การละเล่นพื้นบ้านภาคตะวันออกเฉียงเหนือ - การเล่นงูกินหาง

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
13/12/2008
ที่มา: 
ประเพณีไทยดอทคอม http://www.prapayneethai.com/

การเล่นงูกินหาง

ภาค     ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
จังหวัด  ร้อยเอ็ด

อุปกรณ์ และวิธีเล่น การเล่นงูกินหางไม่มีอุปกรณ์การเล่นใด ๆ สามารถเล่นได้ทุกโอกาสจะมีเล่นทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ส่วนมากผู้ใหญ่จะเล่นในเทศกาลสำคัญ เช่น สงกรานต์ ส่วนเด็ก ๆ จะเล่นทุกโอกาสที่เด็ก ๆ รวมกันซึ่งมีวิธีการเล่นดังนี้ เริ่มเล่นเมื่อผู้เล่นพร้อมกันแล้วจะเริ่มด้วยการเสี่ยงถ้าใครแพ้คนนั้น ก็จะออกเป็นพ่องู ส่วนผู้ชนะก็จะได้เล่นเป็นแม่งูและลูกงู ู ส่วนมากในกลุ่มผู้เล่นจะเลือกเอาคนที่มีร่างกายแข็งแรงหรือรูปร่างใหญ่ในทีม เป็นแม่งู เพื่อเอาไว้ป้องกันลูกงู เมื่อได้ผู้เล่นแล้วพ่องูและแม่งูจะยืนหันหน้าเข้าหากัน ส่วนแม่งูจะมีลูกงูกอดเอวต่อแถวไปข้างหลังแล้วพ่องูจะเริ่มถามแม่งูว่า

พ่องู "แม่งูเอ๋ยกินน้ำบ่อไหน"
แม่งู "กินน้ำบ่อโสกโยกไปโยกมา" พร้อมแสดงอาการส่ายตัวไปมา
พ่องู "แม่งูเอ๋ยกินน้ำบ่อไหน"
แม่งู "กินน้ำบ่อหินบินไปบินมา" พร้อมแสดงอาการบินไปบินมา
พ่องู "แม่งูเอ๋ยกินน้ำบ่อไหน"
แม่งู "กินน้ำบ่อทรายย้ายไปย้ายมา" พร้อมแสดงอาการส่ายตัวไปมา
พ่องู "กินหัวกินหางกินกลางตลอดตัว"
เมื่อพ่องูกล่าวเสร็จพ่องูจะเริ่มไล่จับลูกงูที่กอดเอวแม่งูอยู่ส่วนแม่งูก็ จะพยายามป้องกันไม่ให้พ่องูไปแย่งลูกงูได้ เมื่อพ่องูจับลูกงูคนใดได้ลูกงูก็จะออกมายืนอยู่ต่างหากเพื่อรอเล่นรอบต่อไป ส่วนพ่องูจะพยายามแย่งลูกงูให้ได้หมดทุกตัวจึงจะถือว่าจบการเล่นรอบหนึ่ง เมื่อพ่องูจับลูกงูได้ทุกตัวแล้วก็จะเริ่มเล่นใหม่ โดยพ่องูคนเดิมจะกลับไปเป็นแม่งูในรอบต่อไป

  • คุณค่า/แนวคิด/สาระ

๑. ให้ความสนุกสนานในกลุ่มผู้เล่น
๒. ฝึกให้เกิดความสามัคคีในกลุ่มผู้เล่น
๓. ฝึกฝนการต่อสู้และการหลบหลีกภัยที่จะเกิดกับตน
๔. ฝึกการทำงานเป็นกลุ่มตั้งแต่วัยเด็ก
๕. ได้ออกกำลังกาย ทำให้ร่างกายแข็งแรง