ความเชื่อภาคเหนือ - เจ้าแม่นางแก้ว

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
22/12/2008
ที่มา: 
ประเพณีไทยดอทคอม http://www.prapayneethai.com/

เจ้าแม่นางแก้ว

ภาค     ภาคเหนือ
จังหวัด  เชียงราย

  • ลักษณะความเชื่อ

ความเชื่อในเจ้าแม่นางแก้วเป็นความเชื่อในเรื่องผี อันเป็นความเชื่อดั้งเดิมของชาวล้านนาที่มีมาก่อนเป็นชาวพุทธ และยังคงมีอยู่จนถึงปัจจุบัน เจ้าแม่นางแก้วจัดเป็นผีประเภทอารักษ์ ซึ่งมีบทบาทหน้าที่ด้านคุ้มครอง ปกปักรักษา และอำนวยโชค สถานที่สิงสถิตของเจ้าแม่นางแก้วคือบริเวณเขตต่อแดนระหว่างตำบลแม่เจดีย์ ใหม่ กิ่งอำเภอแม่เจดีย์ จังหวัดเชียงราย กับ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ห่างจากบ้านแม่ขะจานกิ่งอำเภอแม่เจดีย์ ๒๔ กิโลเมตร และห่างจากอำเภอดอยสะเก็ด ๓๘ กิโลเมตร บริเวณนี้อยู่ระหว่างยอดเขาสูงสองลูก คือ ดอยขุนลาวทางเหนือกับดอยแม่โถทางใต้ ยอดเขาทั้งสองนั้นสูงกว่าระดับน้ำทะเลมากกว่า๑,๕๐๐ เมตร ในขณะที่ดอยนางแก้วสูงประมาณ ๙๗๐ เมตร จึงเป็นช่องทางที่สะดวกแก่การสร้างทางเชื่อมระหว่างสองจังหวัดมาตั้งแต่อดีต ซึ่งเป็นทางเดินเท้าและทางวัวต่างม้าต่างมานานก่อนจะมีถนน

  • ความสำคัญ

ความเชื่อในความศักดิ์สิทธิ์ของเจ้าแม่นางแก้ว เป็นความเชื่อที่มิได้ส่งเสริมให้บุคคลมีจิตใจโน้มเอียงไปในทางลบ กลับส่งเสริมให้มีการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดังจะเห็นได้จากการบวชต้นไม้ในอาณาบริเวณใกล้เคียงศาลเจ้าแม่ และจากพฤติกรรมการขับขี่ยานพาหนะของผู้สัญจรไปมาเมื่อผ่านบริเวณศาลเจ้าแม่ คือจะขับขี่ด้วยความระมัดระวัง และการส่งสัญญาณแตรเพื่อแสดงความเคารพและเพื่อเตือนรถคันอื่นๆเนื่องจากถนน ช่วงนั้นเป็นทางโค้งขึ้นและลงเนิน

  • พิธีกรรม

การแสดงความเคารพเจ้าแม่นางแก้วตามความเชื่อ อย่างง่ายที่สุด คือการส่งสัญญาณแตรขณะขับขี่ยวดยานผ่านไปมา ที่เป็นพิธีรีตองมากกว่าได้แก่การแวะกราบไหว้อธิษฐานการแวะถวายของเพื่อแก้ บน หรือเพื่อสักการะ พิธีกรรมที่จัดทำเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดเป็น พิธีเลี้ยงเจ้าแม่ของกลุ่มเดินรถสองแถวเวียงกาหลง ซึ่งมีจำนวนถึง ๓๕ คัน การเลี้ยงเจ้าแม่นางแก้วกระทำในวันเพ็ญเดือนเก้าเหนือ (ก่อนเข้าพรรษาหนึ่งเดือน)กระทำโดยการถวายหัวหมู ไก่ เหล้าขาว ของคาวหวานอื่นๆ และดอกไม้ธูปเทียน ในตอนเช้า หลังจากพิธีถวายของเสร็จสิ้น ผู้ร่วมพิธีจะให้เวลาเจ้าแม่รับเครื่องเซ่นไหว้นานพอสมควร จึงจะนำของถวายมารับประทานร่วมกันเป็นเสร็จพิธี