ชนเผ่ากะเหรี่ยง - การทอผ้า

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
02/12/2007
ที่มา: 
มูลนิธิกระจกเงา โครงการพิพิธภัณฑ์ชาวเขาออนไลน์ http://www.hilltribe.org

เรียนรู้การทอผ้าของกะเหรี่ยง


 

 

การกะขนาด
การทอผ้าของกะเหรี่ยงก่อนที่จะขึ้นเครื่องทอ จำเป็นจะต้องกำหนดวัตถุประสงค์ของการทอก่อนว่าจะทอเพื่อใช้ทำอะไร เช่น ทอย่าม ทอเสื้อ ทอผ้าถุง ฯลฯ และต้องกำหนดขนาดไปพร้อมกันด้วย ทั้งนี้เนื่องจากลักษณะของเครื่องนุ่งห่มของชนเผ่ากะเหรี่ยง เป็นการนำผ้าแต่ละชิ้นมาเย็บประกอบกันโดยไม่การตัด (ยกเว้นความยาว) ดังนั้นการทอผ้าแต่ละครั้งจึงต้องกะให้ได้ขนาดที่จะนำมาเย็บ แล้วสวมได้พอดีตัว กะเหรี่ยงไม่มีเครื่องมือที่ใช้เป็นมาตรฐานในการวัด จึงต้องใช้วิธีกะประมาณ โดยอาคัยความเคยชิน การกะขนาดของผ้าที่จะทอแต่ละครั้ง ผู้ทอจะยึดรูปร่างของตนเป็นมาตรฐานว่า เมื่อขึ้นเครื่องทอเพื่อทอเสื้อของตนต้องเรียงด้ายสูงประมาณเท่าไหร่ของไม้ ที่เสียบบน "แท แบร อะ" หรือไม้ขึ้นเครื่องทอ เช่นประมาณว่า "ครึ่งไม้" หรือ "ค่อนไม้" เป็นต้น ฉะนั้นเมื่อต้องทอให้ผู้อื่นจึงต้องเพิ่ม หรือลดขนาดของด้ายลง โดยอาศัยการเปรียบเทียบจากรูปร่างของผู้ทอดังกล่าว ปกติแล้วความกว้างของผ้าที่ทอได้มีขนาดเพียง 1 ใน 4 ของรอบอก ผู้สวมใส่ อย่างหลวม ๆ ถ้าทอผ้าห่มความกว้างอาจเท่ากับ 1/2 หรือ 1/3 ของความกว้างที่ต้องการก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการนำไปประกอบเป็นเครื่องนุ่งห่ม เช่น ผืนผ้าที่ทอจะเท่ากัน 4 เท่าของความยาวแท้จริงของเสื้อ หรือชุดยาวก็จะทอผ้าขนาดเดียวกัน คือ 2 ผืน โดยแต่ละผืนมีความยาว 2 เท่าของความยาวที่แท้จริง เป็นต้น เครื่องทอผ้าไม่มีหลักฐานที่แสดงว่าแต่เดิมรูปแบบของการทอผ้าของกะเหรี่ยง เป็นแบบใด แต่เท่าที่ปรากฏให้เห็นมาจนถึงปัจจุบันพบว่าเป็นแบบทอมัดเอว หรือห้างหลังเช่นเดียวกับการทอผ้าของละวะ และะลาหู่ ซึ่งลักษณะการทอผ้านี้คล้ายของชาวเปรูสมัยโบราณ ชนเผ่าแถบกัวเตมาลา ฟิลิปปินส์ และแมกซิโก ก็พบว่ามีการทอผ้าด้วยเครื่องทอแบบห้างหลังเช่นกัน

ส่วนประกอบของเครื่องทอผ้าห้างหลัง มีดังนี้
1. แผ่น หลังหรือผ้าหนา ๆ ส่วนมากจะใช้หนังสัตว์ เช่นหนังกวาง ฯลฯ ตัดเป็นแผ่นสี่เหลี่ยมผืนผ้ากว้างประมาณ 4-6 นิ้ว ยาวประมาณ 20 นิ้ว ปลายสองข้างเจาะรูร้อยเชือกสำหรับคล้องกับปลายไม้รั้งผ้าที่ทอให้ตึง โดยพันอ้อมกับเอวผู้ทอ ชาวกะเหรี่ยงเรียก "อย่า คู เพ่ย"
2. ไม้ สำหรับพันผ้า เป็นไม้จริงท่อนกลมเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1/2 นิ้ว ยาว 20-24 นิ้ว ผ่าครึ่งประกอบปลาย 2 ข้าง บากเป็นช่องสำหรับใช้คล้องเชือกจากแผ่นหนัง เป็นไม้อันแรกที่ใช้พันด้าย เมื่อเริ่มขึ้นเครื่องทอ และใช้สำหรับม้วนเก็บผ้าที่ทอแล้ว
3. ไม้ กระทบหรือหน่อทาแพะ เป็นไม้จริงหน้ากว้าง 4-5 นิ้ว ใช้สำหรับแยกด้ายยืนให้มีช่วงกว้างขึ้น เพื่อสะดวกในการสอดด้ายขวาง และใช้กระทบด้ายขวางให้แน่น
4. ไม้ช่วยแยกด้ายหรือลู่โข่ เป็นปล้องไม้ไผ่กลม ๆ เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 1/2 - 2 นิ้ว ยาวประมาณ 20 นิ้ว ใช้สำหรับแยกเส้นด้าย
5. ไม้ หน่อสะยา เป็นไม้ไผ่เหลาให้กลมเรียวเล็ก เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3/4 ยาวประมาณ 20-25 นิ้ว การทอผ้าครั้งหนึ่ง ๆ จะใช้ไม้หน่อสะยาอย่างน้อย 3 อัน ไม้หน่อสะยานี้ควรมีไว้หลาย ๆ อัน เพราะมีประโยชน์หลายอย่าง คือ
* ใช้สำหรับคล้องด้ายตะกอ เพื่อแบ่งเส้นด้ายยืน เวลาขึ้นเครื่องทอ เมื่อทอจะยกขึ้น สลับกับไม้ช่วยแยกด้าย
* ใช้เครื่องกำหนดแนว และจัดระเบียบเส้นด้ายยืนตะกอ
* ใช้กำหนดตะกอสำหรับการทอผ้าที่มีตะกอหลายชุด จำนวน ไม้หน่อสะยาที่ใช้ในการนี้ จะมีจำนวนเท่ากับตะกอการขึ้นเครื่องทอ

เครื่องทอผ้าในตำแหน่งที่พร้อมทอเป็นผืนผ้า

การขึ้นเครื่องทอ
เป็นการนำเส้นด้ายมาเรียงกันอย่างมีระเบียบตามแนวนอนขนานไปกับไม้ขึ้น เรียงลำดับไว้ ดังนี้ การเรียงด้ายจะใช้จำนวนคู่ เช่น 2 เส้น หรือ 4 เส้นครบก็ได้หากต้องการผ้าหนา เช่น ผ้าห่ม ก็ใช้ด้ายไปแยกที่ตะกอเป็น 2 ส่วน ๆ ละ 2เส้น หากเป็นเส้นด้ายพื้นเมืองปั่นเอง ปกตินิยมใช้ด้ายยืนเพียงเส้นเดียว เวลาเรียงใช้ 2 เส้นควบ หากเป็นด้ายสำเร็จรูป จะใช้ด้ายยืน 2 เส้นเวลาเรียงใช้ 4 เส้นควบ จำนวนด้ายอาจเพิ่มมากขึ้น ในกรณีที่เป็นการทอผ้าลายนูนตามแนวยาว เช่น การทอเสื้อของผู้ชายสูงอายุของกะเหรี่ยงสะกอจะใช้ด้ายยืนปกติ คือ 1 เส้น เวลาเรียงใช้ 2 เส้นควบ เมื่อถึงเวลาจะเพิ่มด้ายยืนเป็น 2 หรือ 3 เส้น ฉะนั้นเวลาเรียงด้ายต้องใช้ 4 หรือ 6 เส้นควบ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับลวดลายที่ต้องการ

การเรียงด้าย มีขั้นตอนดังนี้
1. คล้องด้ายที่หลักที่ 1 และสาวด้ายทั้งหมดผ่านหลักที่ 2, 3, 4 และ 5 นำไปคล้องหลักที่ 6 และสาวกลับมาคล้องหลักที่ 1
2. ดึงด้ายทั้งหมดให้ตึงเสมอกันและนำมาพันรอบหลักที่ 2 ตามแนวเข็มนาฬิกา
3. ดึงด้ายทั้งหมดให้ตึงเสมอกันมาทางด้านหน้าหลักที่ 3 ซึ่งเป็นจุดแยกได้ โดยใช้ด้ายอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเป็นด้ายตะกอสอดเข้าไประหว่างด้ายที่แยกเป็น 2 ส่วนเท่า ๆ กัน ด้ายส่วนที่ไม่ได้คล้องกับตะกอแยกผ่านด้านหลังหลักที่ 4 และส่วนที่คล้อง ตะกอดึงผ่านด้านหน้าหลักที่ 4
4. รวบด้ายทั้งสองส่วนเข้าด้วยกัน ดึงให้ตึงสาวพันอ้อมหลักที่ 5 ตามแนวเข็มนาฬิกา
5. ดึง ด้ายทั้งหมดให้ตึงพันอ้อมหลักที่ 6 และสาวให้ตึง ดึงกลับมาเริ่มต้นที่หลักที่ 1 ใหม่หากต้องการสลับสี ก็เปลี่ยนด้ายกลุ่มใหม่เป็นสีที่ต้องการ โดยเริ่มตั้งแต่หลักที่หนึ่งเช่นกัน ทำหมุนเวียนไปเช่นนี้เรื่อย ๆ จนด้ายที่เรียงมีความสูงเท่ากับความกว้างของผ้าทีต้องการใช้
6. ถอดไม้ทั้งหมดออกจากไม้ขึ้นเครื่องทอ และนำไม้หน่อสะยาสอดเข้าไป เก็บตะกอแทนไม้กลูโข่ (หลักที่ 6) ซึ่งต้องใช้สำหรับช่วยแยกด้ายเวลาทอ เมื่อเสร็จเรียบร้อยแล้วทอจะมีลักษณะดังภาพ จากนั้นนำเครื่องทอทางด้านไม้รั้งผ้าไปผูกยึดกับฝา หรือเสาระเบียงบ้าน โดยให้ได้ระดับความสูงประมาณศรีษะของผู้ทอขณะที่นั่งราบกับพื้น ส่วนทางด้านไม้พันผ้า นำแผ่นหนังมาอ้อมรอบเอวด้านหลังของผู้ทอ และผูกรั้งหัวท้ายกับปลายทั้งสองของไม้พันผ้า พร้อมกับดึงเครื่องทอให้ตึงพอประมาณ โดยผู้ทอกระเถิบถอยหลังนั่งในตำแหน่งที่เหมาะสม

การเรียงด้าย(แทเบรอะ)

การกรอด้ายขวาง

ด้ายขวาง คือ ด้ายที่สอดเข้าไประหว่างด้ายยืนปกติแล้ว การทอผ้าของคนพื้นราบจะกรอใส่หลอดด้าย และติดกระสวย นำสอดผ่านเข้าไประหว่างด้ายยืน แต่การทอของกะเหรี่ยงไม่มีกระสวย จึงต้องใช้ด้ายพันไม้ขนาดยาวประมาณ 1 ฟุต เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 เซนติเมตร โดยมือซ้ายจับปลายไม้ด้านหนึ่งวางทาบกับหน้าขาขวา ใช้มือขวาปั่นฝ้ายเข้าหาตัวโดยให้ด้ายผ่านเข้ามาระหว่างนิ้วชี้กับนิ้วกลาง ของมือซ้าย ทำเช่นนี้จนด้ายในไม้มีมากพอควรแล้ว จึงกรอใส่ไม้อันใหม่ วิธีกรอด้ายแบบนี้กะเหรี่ยงเรียกว่า " ทูลื่อ"


การทอผ้าของกะเหรี่ยง มี 2 ชนิด
1. การทอธรรมดาหรือทอลายขัด

คือการสอดด้ายขวางเข้าไประหว่างด้ายยืน ซึ่งแยกสลับกันขึ้น 1 ลง 1 หรือขึ้น 2 ลง 2 ตามจำนวนเส้นด้ายที่เรียงเมื่อขึ้นเครื่องทอ ผ้าที่ได้เนื้อผ้าจะเรียบ สมํ่าเสมอ และเป็นสีเดียวกันตลอดผืน ใช้สำหรับเย็บชุดเด็กหญิงกะเหรี่ยงสะกอ และเย็บกางเกงผู้ชายเท่านั้น โดยปกติด้ายยืน และด้ายขวางที่ใช้ในการทอแบบธรรมดาจะมีจำนวนเท่ากัน ยกเว้นกรณีที่ใช้ด้ายต่างชนิดกัน เช่น ด้ายยืนเป็นด้ายสำเร็จรูปซึ่งเส้นเล็ก และด้ายขวางพื้นเมือง มีขนาดเส้นใหญ่ ต้องใช้ด้านยืนจำนวนมากกว่าด้ายขวาง

2. การทอเป็นลวดลาย
ผ้า ที่กะเหรี่ยงทอใช้ส่วนใหญ่จะมีลวดลายประกอบ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการใช้ ประโยชน์และความนิยม เช่น ชุดหญิงสาวสะกอจะมีลายขวางบริเวณเหนืออก ผ้าถุงของหญิงแต่งงานแล้วจะทอลวดลายบริเวณไหล่อย่างสวยงาม เป็นต้น การทอเป็นลวดลายจะเป็นที่นิยมในกลุ่มผู้หญิงโปมากกว่าผู้หญิงสะกอ

การประดิษฐ์ลวดลายในผืนผ้าขณะทอ มีขั้นตอนดังนี้
ลายในเนื้อผ้า

ลักษณะลวดลายจะปรากฏ เป็นเส้นนูนตามแนวตั้ง หรือแนวนอนก็ได้ หากเป็นลายนูนตามแนวตั้ง การกำหนดลายจะทำพร้อมกับการเรียงด้าย คือใช้จำนวนด้ายเพิ่มขึ้นกว่าปกติมนที่ที่ต้องการให้เป็นลายนูน ส่วนด้ายขวางใช้จำนวนเท่าปกติ การทอวิธีนี้นิยมใช้ทอเสื้อผู้ชายสูงอายุของเผ่ากะเหรี่ยง

ลวดลายสลับสี

เป็นการทอแบบธรรมดา คือใช้ด้ายยืนและด้ายขวางจำนวนเท่าปกติ แต่แทรกด้ายสีต่าง ๆ สลับเข้าไป ขณะเรียงด้ายยืนหรือเมื่อสอดด้ายขวาง เช่น การทอผ้าห่ม ย่าม และผ้าถุงของหญิงที่แต่งงานแล้ว (ลวดลายผ้าถุงในบางท้องถิ่นจะมีลักษณะพิเศษกว่าการทอลายสลับสีธรรมดาคือจะใช้ด้ายย้อมมัดหมี่ หรือย้อมแบบลายนํ้าไหลเป็นด้ายยืน ลวดลายที่ปรากฏบนเนื้อผ้ามีลักษณะงดงามมากซึ่งจะกล่าวในรายละเอียดต่อไป) บางครั้งกะเหรี่ยงจะทอลวดลาย สลับสีเป็นลายนูนในเนื้อผ้า เช่น บริเวณเหนืออกของชุดเด็กหญิงกะเหรี่ยงสะกอ

ลายจก
เป็นการทอลวดลายโดยการสอดด้ายสลับ (ซึ่งไม่ใช่ด้ายเส้นเดียวกับด้ายขวางเข้าไปเป็นบางส่วนในเนื้อผ้าตามลวดลาย และสีในตำแหน่งที่ต้องการ การยกด้ายยืนจะไม่เป็นไปตามการยกตะกอ แต่ผู้ทอจะใช้นิ้วมือ หรือขนเม่นช่วยสอดยกด้ายขึ้นตามจำนวนที่กะไว้ และสอดด้ายสีที่ต้องการเข้าไป ระหว่างด้ายยืนนั้น ฉะนั้นลวดลายที่ปรากฏบนผืนผ้าทั้งผืนอาจไม่เหมือนกันก็ได้

ลายขิด

คือการทอผ้าโดยให้ลวดลายที่ปรากฏเหมือนกันทั้งผืน ลักษณะลายแบบยกดอกในตัวโดยกำหนดสีตามด้ายยืน การแยกด้ายยืนใช้วิธีนับเส้นเป็นช่างๆ และสอดไม้หน่อสะยาเข้าไปเป็นตัวนำไม้จะช่วยแยกด้าย ให้ช่องระหว่างด้ายยืนกว้างเพื่อความสะดวกในการสอดด้ายขวาง กะเหรี่ยงสะกอนิยมทอผ้าลายขิดเพื่อเย็บเป็นผ้าถุงสำหรับหญิงที่แต่งงานแล้ว ผ้าทอลายขิดของกะเหรี่ยงมีลักษณะคล้ายของชาวอีสานแต่ลวดลายสลับซับซ้อนน้อยกว่า และของอีสานไม่นิยมทอลายขิดพร้อมกับการสลับสี แต่ของกะเหรี่ยงนิยมทอลายขิดและเล่นลายสลับสี ดังนั้นในผ้าผืนเดียวจึงมีทั้งลวดลายยกดอกนูนขึ้นมาของลายขิดและลายเล่นสีสลับกัน

การทอสลับสีสายจก เสื้อลายขิด ผ้าถุงลายมัดหมี่ เสื้อลายปักลูกเดือย

การทอลวดลายโดยแทรกวัสดุ
ทอประกอบลูกเดือย

ปกติการปักลูกเดือยประดับชายเสื้อผู้หญิง จะใช้วิธีปักหลังจากเย็บผ้าประกอบเข้าไปพร้อมกันในขณะทอผ้า โดยร้อยลูกเดือยเข้ากับเส้นด้ายขวางระหว่างด้ายยืน โดยให้ลูกเดือยลอยตัวอยู่บนผืนผ้า เมื่อประกอบเป็นลวดลายแล้วจึงปักทับด้าย สลับสีลงในช่องระหว่างลูกเดือยเหล่านั้น เป็นการทำลวดลายบนผืนผ้าให้สวยงามหลังจากเย็บเป็นเครื่องนุ่งห่มแล้ว ส่วนใหญ่กะเหรี่ยงสะกอจะนิยมปักประดิษฐ์ลวดลายบนเสื้อผู้หญิงแม่เรือน ลักษณะการประดับประดาจะใช้ด้ายหลากสีปักสลับลูกเดือน ซึ่งเป็นพืชที่กะเหรี่ยง ต้องปลูกไว้เพื่อใช้ในกิจกรรมนี้โดยเฉพาะ ส่วนผู้หญิงกะเหรี่ยงโปมักตกแต่งลวดลาย โดยการทอมากกว่าปักภายหลัง และไม่นิยมตกแต่งด้วยลูกเดือย สีลูกเดือยที่ใช้ ได้แก่ สีดำ แดง เหลือง และขาว โดยจะใช้ทุกสีและให้นํ้าหนักกับสีดำ และสีแดง ส่วนสีเหลืองและสีขาวเป็นสีตกแต่ง สีประกอบ ได้แก่ สีชมพู น้ำเงิน ส้ม เขียว เป็นกลุ่มสีที่นำมาใช้ภายหลัง และนิยมใช้กันมากขึ้นส่วนใหญ่มักซื้อที่ย้อมเสร็จแล้วมาใช้ โดยให้เหตุผลว่าสีสวยและไม่ตก

ตัวอย่างการปักลายลูกเดือยในแต่ละรูปแบบของกะเหรี่ยงสะกอ จ. เชียงราย

พะโดกิ (ลายงูเหลือม) ทีลูคะ (ลายบอกนํ้าเต้า) ลอเมอเจอะ (ลายต่อลูกเดือย) สิพอ (ลายตัวบุ้ง)
การวางลาย
ลักษณะการวางลายเสื้อผู้หญิง สะกอจะปักตกแต่งบริเวณชายเสื้อ ด้านล่างการผสมผสานลาย มักใช้ลายลูกเดือยเป็นแนวกำหนดก่อน เพื่อให้ได้ช่องว่างที่จะเป็นแนวปักลวดลายชัดขึ้นจากนั้นจึงปักลงไป

การตัดเย็บ
การตัดเย็บตามปกติแล้ว ผ้าจะเป็นผ้าหน้าแคบ จำกัดตามขนาดเครื่องทอ คือ กว้างที่สุดไม่เกิน 20 นิ้ว ส่วนความยาวขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของผู้ทอ ดังนั้นการตัดเย็บเครื่องนุ่งห่มของกะเหรี่ยงจึงเป็นการนำผ้าทั้งผืนมาเย็บ ประกอบกัน โดยพยายามตัดให้น้อยที่สุด เนื่องจากในอดีตกะเหรี่ยงไม่มีกรรไกรใช้ ผ้าที่ทอแต่ละชิ้นเมื่อนำมาประกอบกันเป็นเครื่องนุ่งหม่แล้ว จะไม่มีเศษเหลือทิ้ง การแบ่งผ้าจึงทำโดยใช้มีดคม ๆ กรีดตามแนวขวางของผืนผ้าเท่านั้น ด้วยเหตุนี้รูปทรงของเสื้อผ้ากะเหรี่ยงจึงไม่มีส่วนโค้งเว้า เพราะเป็นการยากที่จะใช้มีดกรีดผ้าให้ได้ลักษณะเช่นนั้น สิ่งสำคัญในการนำผ้ามาประกอบกัน คือ ต้องเป็นผ้าที่ทอขึ้นสำหรับเครื่องนุ่งห่มตัว หรือผ้าผืนนั้น โดยเฉพาะจะนำไปประกอบกับส่วนของตัวหรือผืนอื่นไม่ได้ เช่น ผ้าที่ทอเพื่อเย็บเป็นเสื้อผู้ชายจะนำมาเย็บเป็นย่าม หรือผ้าห่มไม่ได้ และผ้าที่ทอสำหรับเย็บย่ามก็ไม่สามารถนำมาเย็บเป็นเสื้อ หรือผ้าห่มได้เช่นเดียวกัน ทั้งนี้เนื่องจากได้กำหนดลวดลายสี และขนาดไว้อย่างแน่นอนแล้ว ก่อนที่จะทอผ้าแต่ละผืนนั่นเอง