วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
24/11/2008
ที่มา: 
เว็บไซต์ล้านนาคดี http://lanna.mju.ac.th/ "ทุกภาพ ทุกตัวอักษร มอบเป็นวิทยาทานแด่ทุกท่าน"

บ้านถวาย

   


บ้านถวาย หรือ หมู่บ้านถวาย เป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ ที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งในด้านงานหัตถกรรมไม้แกะสลัก ตั้งอยู่เป็นเป็นหมู่ที่ ๒ ในจำนวน ๘ หมู่บ้านของตำบลขุนคง อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่

  • ประวัติความเป็นมาของงานหัตถกรรมไม้แกะสลักของหมู่บ้านถวาย เรียบเรียงจากคำบอกเล่าของพ่อน้อยหลวงบุตรปันแก้ว อายุ ๖๔ ปี ชาวบ้านถวายคนหนึ่ง ได้เริ่มทำกันเป็นจริงเป็นจังเมื่อประมาณ พ . ศ . ๒๕๑๒ โดยก่อนหน้านั้น พ่อน้อยหลวงและเพื่อน ๆ อีก ๔ คน ได้แก่ นายแดง พันธุ์ศาสตร์ หรือพ่อหนานแดง นายเรือน นายใจมาและนายอินแก้ว ได้เข้าไปหางานทำในตัวเมืองเชียงใหม่หลังฤดูกาลทำนา ด้วยการเป็นลูกจ้างอยู่ที่ร้านน้อมศิลป์ ตั้งอยู่ที่บริเวณปประตูเชียงใหม่ซึ่งเป็นร้านที่ประกอบกิจการแกะสลักไม้ ในครั้งแรก พ่อน้อยหลวงได้ทำหน้าที่เป็นลูกมือทำงานช่าง เช่น ปัดแต่งสินค้าที่ช่างแกะสลักไว้แล้ว ต่อมาจึงหัดแกะสินค้าชิ้นเล็ก ๆ เป็นการทดลองฝีมือก่อน

ต่อมาอีกหลายปี เมื่อพ่อน้อยหลวงย้ายไปทำงานอยู่ร้านแกะสลักอื่น ๆ ในตัวเมืองเชียงใหม่จนมีฝีมือเป็นที่ไว้ว่างใจของร้านค้าต่าง ๆ แล้ว พ่อน้อยหลวงจึงรับงานมาทำที่บ้าน และพ่อค้าจะเป็นผู้มารับสินค้าเองถึงบ้าน โดยกำหนดค่าจ้างเป็นรายชิ้น ต่อมา เด็กรุ่นหลังสนใจเข้าไปหัดงานแกะสลักในเมืองมากขึ้น แล้วเมื่อฝีมือดีพอ จึงรับงานมาทำที่บ้านเมื่อเพื่อนฝูงและญาติพี่น้องเห็นดังนั้น ก็เกิดความสนใจ พากันเข้าในเมืองเพื่อหัดแกะสลักกันมากขึ้น จนงานหัตถกรรมของหมู่บ้านถวายขยายตัวใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ และงานแกะสลักได้พัฒนาคุณภาพให้เหมือนกับของโบราณยิ่งขึ้นด้วย หมู่บ้านถวายจึงกลายเป็นหมู่บ้านอุตสาหรรมขนาดย่อยและขนาดกลางในที่สุด ซึ่งในปัจจุบันนั้นมีร้านค้าขนาดใหญ่ในหมู่บ้านจำนวนมาก

  • กรรมวิธีการผลิตงานแกะสลักไม้ของหมู่บ้านถวายสรุปได้คร่าว ๆ ว่ามีอยู่ ๒ ลักษณะใหญ่ คือการแกะสลักเองหรือลักษณะที่เรียกว่าเป็นผู้ผลิตโดยตรง และการนำไม้ที่แกะสลักแล้วแต่ยังไม่ได้ตกแต่ง ( โดยมากมาจากอำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน และจากจังหวัดสุโขทัย ) มาตกแต่งให้เรียบร้อยด้วยวิธีการขัดเสี้ยน ปิดทอง ปิดกระจก และตกแต่งให้ดูเหมือนของโบราณ หรือลักษณะที่เรียกว่าเป็นผู้รับเหมาช่วงการผลิตสำหรับการตลาดและรูปแบบของ ผลิตภัณฑ์ ก็แบ่งออกเป็นอีก ๒ ลักษณะ ๒ ลักษณะ คือ ลักษณะแรกเป็นการผลิตตามคำสั่งซื้อซึ่งพ่อค้าทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ จะเป็นผู้กำหนดรูปแบบผลิตภัณฑ์มาให้ส่วนมากเป็นพระพุทธรูปและเทวรูปต่าง ๆ รวมถึงรูปสัตว์นานาชนิด ตลอดจนฉากกั้นห้องและกระบุง โดยราคาจะขึ้นอยู่กับชนิดและขนาดของสินค้านั้น ๆ อีกลักษณะหนึ่ง คือการผลิตเพื่อขายปลีก ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศที่เข้ามาซื้อ ระหว่างการเยี่ยมชมหมู่บ้านซึ่งจากการประเมินแล้ว ปรากฏว่าการาจัดจำหน่ายโดยการผลิตตามคำสั่งซื้อ จะมีประมาณร้อยละ ๗๐ ของปริมาณการจำหน่ายทั้งหมด และอีกประมาณร้อยละ ๓๐ จะเป็นการขายปลีก
  • วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต มีอยู่สามประเภทหลัก ๆ คือ ไม้สัก ไม้ฉำฉา และไม้ขนุน แต่ขณะนี้ชาวบ้านถวายกำลังประสบกับภาวะการขาดแคลนไม้ที่จะนำมาแกะสลัก จนกระทั่งเมื่อพ . ศ . ๒๕๓๑ ชาวบ้านได้นำเอาครกตำข้าวซึ่งชำรุดแล้วมาแกะสลักซ้ำซึ่งในระยะแรกมีผู้คัด ค้านมาก เนื่องจากไปขัดกับความเชื่อตั้งเดิมของชาวล้านนาที่ว่า ไม่ควรนำครกตำข้าวมาแกะสลักเพราะมันไม่เป็นสิริมงคล แต่คนโดยมากไม่เชื่อกันแล้ว จึงทำให้ครกตำข้าวที่ชำรุดแล้วนั้น สามารถขายได้ในราคาสูงและคาดว่าจะมีราคาเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แม้ว่าจะมีผู้พยายามหาไม้ชนิดอื่นมาทดแทน แต่ก็ยังไม่ประสบผลสำเร็จเนื่องจากเนื้อไม้ไม่เหมาะสมกับการนำมาแกะสลักนั้น เอง

จากการจำแนกรายได้ต่อปีของชาวบ้านถวาย ตามระดับรายได้จากจำนวนครัวเรือนทั้งหมด ๑๕๐ ครัวเรือนปรากฏว่าครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำกว่า ๖ , ๐๐๐ บาท มีร้อยละ ๑๐ . ๖๗ ครัวเรือนที่มีรายได้ ๖ , ๐๐๐ – ๑๐ , ๐๐๐ บาท มีร้อยละ ๑๖ . ๖๗ ครัวเรือนที่มีรายได้ ๑๐ , ๐๐๐ – ๒๐ , ๐๐๐ บาท มีร้อยละ ๔๒และครัวเรือนที่มีรายได้ ๒๐ , ๐๐๐ ขึ้นไป มีร้อยละ ๓๐ สรุปได้ว่า ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้นจากเดิมซึ่งดีกว่าการทำนาเพียงอย่างเดียว และสามารถส่งลูกหลานให้เรียนต่อในระดับสูงได้ความเป็นอยู่โดยทั่วไปของชาว บ้าน จึงอยู่ในระดับที่ดีขึ้นด้วยที่สำคัญคือ หมู่บ้านถวายจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของนักท่องเที่ยว และนับวันจะได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อย ๆ หากชาวบ้านจะพัฒนาฝีมือและคุณภาพงานให้ดียิ่ง ๆขึ้นไป ควบคู่กับการสนับสนุนของรัฐบาล