วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
21/10/2008
ที่มา: 
เว็บไซต์ล้านนาคดี http://lanna.mju.ac.th/ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ "ทุกภาพ ทุกตัวอักษร มอบเป็นวิทยาทานแด่ทุกท่าน"

ตั่ง
 
ตั่ง เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ทำขึ้นเพื่อรองรับสิ่งอื่น อย่างที่ใช้เป็นเครื่องรองนั่ง หรือรองรับวัตถุอย่างหม้อซึ่งมีส่วนก้นโค้งมนมิให้เคลื่อนไปมา ก็ได้

  • ตั่งเข้าแรก ( อ่าน “ ตั่งเข้าแฮก ” )

หมายถึงตั่งหรือโต๊ะขนาดเล็กที่ใช้สำหรับวางเครื่องสังเวยสนพิธีแรกนา

  • ตั่งงก

ตั่งงก คือเครื่องรองนั่งซึ่งไม่มีการอธิบายไว้ชัดเจนปรากฏใน ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ในตอนที่กล่าวถึงพระญาติโลกราชแย่งราชสมบัติจากพระญาสามฝั่งแกนว่า “ รุ่งเช้า เจ้าพระญาพ่อลูกจิ่งออกนั่งตั่งงกแลตนแลอันอยู่ข้างโรงห้างเบื้องเหนือ เจ้าพระญาสามประหญาตนพ่อจิ่งหื้อไพนิมนต์ชาวเจ้าคณะสังฆะมาพร้อมกัน ” และ “ เจ้าพระญาติโลกราชะแส้งกะทำอุบายบ่หื้อหมู่แห่แหนสักคน ส่วนตนเจ้าเท่าออกมานั่งทรงตั่งงกอยู่ ดูพ่อครัวแกงกินยังข้างโรงห้างเบื้องเหนือ ”

และในตอนที่กล่าวถึงเสนาผู้ใหญ่จากเมืองฮ่อเข้าเฝ้าพระเจ้าติโลกราชนั้น เสนาทั้งสองปรารถนาที่จะ นั่งตั้งงกซึ่งมีเกียรติสูงในการเข้าเฝ้าเหมือนกับที่ตนไปในราชสำนักอื่น ๆ นั้นพระเจ้าตอโลกราชไม่ทรงยินยอม โดยกล่าวว่าหากให้เสนาฮ่อทั้งสองนั่งตั่งงกเท่าเทียมกับพระองค์แล้ว พระองค์จะมีศักดิ์ศรี ไปปกครองท้าวพระยาในทิศตะวันตกแทนพระเจ้าแผ่นดินเมืองฮ่อได้อย่างไร

โดยความดังกล่าว อาจอนุมานได้ว่า ตั่งงกเป็นที่นั่งมีพนักพิงซึ่งจัดเป็นที่นั่งอันมีเกียรติ และในบางสถานการณ์แล้วมีสถานภาพอย่างเดียวกับราชบัลลังก์

  • ตั่งซอยอยา

ตั่งซอยอยา เป็นม้าสำหรับหั่นใบยาสูบ เป็นของใช้พื้นบ้านที่ใช้หั่นยาสูบให้เป็นเส้นเล็ก ๆ แล้วนำไปตากแดดให้แห้งเพื่อเป็นยาเส้นสำหรับมวนบุหรี่ อื่น ๆ ต่อไป

ตั่งซอยอยาทำด้วยไม้เนื้อแข็ง ประกอบด้วยรางใส่ใบยาสูบ และช่องหูสำหรับป้อนใบยาสำหรับหั่น นำมาประกอบกันโดยให้รางยึดติดกับช่องหูให้เสมอกัน ใช้แผ่นไม้ยึดรางด้านหลังให้ตอดกันแน่นคานไม้

การใช้ตั่งซอยอยา นำตั่งซอยอยาตั้งบนเสื่อลำแพนหรือวางบนพื้นที่เรียบ เช่น อาจใช้กระด้ง เพื่อรองรับใบยาที่หั่นจากนั้นก็นำใบยาที่บ่มจนเหลือง จำนวน 8-10 ใบ ม้วนเป็นลักษณะกลม ๆ ตามแนวยาวของใบ ใช้มีดหั่นนั่งอยู่ด้านข้างมือข้างหนึ่งจับมีดหั่นขยับขึ้นลง ๆ อีกข้างหนึ่งจับใบยาค่อย ๆ ป้อนใบยาเข้าไปในช่องหู เมื่อใบยาใกล้จะหมดก็ม้วนใบยาชุดใหม่ประกบกับของเดิมหั่นต่อไปเรื่อย ๆ จนหมด ส่วนใบยาที่หั่นเสร็จแล้วจะนำไปแผ่บนแผงจากใบยา นำไปผึ่งแดดจนแห้งสนิทดีแล้ว จึงห่อเก็บหรือเก็บใส่ภาชนะที่รุด้วยใบพลวง หรือใบตองแห้ง เพื่อเก็บไว้ใช้นาน ๆ หรือนำไปจำหน่ายต่อไป
 

  • ตั่งเทียน ( อ่าน “ ตั่งเตียน ” )

ตั่งเทียน ตามศัพท์แล้วหมายถึง “ ที่นั่งของเทียน ” หรือเชิงเทียน คือเป็นสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ใช้รองรับเทียนเวลาจุดไฟในการทำพิธีต่าง ๆ ทั้งนี้เพราะตามธรรมเนียมของล้านนานั้น ในวิหาร หรือที่มีการจุดเทียนในพิธีการนั้น จะมีเชิงเทียนที่เรียกว่า สัตตภัณฑ์ ซึ่งทำด้วยไม้เป็นรูปภูเขามีเจ็ดยอดแทนภูเขาสัตตบริภัณฑ์ที่อยู่รอบเขาพระ สุเมรุ โดยเรียงตามลำดับจากยอดสูงที่สุดถึงยอดต่ำที่สุดคือ ยุคันธร อิสินธร กรวิก สุทัศน์ เนมินธร วินันตกะ อัสสกรรณ ในการจุดเทียนบูชาก็ให้จุดบนยอดทั้งเจ็ดนั้น และในท้องที่ของไทลื้อก็นิยมทำ ขั้นไดแก้ว ขั้นไดคำ ขั้นไดเงิน หรือขั้นไดที่จะจุดเทียนตามขั้นไดนั้น

แต่ในการจุดเทียนตามกำลังศรัทธาหรือในพิธีการบางอย่าง อาจจุดเทียนมากกว่าหรือน้อยกว่าจำนวนเจ็ดก็ได้ ดังนั้นจึงใช้สิ่งต่าง ๆ ที่สามารถรองรับเทียนได้ เพื่อว่าเมื่อน้ำตาเทียนไหลลงแล้วจะไม่เลอะพื้นและไม่ก่อเกิดไฟไหม้ เช่น ก้อนอิฐ ถ้วยประทีป หรือติดเทียนเข้าที่แท่นแก้วหรือฐานชุกชี ในระยะหลังที่มีการใช้เหล็ก และสังกะสีอย่างแพร่หลายแล้ว ก็นิยมทำเป็นราวเหล็กเหนือกระบะสังกะสี เพื่อว่าเมื่อจุดเทียนติดเย้าที่ราวเหล็กแล้ว น้ำตาเทียนจะหยดลงบนกระบะสังกะสีนั้น ซึ่งบางแห่งอาจใส่น้ำไว้ที่กระบะสังกะสีด้วยก็มี ชุดราวเหล็กและกระบะสังกะสีนี้ อาจทำให้มีราวกี่ชั้นก็ได้ และจะทำให้ยาวได้ตามที่เห็นว่าเหมาะสม

ทั้งนี้ เชิงเทียน คือสิ่งที่ทำขึ้นเพื่อรองรับเทียนแต่ละแท่ง โดยอาจทำให้ด้วยวัสดุใด ๆ ก็ได้ แต่ให้สูงขึ้นจากพื้นและมีรูอยู่กลางเพื่อรองรับเทียน เครื่องใช้แบบนี้ทางล้านนาเรียกกว่า ต้นเทียน (อ่านว่า ต้นเตียน)

  • ตั่งแว่น

ตั่งแว่น ตรงกับโต๊ะเครื่องแป้ง ซึ่งเป็นเครื่องใช้ของสตรีที่มีสถานภาพสูง ลักษณะเป็นโต๊ะเตี้ย มีกรอบสำหรับติดแว่นคือกระจกเงา ซึ่งยุคก่อนใช้โลหะขัดมันแทนกระจกเงาบนโต๊ะ หรือลิ้นชักโต๊ะจะมีเครื่องประทิ่นสำหรับความงาม เช่น แป้ง น้ำมันทาผม และมีเครื่องเสริมความงามอย่างหวีตลอดจนอาจมีเครื่องใช้หรือเครื่องประดับ ของสตรี เช่น ปิ่น หย่องปักผม แหวน กำไล และอื่น ๆ ไว้ด้วยก็ได้

ตั้งแว่น เช่นนี้จะเป็นของใช้ส่วนตัวของสตรีซึ่งจะตั้งไว้ในห้องนอน ในกรณีที่ต้องการให้สมาชิกในเรือนหรือผู้ที่มาเยือนร่วมใช้ได้ก็อาจทำ ค้างแว่น คือกระจกที่อาจติดไว้กับฝาหรือเสาบ้าน สูงในระดับที่สามารถยืนแยงแว่นหรือส่องกระจกได้ หน้าค้างแว่นนั้น แจมีกระบะที่วางเครื่องประทิ่นอย่างออมใส่แป้งคือกระปุกใส่แป้งคือประปุกใส่ แป้ง และออมน้ำมันคือกระปุกน้ำมันใส่ผม ซึ่งก็ย่อมจะมีหวีวางไว้ด้วย เวลาที่หนุ่มมาเยือนสาวที่ทำงานเล็กๆ น้อยๆ ในกลางคืนนั้น หนุ่มมักจะไป “ หวีหัวทาแป้ง ” ที่ “ ค้างแว่น ” ก่อนจะไปคุยกับสาว

  • ตั่งหม้อ

ตั่งหม้อ เป็นอุปกรณ์ที่ใช้รองรับหม้ออย่างหม้อน้ำหรือหม้อแกง ที่เป็นเครื่องปั้นดินเผาแรงไฟต่ำ ซึ่งส่วนก้นจะโค้งมนและมักจะแตกหรือเสียหายง่าย โดยเฉพาะเมื่อยกหม้อลงวางนั้น หากไม่ระวังแล้ว หม้ออาจจะกระแทกพื้นและแตกเสียหายได้ ดังนั้นจึงมีอุปกรณ์ที่ทำขึ้นอย่างง่าย ๆ เพื่อรองรับให้เป็น “ ที่นั่ง ” ของหม้อดังกล่าว

ตั่งหม้อ มักจะทำจากวัสดุอย่างเศษตอก หญ้าแห้งหรือฟางที่รวบให้มีขนาดประมาณหนึ่งกำมือ ขดวัสดุนั้นให้โค้งเป็นวงกลม กะให้มีความกกว้างย่อมกว่าก้นหม้อเล็กน้อย ตอกมัดวัสดุดังกล่าวให้เป็นเปลาะโดยรอบ และให้มีระยะของเปลาะไม่ห่างกันเกินไปเพื่อที่จะให้สามารถรองรับน้ำหนักได้ ดีในการใช้งานนั้น ให้วางตั่งหม้อนั้นลงในบริเวณที่จะวางหม้อทั้งบริเวณที่จะวางหม้อ เป็นการถาวรหรือชั่วคราว เมื่อหม้อ “ นั่ง ” อยู่บนตั่งหม้อนั้นแล้ว ก็พอจะเบาใจได้ว่าหม้อจะไม่เคลื่อนไปจากลักษณะที่วางไว้ และหม้อนั้นจะไม่แตกเสียหายได้

  • ตั่งโย

ตั่งโย ตรงกับจันทันในภาษาไทยกลาง เป็นชื่อไม้โครงสร้างของโครงหลังคาโดยใช้ไม้ 2 ชิ้น ขนาดประมาณ 5 ? 20 เซนติเมตร ประกอบกับเป็นด้านข้างรูปสามเหลี่ยมของโครงหลังคา ปลายบนประกอบเข้ายึดติดกับดั้ง ส่วนปลายล่างวางตั้งบนขื่อ อาจบากเป็นเดือยเพื่อสอดเข้ารูที่เจาะไว้ขื่อทั้งนี้เพื่อถ่ายน้ำหนักจาก หลังคาลงสู่ขื่อเช่นเดียวกับจั่ว ตั่งโยจึงเป็นโครงสร้างแทนจั่ว และใช้เฉพาะห้องที่ไม่มีจั่ว