนั้นต้องมีสมาธิและชำนาญพอสมควร ก่อนจะทอก็ต้องเอาน้ำพรมเส้นกกก่อนเพื่อให้กกอ่อนตัวและทอได้ง่าย คนพุ่งกกต้องอาศัยไม้ส่งเส้นกก (ไหล) เข้าฟืม ซึ่งไม้นั้นทำด้วยไม้ไผ่ ยาวประมาณ ๑ เมตร เป็นรูปแบนๆ ตรงกลางแหลมและเป็นร่องนิดหนึ่ง (หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่ากระสวยพุ่งฟืมเสื่อกก) ถ้าใช้กกที่ย้อมสีและทำเป็นลายปักจับก็นับจำนวนเส้นกกเอาเอง และประมาณเอาว่าจะเอาลายปักจับขนาดใหญ่หรือเล็กแล้วแต่ความพอใจของคนทั้งสอง ทำแบบนี้จนเสร็จเป็นผืนเสื่อ การที่พุ่งเส้นกกเข้าแต่ละเส้นนั้น คนที่กระทบฟืมต้องพับเส้นกกเข้าใต้เส้นเอ็นหรือเก็บริมกกตลอดจนทอเสร็จ
๓. เมื่อทอเสร็จแล้ว เก็บริมกกเสร็จทั้งสองข้าง ก็จัดการเอามีดตัดเส้นกกที่พับไว้ หรือเก็บริมออก แล้วแต่จะสั้นหรือยาวตามความพอใจให้เรียบร้อย การตัดแบบนี้ทำข้างไหนก่อนก็ได้
กรรมวิธีการทอเสื่อในหมู่บ้าน
๑. เตรียมอุปกรณ์ในการทอเสื่อให้พร้อม
๒. เอาไม้จิ๋มหรือลิ่มไม้ หนุนคานอันล่างขึ้นตามช่องไม้ที่เจาะไว้ทั้ง ๒ ข้าง
๓. ร่อนไหมไปบนค้างทอเสื่อ (โครงไม้เครื่องทอ) ด้านบนและด้านล่าง แล้วสอดเข้ารูฟืม มัดไหมกับไม้หาบ(คาน)ให้ตึง
๔. เมื่อมัดไหมจนครบรูฟืมแล้ว ก็ปลดเอาไม้จิ๋ม (ลิ่มไม้) ออกทั้ง ๒ ข้าง
๕. ทำข้อ ๑-๓ เสร็จเรียบร้อยแล้ว
๖. การทอเสื่อจะใช้คนทอ ๒ คน คนที่พุ่งเส้นกกก็เอาปลายกกพันให้ติดกับปลายไม้ร่อนแล้วก็พุ่งเข้าไปตามช่อง เส้นไหม แล้วก็จะชักเอาไม้ร่อนออก ปล่อยให้เส้นกกค้างอยู่ในระหว่างเชือก ส่วนคนกระทบฟืมก็จะกระทบฟืมอัดเส้นกกไปตามเส้นไหม แล้วก็ยกฟืมหงายขึ้น หงายฟืมค้างไว้ แล้วใช้มือซ้ายพับปลายเสื่อ และคนร่อนกกก็พุ่งกกมาอีก คนกระทบฟืมก็อัดเส้นกกและยกฟืมขึ้น คว่ำฟืมค้างไว้ ใช้มือขวาพับปลายเสื่อทำอย่างนี้สลับกันไปเรื่อยๆ จนได้เสื่อตามขนาดที่ต้องการ
๗. เมื่อทอเสร็จตามขนาดที่ต้องการแล้ว ก็ใช้มีดโกนตัดเอาไหมออกแล้วก็มัดไหมให้แน่น แล้วก็ปลอดเอาลิ่มออก จากนั้นก็ใช้กรรไกรตัดปลายเสื่ออกให้เรียบร้อย
ระยะเวลาการทอเสื่อกก
สำหรับ ระยะเวลาในการทอเสื่อ ๑ ผืน สามารถใช้เวลาในการทอประมาณ ๓๐ นาที คนที่มีความชำนาญและมีเวลาว่างในการทอเสื่ออย่างเต็มที่ ก็สามารถทอเสื่อได้ประมาณวันละ ๑๕ – ๒๐ ผืน ส่วนคนที่ไม่ค่อยชำนาญ หรือไม่ค่อยมีเวลาในการทอเสื่อ ก็สามารถทำได้วันละไม่ต่ำกว่า ๑๐ ผืน
การทอเสื่อของแต่ละคนนั้น ไม่สามารถจะบอกได้ว่าแต่ละคนจะใช้เวลาในการทอเสื่อประมาณกี่นาที และวันหนึ่งๆ จะสามารถทอได้กี่ผืน แล้วแต่ความชำนาญของแต่ละคน
ราคาและค่าจ้างการทอเสื่อกก (ในระยะ พ.ศ.๒๕๓๗)
สำหรับ ค่าจ้างในการทอเสื่อกกในบ้านป่าบงงาม จะนิยมจ้างทอผืนละ ๔ บาท ราคารที่จ้างนั้นจะเท่ากันทุกขนาด ไม่ว่าเสื่อนั้นจะมีขนาดใหญ่ กลางหรือเล็ก ก็จะจ้างในราคาที่เท่ากัน
ราคาของเสื่อกกนั้น เสื่อแต่ละผืนนั้นจะมีราคาไม่เท่ากันแล้วแต่ขนาดของเส้นด้าย
ขนาดเส้นด้าย ๑๘ เส้น(๑๘ รูฟืม) ราคาผืนละ ๗ บาท
ขนาดเส้นด้าย ๒๒ เส้น(๒๒ รูฟืม) ราคาผืนละ ๑๐ บาท
ขนาดเส้นด้าย ๒๖ เส้น(๒๖ รูฟืม) ราคาผืนละ ๑๕ บาท
การลงทุน
สำหรับการลงทุนในการผลิตเสื่อกกนั้น การลงทุนของแต่ละคนจะไม่เท่ากัน แล้วแต่ว่าใครจะเสียค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง แต่ค่าใช้จ่ายในการผลิตเสื่อกกที่นำมาเขียนนี้ เป็นการลงทุนที่ผู้ผลิตเสื่อกกได้ลงทุนไปแล้ว
สำหรับการลงทุนการทอเสื่อกก ๑ ผืนนั้น จะใช้ทุนประมาณ ดังนี้
จะใช้กก ๑.๓-๑.๗ กิโลกรัมๆละ ๔ บาท ประมาณ ๗ บาท เส้นไหม ๒ บาท รวมเงินค่าลงทุนการทอเสื่อกก ๑ ผืน เป็นเงิน ๙ บาท
ค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการผลิตเสื่อกก
๑. ค่าไถ ๑๗๐ บาทต่อไร่ ๒. ค่าปุ๋ย ๖๐๐ บาทต่อไร่ ๓. ค่าไหมทอ ๓๐๐ บาทต่อไร่ ๔. ค่าแรงทอ ๘๐๐ บาทต่อไร่(ผืนละ ๔ บาท)
๕. ค่าแรงปลูก ๑๐๐ บาทต่อไร่ ๖. ค่าแรงเกี่ยวกก ๖๐๐ บาทต่อไร่ รวม ๒,๕๗๐ บาทต่อไร่
- สาดบ่าง
สาดบ่าง เป็นเสื่อที่พบว่าใช้มากในกรณีที่ผู้เฒ่าผู้แก่ไปนอนวัดหรือไปรักษาศีลที่ วัด ซึ่งผู้เฒ่าหรือลูกหลานจะใช้ไม้คานหาบสาแหรก ด้านหนึ่งบรรจุคนโทพร้อมจอก และอีกด้านหนึ่งจะเป็นสาดบ่างที่ม้วนเอาหมอนมุ้งและผ้าห่มไว้ภายในดังเรียก ว่า หาบครัวนอนวัด
สาดบ่าง คงเรียกชื่อตามรูปลักษณะของสาดชนิดนี้ คือมี ๒ แผ่นประกบติดกันอยู่ เมื่อดึงดูจะเป็นบ่าง ๒ บ่าง สาดบ่างทำจากพืชที่เรียกว่า สาด หรือ สาดตองขาว คือ ต้นกล้าที่มักปลูกหรือทิ้งไว้ให้ขึ้นอยู่ตามสวนหลังบ้าน มีลักษณะเป็นเหง้าหรือลำต้นอยู่ใต้ดิน แทงกิ่งชูก้านสีเขียวแก่เป็นมัน ใบเป็นใบขนาดใหญ่ ซึ่งนิยมใช้ตองสาด (อ่าน “ ต๋องสาด ” ) คือใบของพืชนี้ห่อของอีกด้วย
การทำ
นำเอาต้นของพืชชนิดนั้นมาจักหรือฉีกเป็นตอก ความกว้างประมาณ ๐.๕ เซนติเมตร ขูดไส้ออกให้เหลือแต่ผิวแล้วนำไปตากให้แห้ง จากนั้นจึงนำมาสานด้วย “ ลายสอง ” เมื่อสานได้ขนาดความกว้างยาวตามต้องการแล้วก็พับเสียบริม เสื่อแบบนี้จะสานเป็น ๒ ผืนให้มีขนาดเท่ากัน จากนั้นจึงนำเอา ๒ บ่างหรือ ๒ ผืนนั้นมาประกบกันแล้วร้อยด้วยเส้นด้าย ทั้งนี้เพื่อจะสามารถใช้งานได้ทั้งสองด้าน สาดบ่างมีราคาแพงกว่าสาดชนิดอื่น
การใช้งาน
สาดบ่าง เป็นสาดชนิดดี เนื้อเรียบและนิ่ม ใช้ปูนั่งหรือปูนอนซึ่งจะพบการใช้งานดังนี้
๑. ใช้ปูเตียงนั่งและเตียงนอนสำหรับพระสงฆ์
๒. ใช้ปูนั่ง นอน สำหรับเจ้านายหรือพระเถระ คู่กับหมอนผาคือหมอนสำหรับพิง ที่มักจะพูดคู่กันว่า สาดบ่างหมอนผา
๓. ใช้สำหรับคนแก่ผู้มีอาวุโส นำติดตัวไปปูนั่งฟังเทศน์ปูนั่งกรรมฐาน ปูนอนวัด จำศีลในกลางพรรษา
๔. ปูรองรับศพ ทั้งในหรือนอกโลงศพ
การเก็บ
สาดบ่าง ต้องมีการบำรุงรักษาเพื่อให้ใช้ได้ทน เมื่อใช้แล้วต้องเช็คถูด้วยผ้าชุบน้ำทุกครั้ง แล้วจึงนำไปผึ่งลมให้แห้งจากนั้นจึงม้วนกลมผูกด้วยตอก หรือเศษผ้า สมัยก่อนคนแก่หรือคนที่มีอายุมาก ท่านจะจัดเตรียมสาดชนิดนี้ไว้กับบ้านเรือนเสมอ หากท่านเสียชีวิตลงลูกหลานจะได้มีเสื่อปูให้ศพของท่านได้นอนบนเสื่อดังกล่าว
- สาดไม้ผิว
เสื่อแบบนี้เรียกชื่อตามวัสดุที่ทำ คือผิวไม้ไผ่ จึงเรียกชื่อว่า สาดไม้ หรือสาดไม้ผิว มีขนาดความยาวตามลักษณะการใช้งาน
วิธีทำ
ใช้ ไม้ไผ่ซาง หรือ ไม้ไผ่สีสุก ที่มีอายุไม้ตั้งแต่ ๑ ปีขึ้นไปแล้วนำมาตัดเป็นท่อน แต่ละท่อนยาวประมาณ ๒ เมตร จากนั้นจึงผ่าไม้ออกเป็นกีบ ความกว้างของกีบประมาณ ๑.๕ เซนติเมตร แล้วจักเอาเฉพาะผิวของไม้เท่านั้น คือไม้ ๑ กีบ ได้ตอก ๑ เส้น จากนั้นจึงนำไปตากแดดให้แห้ง เพื่อรอการสานต่อไป
การสาน
เมื่อจะสานเสื่อ ให้เอาตอกผิวไปแช่น้ำก่อน ประมาณ ๑๐ นาที เพื่อให้ตอกเหนียว จากนั้นจึงทำการสานด้วย “ ลายสอง ” ในการสานตอกแต่ละเส้นจะต้องใช้เหล็กแบนบาง ทอย (อ่าน “ ตอย ” ) คือกระแทกให้ตอกประสานกันสนิทแน่นเพราะลำพังเพียงแต่ใช้มือไม่สามารถดันตอก ให้เข้าที่ได้ และยังจะทำให้เจ็บมือหรือตอกบาดมือได้ง่าย เมื่อสานแล้วก็พับริมให้ตรง
การใช้
สาดไม้ผิวจะมีความทนทานสูง เพราะทำจากส่วนผิวของไม้ไผ่ ใช้ปูให้คนนั่ง ปูพื้นบ้าน ปูกับดินสำหรับนั่งทำงานบนพื้นดิน อย่างไรก็ตาม สาดไม้ผิวเวลาที่ปูนั่งปูนอนจะเจ็บที่เท้าที่หลัง สาดไม้ผิวยังใช้ตากพืชผลการเกษตร ใช้ปูโรงครัวชั่วคราวเมื่อมีงาน ปูกับพื้นดินจะทนมากกว่าสาดอื่น การเก็บรักษาเสื่อชนิดนี้ใช้วิธีปูเรียงกันไว้บนพื้นเรียบ ห้ามพับหรือม้วนเพราะจะทำให้หักได้ง่าย
สาดแอย่ง (อ่าน “ สาดแหย่ง ” )
สาแอย่ง เป็นเสื่อที่สานจากต้นคล้าซึ่งเป็นพรรณไม้ล้มลุก ชนิด Schumannianthus dichotomus Gagnep. ในวงศ์ MARANTACEAE ลำต้นสูงประมาณ ๑-๒ เมตร ชอบขึ้นในที่ลุ่มหรือที่ชื้นแฉะ แตกแขนงตามลำต้น ใบกว้าง ลำต้นกลมสีเขียวผิวมัน เมื่อโตเต็มที่มีความสูงประมาณ ๒ เมตร นิยมใช้ลำต้นของพรรณไม้นี้ที่มีอายุ ๑ ปีขึ้นไปมาสานเป็นเสื่อ เรียกว่า สาดแอย่ง ไปสานด้วยลายสองเป็นผืนขนาดต่างๆ เมื่อใช้สาดชนิดนี้ไปนานๆ แล้ว ผิวจะออกเป็นสีน้ำตาลและมันนิยมใช้ปูในส่วนที่รับภาระมากและไม่ต้องการความ ประณีตเท่าสาดตองขาว
การตัดต้นแหย่ง
ถึงปลายฤดูหนาว หรือต้นฤดูร้อน เมื่อว่างเว้นจากกิจกรรมการทำนา จะเป็นช่วงที่มีการตัดต้นแอย่ง (ต้นคล้า) เพื่อนำมาสานเป็นสาด การตัดแอย่งจะคัดเลือกเอาต้นแอย่งที่มีอายุ ๑ ปีขึ้นไป โดยใช้มีดตัดที่โคนต้นและปลายทิ้ง อย่าให้เหลือตอสูงเกินไปเพราะจะทำให้การแตกหน่อของแอ ย่งน้อยลง ส่วนกิ่งของแอย่งที่มีควายยาวยังเก็บไว้ต่อกันสานเสื่อแอย่งผืนเล็กๆ ได้อีก
เมื่อตัดแอย่งกองไว้แล้วก็มาคัดขนาดสั้นยาวของแอย่งแต่ละต้น แอ่งที่มีขนาดยาวเอากองรวมไว้ที่หนึ่ง แอย่งที่มีขนาดสั้นก็กองไว้อีกที่หนึ่ง แล้วจึงจักเอาเปลือกของแอย่งเป็นตอกผูกมัดแอย่งเป็นมัดๆ นำไปกองไว้ในที่จะทำให้ขึ้นตอนต่อไป เช่น ใต้ต้นไม้ หรือใต้ถุนเรือน เป็นต้น
การหักแอย่ง
เมื่อตัดแอย่งตามขนาดไว้แล้วก็เริ่มจักโดยใช้มีดเหน็บผ่าต้นแอย่งออกเป็นสองซีก แล้วนำเอาต้นแอย่งที่ผ่าครึ่งนั้นมาหักกับตอหลักไม้ไผ่ที่ตอกหรือฝังไว้กับ ดิน หลักสูงจากดินประมาณ ๕๐ เซนติเมตร เมื่อจะหักให้หันด้านที่เป็นผิวของแอย่งเข้ามาหาตัวแล้ว จึงหักให้ส่วนในคือเยื่อหักออกจากกันเป็นท่อน หักครั้งหนึ่งยาวประมาณ ๑๐ – ๑๕ เซนติเมตร ใช้มือซ้ายช่วยดึงเอาส่วนในของแอย่งออกเป็นท่อนๆ เมื่อหักเอาส่วนในอกหมดแล้วก็จะได้ตกแอย่งเป็นเส้นๆ ตามความยาวของต้นแอย่ง ความกว้างของตอกแอย่งประมาณ ๒-๓ เซนติเมตร แล้วแต่ความใหญ่ของต้น จากนั้นจึงนำดอกผิวแอย่งไปตากแดดให้แห้ง เก็บไว้ที่ร่มเพื่อเตรียมสานต่อไป
การสานสาด
การสานสาดแอย่งนิยมสานกับพื้นดิน เพราะมีพื้นที่กว้างใต้ถุนเรือนเป็นสถานที่ดีที่สุด ก่อนจะลงมือสาน ให้นำเอาตอกผิวแอย่งไปแช่น้ำให้แอย่งคืนตัวออกเป็นแผ่นและเพื่อตอกนั้นจะได้ เหนียวนุ่มไม่หักในเวลาที่สาน การสานใช้สานด้วย “ ลายสอง ” คือยกสองเส้นข่มสองเส้นนั้นเอง เมื่อสานจนเห็นว่าตอกของทุกด้านเหลือประมาณ ๑๐ เซนติเมตร แล้วก็หยุดเพื่อทำการ “ เม้มริม ” คือเอาเงื่อนตอกเสียบเก็บไว้ที่ท้องของผืนสาด เป็นอันเสร็จการสาน ด้วยการได้เสื่อที่มีขนาดตามความต้องการ
การใช้
สาดแอ ย่งใช้ได้ดีในทุกสถานที่ ตั้งแต่สถานที่สูงจนถึงต่ำ ใช้ปูพื้นบ้านพื้นเรือน ปูในโบสถ์วิหารเพื่อศรัทธาได้นั่งฟังเทศน์ทำบุญ ปูนั่งปูนอนบนร้าน ปูทำงานต่างๆ ทั้งในวัดและในบ้าน ปูพื้นดินในโรงครัวชั่วคราวเมื่อมีงาน คุณภาพพิเศษของเสื่อชนิดนี้ คือเมื่อปูนั่งหรือนอนจะมีความเญ้นกว่าเสื่อชนิดอื่นเพราะมีช่องถ่ายเทอากาศ ดี และยังเป็นเสื่อที่ทนทานแข็งแรง ถ้าใช้ปูบนเรือนไม่เคลื่อนย้ายบ่อยจะอยู่ทนได้เป็น ๑๐ ปีขึ้นไป การเก็บเสื่อหลังการใช้แล้วให้เก็บซ้อนเรียงกันไว้ เอาขนาดใหญ่ไว้ข้างล่าง เรียงขึ้นขนาดกลางและขนาดเล็ก ถ้ามีการขนย้ายหรือมีการยืมไปใช้ให้ม้วนแล้วผูกแบกไปครั้งละ ๒-๓ ผืน
สาดวง
สาดวง เป็นเสื่อกว้างประมาณ ๑ ศอก ยาวประมาณ ๔ วา ใช้กรุในเรือนล้อโดยใช้คู่กับสาดถุ้งอีกต่อหนึ่ง คือเมื่อปูสาดถุ้งกับเรือนล้อแล้ว ใช้สาดวงเวียนรอบๆ ข้างของเรือนล้อ ๑ รอบ เพื่อกันมิให้เมล็ดพืชไหลออกปทางด้านข้าง
เสื่อแบบนี้จะใช้ไม้เฮี้ยสานด้วยลายสองเหมือนกับสาดคะลาและสาดถุ้ง ปกติเมื่อไม่ใช้งานแล้วก็จะม้วนสาดชนิดนี้ไว้เสมอ โดยมีไม้กระบอกที่แต่งด้านข้างทำเป็นไม้หนีบไว้ ส่วนสาดถุ้งนั้นยังคงปูอยู่ในเรือนเกวียนจนกว่าจะสิ้นภารกิจจึงจะนำไปเก็บ
- สาดหยาบ (อ่าน “ สาดหญาบ ” )
สาด หยาบ เป็นชื่อเรียกสาดชนิดหนึ่ง เป็นสาดขนาดสั้น กว้างประมาณ ๘๐-๑๐๐ เซนติเมตร ยาวประมาณ ๑๕๐ เซนติเมตร ทำจากต้นหย้าสะลาบหรือกกสามเหลี่ยม โดยการจักต้นหญ้าออกเป็นเส้นๆ แล้วนำไปตากให้แห้ง เมื่อแห้งแล้วความกว้างของเส้นประมาณครึ่งเซนติเมตร คือเป็นเส้นแบนๆ และไม่รูดเหลาด้วยรูสังกะสี แต่จะนำไปทอตามเส้นที่จักไว้อย่างนั้น จึงมีขนาดใหญ่บ้างเล็กบ้าง การทอจึงทำได้เร็ว ทำให้มีราคาถูก มีน้ำหนักเบา แต่ไม่ทนทาน มีเนื้อหยาบ ถูกน้ำจะเสียเร็ว
การใช้งาน
ใช้ปูนั่งปูนอน ปูพื้นร้านที่นั่งทำงาน ใช้เป็นสาดประกอบขันตั้งคือขันครู ที่พูดกันว่า “ สาดใหม่ หม้อใหม่ ” ใช้ปูให้ศพนอนหรือปูเมื่อบรรจุศพในโลง