เครื่องมือของใช้ล้านนา - คราดมือเสือ

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
27/10/2008
ที่มา: 
เว็บไซต์ล้านนาคดี http://lanna.mju.ac.th/ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ "ทุกภาพ ทุกตัวอักษร มอบเป็นวิทยาทานแด่ทุกท่าน"

คราดมือเสือ

 

คราดมือเสือ หรือที่เรียกว่า คราดเล็ก เป็นเครื่องมือของชาวบ้านสำหรับชักลากเศษฟางออกจากเมล็ดข้าวเปลือก และสามารถทำความสะอาดลานบ้านโดยการชักใบไม้เศษหญ้า เศษขยะได้อีกด้วย

คราดมือเสือ มีซี่คราดเป็นซี่ ๆ จำนวน ๘ - ๑๐ ซี่ ปลายแหลมรูปลักษณะคล้ายมือเสือจึงเรียกว่า คราดมือเสือ

วิธีทำ ไม้ประกอบเป็นคราดมือเสือ ๓ ส่วนด้วยกัน คือ ส่วนที่เจาะทำตัวคราด ใช้ไม้เนื้อแข็งหรือไม้สักก็ได้ ที่เลื่อยเป็นแผ่นแล้วมีขนาดหนาประมาณ ๕ เซนติเมตร ตัดแผ่นไม้มีความยาวประมาณ ๓๐ - ๕๐ เซนติเมตร ผ่าแผ่นไม้กว้างประมาณ ๘ - ๑๐ เซนติเมตร ใช้กบไสให้ผิวเรียบ ใช้สว่านเจาะรูไม้ ส่วนด้านหน้าให้เป็นรูห่างกันเป็นระยะ ๆ จำนวนเท่ากับซี่ไม้ที่เหลากลม จำนวน ๘ - ๑๐ ซี่ ซี่ไม้ดังกล่าวจะยาวประมาณ ๑๐ - ๑๕ เซนติเมตร ใช้โคนซี่ไม้สอดรูที่เจาะเตรียมไว้ ให้ปลายด้านแหลมของซี่ไม้อยู่ด้านล่าง เพื่อจะได้ชักลากเศษฟางหรือเศษผงที่ไม่ต้องการออกได้ง่าย ซี่มือเสือที่เหลากลม ๆ นี้อาจเหลาจากไม้ไผ่หรือไม้เนื้อแข็งก็ได้ เจาะรูตรงกึ่งกลางไม้คราดมือเสือ เพื่อสอดไม้ไผ่ที่ทำเป็นด้ามจับมีความยาว ๓ - ๔ เมตร เหลาผิวและข้อให้เรียบร้อย ไม่ให้มีเสี้ยนหนาม

การใช้คราดมือเสือมักใช้ในลานข้าว เวลาใช้พลั่วตัก เมล็ดข้าวเปลือกสาดให้แรงลมพัดเอาเศษผงเศษฟางออกจากเมล็ดข้าวเปลือก ชาวบ้านใช้คราดมือเสือชักลากเศษฟางออกไป เมล็ดข้าวเปลือกจะไม่ติดไปเพราะซี่คราดมือเสือมีระยะห่างกันพอสมควร ทุกวันนี้มีการใช้คราดมือเสือกันน้อยมาก เพราะมีเครื่องจักรแยกเศษผง เศษฟาง ซังข้าว ได้อย่างรวดเร็ว