แหล่งโบราณคดีภาคใต้ - ชุมชนโบราณสีหยัง เจดีย์งาม

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
16/01/2009
ที่มา: 
ประเพณีไทยดอทคอม http://www.prapayneethai.com

ชุมชนโบราณสีหยัง - เจดีย์งาม

ภาค     ภาคใต้
จังหวัด  สงขลา

  • สถานที่ตั้ง ตำบลบ่อตรุ อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา

  • ประวัติความเป็นมา

บริเวณสันทรายริ้วใหญ่ตอนใน มีวัดที่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยศรีวิชัย ปรากฏหลักฐานในหนังสือกัลปนาวัดหัวเมืองพัทลุง สมัยอยุธยา เรียกชื่อวัดนี้ว่า "วัดศรีกูยัง" ในแผนที่กัลปนาวัดเมืองพัทลุง เรียกชื่อวัดนี้ว่า "วัดสีกุหยัง" เป็นวัดที่สมเด็จพะโคะหรือหลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด เมื่อครั้งเป็นสามเณรได้เคยมาศึกษาธรรมบททศชาติที่วัดนี้ ส่วนวัดเจดีย์งามตั้งอยู่ห่างจากวัดสีหยังไปทางทิศเหนือประมาณ ๓ กิโลเมตร เป็นวัดที่สร้างขึ้นในสมัยศรีวิชัยเช่นกัน ในแผนที่ภาพกัลปนาวัดหัวเมืองพัทลุงในสมัยกรุงศรีอยุธยาเรียกชื่อวัดนี้ว่า "วัดพระไจดีงาม" เป็นวัดที่ขึ้นกับวัดเขียน บางแก้ว คณะปาแก้วหัวเมืองพัทลุง

  • ลักษณะทั่วไป

บริเวณวัดสีหยังจะมีคูขุดล้อมรอบทั้ง ๔ ด้าน เป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสมีความกว้างประมาณ ๒๐๐ เมตร คูกว้าง ๓๐ เมตร ปัจจุบันแนวคูได้ตื้นเขินไปมากแล้ว

  • หลักฐานที่พบ

เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๒ หน่วยศิลปากรที่ ๙ สงขลา กองโบราณคดี ได้สำรวจขุดแต่งบูรณะวัดสีหยัง พบว่ามีซากสถูปก่อด้วยอิฐ ตั้งอยู่ในเนินดินเป็นสถูปทรงสี่เหลี่ยมจตุรัส ส่วนบนหักหายไปมีการใช้หินปะการัง ซึ่งมีอยู่ในท้องถิ่นมาทำเป็นรูปบัวของสถูปแทนอิฐ นอกจากนี้ยังพบเศษภาชนะดินเผาเนื้อดินธรรมดาและแบบเคลือบและยังเคยพบ ประติมากรรมสำริดในบริเวณใกล้เคียง เป็นเทวรูปสำริดพระกรถือรวงข้าว (ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่วัดสีหยัง) และบริเวณรอบๆ สถูปยังปรากฏคันคูดินโบราณที่บ่งบอกถึงความเป็นชุมชนโบราณอยู่ด้วย

ภายในวัดเจดีย์งามมีโบราณวัตถุที่เป็นหลักฐานให้เห็น คือ เจดีย์พระมหาธาตุเป็นเจดีย์ที่ก่อด้วยอิฐปะการังทั้งองค์ เรียงอิฐไม่สอปูนแบบไม่มีระบบ ฐานเจดีย์มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกว้าง ๘.๒๐ เมตร ยาว ๑๒.๒๐ เมตร สูง ๒๐ เมตร องค์เจดีย์เดิมสันนิษฐานว่าเป็นแบบศรีวิชัยอย่างพระบรมธาตุไชยา และเปลี่ยนเป็นแบบลังกา คือ แบบโอคว่ำอย่างเดียวกับพระบรมธาตุเมืองนครศรีธรรมราช แต่ยังมีอิทธิพลศิลปะศรีวิชัยให้เห็น คือ การก่อสร้างเจดีย์บริวารล้อมรอบเจดีย์องค์ใหญ่ ส่วนทางทิศตะวันออกของเจดีย์พระมหาธาตุเป็นวิหารพระโพธิสัตว์ ฐานวิหารเดิมก่อด้วยอิฐเผาและอิฐปะการังไม่สอปูน ขนาดกว้าง ๗.๘๐ เมตร ยาว ๑๔.๒๐ เมตร สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยศรีวิชัยเช่นกัน

  • เส้นทางเข้าสู่ชุมชนโบราณสีหยัง-เจดีย์งาม

จากจังหวัดสงขลาโดยทางหลวงหมายเลข ๔๐๘ ระยะทางประมาณ ๗๐ กิโลเมตร