วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
28/10/2008
ที่มา: 
สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ http://art-culture.chiangmai.ac.th/

บทความ นาฏดุริยการล้านนา วันอังคารที่  8 พฤศจิกายน 2548 - เจิง

 

 

เจิง  คือชั้นเชิง ซึ่งหมายถึง ศิลปะการต่อสู้ของล้านนาที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นเป็นแบบอย่าง และรวบรวมจากประสบการณ์ แตกแขนงกลยุทธโดยพิสดารออกไป แล้วถ่ายทอดศิลปะดังกล่าวสืบต่อกันมา จนกลายเป็นเอกลักษณ์ของชุมชนนั้น ๆ อย่างต่อเนื่อง

ชุมชนล้านนาในอดีต เป็นชุมชนใหญ่มีอาณาเขตกว้างขวางถึงขึ้นเป็นอาณาจักร การต่อสู้เพื่อรวบรวมหัวเมืองเข้าเป็นอาณาจักรย่อมมีความสำคัญอย่างยิ่ง การฝึกปรือฝีมือของทะแกล้วทหารกล้า ต้องมีอยู่ประจำและถึงแม้จะออกมาในรูปแบบของการแสดงไปแล้ว แต่ก็ยังคงรูปแบบความมีเอกลักษณ์อยู่อย่างชัดเจน

ร่องรอยในอดีตที่ปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษรในเอกสารโบราณ เรายังมีข้อมูลจำนวนจำกัด เพราะยังไม่ได้มีการศึกษาเชิงวิชาการอย่างจริงจัง อย่างไรก็ตาม ชื่อท่ารำอาวุธของล้านนาก็มีตัวอย่างให้เห็น ดังปรากฏในคัมภีร์ใบลานซึ่งจารด้วยอักษรล้านนา เรื่องมหาชาติฉบับ “อินทร์ลงเหลา” กัณฑ์มหาราช ตอนที่พระเจ้าสัญชัยสั่งเสนาให้เตรียมทหารกองเกียรติยศ ไปรับพระเวสสันดรที่ไปบวชเป็นฤาษี ณ เขาวงกต ความตอนหนึ่งกล่าวถึงท่ารำอาวุธของล้านนาว่า

“ฝูง เชิงกินออกดูไวแว่น ครุบคราบตะริงทะราย ชะเลยดายเจิ้งจ้าน แม่สี่ด้านเลยไป เชิงชายไวถ้วนแถบ เชิงหอกอันนึ่งชื่อว่าแม่ หมัดนอนแกลบก้องกองวาง เสือลากหางเหินหอก ช้างงาทอกตวงเต็ก กำแพงเพ็กดินแตก พาดพกแวดไวเวียน อินทร์ทือเทียนถ่อมถ้า เกินก่ายฟ้าสวักพระญาอินทร์ ชิดชินเกี้ยวเกล้าเชิงถี่ ช้องนางควี่เกล้าพ้น ฝนแสนห่า ฟ้าผ่าเวียงหิน ปีนเมกเข้า ไก่เลียบแล้วคุมเวียง สะเมียงตาบ่ทันพรับ นับถริตาย พระญาลืมงาย- เหล้นดาบ ยักษ์สาบฅนดิบ สามสิบรุมบ่ท่าว ง่าวร้าย เทเรือน เบินสามท่า ผ่าพลแสน แขวนอากาศ น้ำน้อยขาดสายตา หงส์เสด็จลีลาแอ่นฟ้อน ซ้อนฅอนาง เสือลากหางเหลียวเหล่า…”

และมีตำราฟ้อนเชิงฟ้อนดาบที่เขียนลงในพับสา มีผังการเดินของเท้า ที่เรียกว่า ขุม ตัวอย่างเช่น 8 ขุม 9 ขุม และ 17 ขุม เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีลาย

ฟ้อน เช่น คุมหน้า วาดบน ช้างงาแบน พาดพก แทงบน ฯลฯ คัมภีร์ดังกล่าวเขียนด้วยอักษรล้านนาพบที่วัดป่าบง อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย ปัจจุบันแม้จะหมดสมัยการต่อสู้ด้วยอาวุธโบราณไปแล้วก็ตาม กระนั้นก็ยังมีร่องรอยหลงเหลืออยู่ หากแต่ปรับเปลี่ยนมาเป็นรูปแบบของการแสดง เช่น ฟ้อนดาบ ฟ้อนเจิง รวมไปถึงการตีฆ้อง กลองประกอบการฟ้อน เช่น กลองสะบัดชัย มองเชิง อุเจ่ สิ่งเหล่านี้ยังมีการถ่ายทอดสืบต่อกันอยู่มิได้สูญหายไปแต่อย่างใด

    สนั่น   ธรรมธิ สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
(ภาพประกอบโดยจรัสพันธ์  ตันตระกูล และเสาวณีย์  คำวงค์)

ขอบคุณข้อมูลจาก  สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่