มาตรการควบคุมสัตว์เลี้ยงในเมืองไทย
มาตรการควบคุมสัตว์เลี้ยงในเมืองไทย
ในปัจจุบันต้องยอมรับว่ามนุษย์ไม่สามารถอยู่เพียงลำพังคนเดียวได้ จำเป็นต้องอยู่ร่วมกับผู้อื่นหรือไม่ก็หาสัตว์เลี้ยงน่ารักๆ หลากชนิด ตัวเล็กใหญ่ หนึ่งหรือสองตัวมาเลี้ยงเป็นเพื่อนแก้เหงา หรือเพื่อเป็นการพักผ่อนหย่อนใจ เป็นงานอดิเรก หรือใช้ประโยชน์จากสัตว์เพื่อไว้ขายหรือการค้า ซึ่งสัตว์แต่ละชนิดแต่ละประเภทก็ย่อมมีข้อแตกต่างกันไปทั้งในเรื่องของการเลี้ยงดู สถานที่สำหรับเลี้ยงสัตว์ทั้งแบบมีข้อจำกัดและแบบมีอิสระได้ เรื่องของอาหารสัตว์ การเอาใจใส่ดูแลจากผู้เลี้ยง การให้วัคซีน ฯลฯ ซึ่งก็ไม่แตกต่างจากมนุษย์เราเท่าไหร่นัก
สัตว์เลี้ยงทุกชนิดที่เรานำมาเลี้ยงทั้งแบบกักขังหรือแบบปล่อย อาจจะนำปัญหามาสู่ผู้เลี้ยง ชุมชน และสิ่งแวดล้อม โดยเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์นำโรค เป็นแหล่งแพร่เชื้อโรคจากสัตว์ไปสู่คน ไม่ว่าจะเป็นเชื้อไวรัส โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ แอนแทรกซ์ ไข้หวัดนก โรคพิษสุนัขบ้า เป็นต้น รวมทั้งอันตรายที่เกิดจากถูกสัตว์ทำร้าย เช่น สุนัขรุมกัดเด็ก ซึ่งเป็นข่าวให้พบเห็นประจำ นอกจากนั้นอาจก่อให้เกิดเหตุรำคาญ ในเรื่องของกลิ่นเหม็นจากมูลสัตว์ เสียงรบกวนจากการร้องของสัตว์ รวมถึงน้ำเสียจากการล้างคอกสัตว์ หรือตัวสัตว์เป็นต้น
พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. ๒๕๓๕ ในหมวด ๖ กำหนดให้มีการควบคุมการเลี้ยงสัตว์หรือปล่อยสัตว์ โดยให้อำนาจแก่ราชการส่วนท้องถิ่นในการออกข้อกำหนดท้องถิ่น เพื่อกำหนดเขตควบคุมการเลี้ยงสัตว์หรือปล่อยสัตว์ ทั้งในเรื่องประเภทของสัตว์ที่ห้ามเลี้ยง กรรมวิธีการเลี้ยง การป้องกันเหตุรำคาญ และการปล่อยสัตว์ในที่หรือทางสาธารณะด้วย ข้อกำหนดของท้องถิ่นที่กำหนดเขตควบคุมการเลี้ยงหรือปล่อยสัตว์สามารถแบ่งได้ ๓ ลักษณะดังนี้
๑. เขตห้ามเลี้ยงหรือปล่อยสัตว์บางชนิดโดยเด็ดขาด คือ เขตพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งที่มีความเจริญ เป็นชุมชนหนาแน่น เป็นสถานที่หรือแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งไม่เหมาะสมที่จะให้มีการเลี้ยงหรือปล่อยสัตว์ โดยเฉพาะสัตว์ใหญ่ เช่น ช้าง ม้า โค กระบือ สุกร เป็นต้น และเมื่อได้มีการกำหนดเขตห้ามเลี้ยงหรือปล่อยสัตว์ชนิดใดในเขตพื้นที่ใดก็ตาม จะมีผลให้ประชาชนแม้มีที่เป็นของตนเองก็ไม่อาจเลี้ยงสัตว์ที่ถูกกำหนดในพื้นที่นั้นได้ เช่น กำหนดห้ามเลี้ยงหรือปล่อย โค กระบือ ม้า แพะ ในบริเวณรอบหนอง บึง ที่เป็นแหล่งน้ำอุปโภคบริโภคของชุมชน เพราะจะทำให้แหล่งน้ำสกปรก
๒. เขตให้เลี้ยงสัตว์บางชนิดไม่เกินจำนวนที่กำหนด ต้องกำหนดชนิดและประเภทของสัตว์ที่ห้ามให้ชัดเจนด้วย เช่น ในเขตชุมชน อาคารพาณิชย์ที่มีผู้อาศัยอย่างหนาแน่นไม่สมควรให้มีสุนัขจำนวนเกินกว่า ๒ ตัวต่ออาคาร ๑ คูหา เพื่อเป็นการป้องกันมิให้ก่อเหตุรำคาญแก่ผู้อยู่ข้างเคียง หรือการกำหนดให้เขตพื้นที่ของท้องถิ่นนั้นเป็นเขตห้ามเลี้ยงสุกรเกินกว่า ๕๐ ตัว ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงของ ปัญหาว่าต้องมีจำนวนเท่าไหร่จึงจะเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของชุมชนนั้นๆ
๓. เขตให้เลี้ยงสัตว์หรือปล่อยสัตว์บางชนิดได้โดยมีมาตรการอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยการนำมาตรฐาน หลักเกณฑ์ และวิธีการทางวิชาการมากำหนด เพื่อมิให้เกิดปัญหาด้านสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม สุขลักษณะหรือก่อให้เกิดเหตุรำคาญ เช่น กำหนดวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการรักษาความสะอาด อาคารสถานที่ คอกสัตว์ ตัวสัตว์ การกำจัดมูลสัตว์และสิ่งปฏิกูลต่างๆ การบำบัดน้ำเสีย รวมทั้งการควบคุมโรคติดต่อ โดยการฉีดวัคซีน แล้วแต่กรณี หรือการนำสุนัขออกไปเลี้ยงนอกบ้านต้องล่ามโซ่ไปด้วย หรือกำหนดให้ผู้เลี้ยงสุกรตั้งแต่ ๒๐ ตัวขึ้นไป ต้องอยู่ห่างจากชุมชนไม่น้อยกว่า ๑๐๐ เมตร หรือมีแนวพื้นที่ว่างไม่น้อยกว่า ๕๐ เมตร จากโรงเลี้ยง และต้องจัดทำระบบกำจัดมูลสุกรอย่างน้อย ๑ ถัง
เมื่อราชการส่วนท้องถิ่นออกเป็นข้อกำหนดของท้องถิ่นแล้ว ก็จะมีผลบังคับให้ประชาชนในเขตพื้นที่นั้นๆ ต้องปฏิบัติตาม หากใครฝ่าฝืนจะมีโทษปรับไม่เกิน ๕,๐๐๐ บาท และในการกำหนดเขตควบคุมดังกล่าวจะต้องกำหนดขอบเขตให้ชัดเจน และต้องขึ้นอยู่กับปัญหา และต้องมีเหตุมีผล มีข้อเท็จจริงตามสภาพสิ่งแวดล้อมของชุมชนนั้นๆ หากไม่มีเหตุผล ประชาชนย่อมมีสิทธิฟ้องศาลปกครองให้เพิกถอนข้อกำหนดของท้องถิ่นนั้นได้
กฎหมายจึงเป็นเครื่องมือและเป็นหลักปฏิบัติของสังคม ที่จะทำให้ดำเนินไปได้อย่างมีระเบียบเกิดความเรียบร้อย และเป็นปกติสุข และยังเป็นแนวทางให้ชุมชนได้ปฏิบัติไปในทิศทางเดียวกัน กฎหมายจึงมีบทบาทสำคัญต่อการอยู่ร่วมกันไม่ว่าจะเป็นมนุษย์หรือสัตว์ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลและรับผิดชอบของมนุษย์ และถ้าไม่มีกฎหมายเข้ามาควบคุมดูแลสัตว์เลี้ยงเหล่านี้ ลองคิดดูว่าจะเกิดปัญหาอะไรตามมา
--------------------------------------------------------------------------------
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
ศรัชฌา กาญจนสิงห์ ศูนย์อนามัยที่ ๓ ชลบุรี
ประเภทของหน้า: บทความกฎหมาย